“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“จงรับเถิด นี่เป็นกายของเรา นี่เป็นโลหิตของเรา โลหิตแห่งพันธสัญญา”
74. พระเยซูเจ้าทรงตั้งศีลมหาสนิท (มก 14:22-26)
        1422ขณะที่ทุกคนกำลังกินอาหารอยู่นั้น พระองค์ทรงหยิบขนมปัง ตรัสถวายพระพร ทรงบิขนมปัง ประทานให้เขาเหล่านั้น ตรัสว่า “จงรับเถิด นี่เป็นกายของเรา” 23แล้วพระองค์ทรงหยิบถ้วย ตรัสขอบพระคุณ ประทานให้เขาและทุกคนดื่มจากถ้วยนั้น 24พระองค์ตรัสกับเขาว่า “นี่เป็นโลหิตของเรา โลหิตแห่งพันธสัญญาที่หลั่งออกเพื่อคนจำนวนมาก 25เราบอกความจริงกับท่านทั้งหลายว่า เราจะไม่ดื่มน้ำจากผลองุ่นใด จนกว่าจะถึงวันที่เราจะดื่มเหล้าองุ่นใหม่ในพระอาณาจักรของพระเจ้า” 26เมื่อขับร้องเพลงสดุดีแล้ว ทุกคนออกจากห้องเพื่อไปยังภูเขามะกอกเทศ


          ฉากนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเย็นวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์ หลังจากที่พระเยซูเจ้าทรงทำนายถึงการทรยศของยูดาสแล้ว (เทียบ 14:18-21) พระองค์ทรงรับประทานอาหารต่อไป โดยเปลี่ยนลำดับใหม่ของพิธีกรรมที่คุ้นเคยในการรับประทานอาหารเย็นฉลองวันปัสกา ผู้นิพนธ์พระวรสารทั้ง 4 ฉบับ และจดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวโครินธ์ ฉบับที่ 1 (11:23-25) ได้สังเกตลำดับใหม่ของการรับประทานอาหาร จึงจดจำแม้กระทั่งอากัปกริยาเล็กน้อยของพระองค์ ซึ่งแสดงว่าพระเยซูเจ้าทรงมีพระประสงค์จะทำพิธีพิเศษที่สำคัญมาก ถึงแม้ว่าพระวรสารแต่ละฉบับมีการเขียนในลักษณะแตกต่างกันบ้าง แต่ข้อความทุกบทก็มีจุดประสงค์เดียวกันคือ ต้องการดึงดูดความสนใจในถ้อยคำที่อธิบายการกระทำของพระองค์ ผู้อ่านจึงเข้าใจสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำในการรับประทานอาหารค่ำวันปัสกา

- ขณะที่ทุกคนกำลังกินอาหารอยู่นั้น นี่เป็นวลีเดียวกันที่นักบุญมาระโกเคยใช้ในข้อที่ 18 เมื่อเขาเริ่มบรรยายอาหารค่ำมื้อสุดท้ายของพระเยซูเจ้า ดูเหมือนนักบุญมาระโกลืมไปว่าเคยบรรยายเหตุการณ์นี้แล้ว นั่นแสดงว่าเขาไม่มีเจตนาที่จะบรรยายอาหารค่ำของพระเยซูเจ้าอย่างละเอียด แต่เขาต้องการเล่าเพียงเหตุการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นคือการตั้งศีลมหาสนิท โดยแท้จริงแล้ว อากัปกริยาของพระเยซูเจ้าที่จะเล่าต่อไปชวนให้นึกถึงพิธีโบราณของชาวยิวเมื่อรับประทานอาหารเย็นวันฉลองปัสกา ซึ่งนักบุญมาระโกเสนอบริบทอาหารค่ำมื้อสุดท้ายของพระเยซูเจ้า

           พิธีโบราณในการรับประทานอาหารเย็นวันฉลองปัสกาดำเนินไปโดยมีขั้นตอนดังนี้ เริ่มต้นด้วยการเทเหล้าองุ่นลงในถ้วยใบแรก เพื่อประกาศพระสิริรุ่งโรจน์และการขอบพระคุณพระเจ้า แล้วกินผักโขมและสมุนไพรพร้อมกับขนมปังไร้เชื้อเป็นอาหารจานด่วน ต่อจากนั้น ดื่มเหล้าองุ่นเป็นถ้วยที่สองพร้อมกับอธิบายความแตกต่างระหว่างอาหารเย็นมื้อนั้นกับอาหารมื้ออื่น ๆ แล้วขับร้องภาคแรกของชุดเพลงสดุดีที่มีชื่อว่า “ฮัลเลล” (สดด 113-115) ต่อด้วยส่วนกลางของมื้ออาหาร ซึ่งเริ่มด้วยการบิขนมปังและการประกาศสูตรถวายพระพร ทันทีก็ต่อด้วยการดื่มเหล้าองุ่นเป็นถ้วยที่สามพร้อมกับอธิฐานภาวนาขอบพระคุณสำหรับอาหารที่ได้กิน จบลงด้วยการดื่มถ้วยเหล้าองุ่นเป็นถ้วยที่สี่ และขับร้องภาคที่สองของชุดเพลงสดุดี “ฮัลเลล” (สดด 116-118)

- พระองค์ทรงหยิบขนมปัง ตรัสถวายพระพร ทรงบิขนมปัง อากัปกริยานี้ของพระเยซูเจ้าเหมือนอากัปกริยาของหัวหน้าครอบครัวที่เริ่มพิธีรับประทานอาหารเย็นวันปัสกา หยิบขนมปัง ใช้สูตรสรรเสริญพระเจ้าซึ่งชาวยิวใจศรัทธาทุกคนเคยสวดก่อนรับประทานอาหารในทุกมื้อ แล้วบิออกและแจกจ่ายแก่ผู้ร่วมโต๊ะ

- ประทานให้เขาเหล่านั้น ต่างจากเหตุการณ์เมื่อพระเยซูเจ้าทรงทวีขนมปัง (เทียบ 6:41; 8:6) ในที่นี้ พระเยซูเจ้าเองทรงแจกจ่ายขนมปังแก่ทุกคนที่อยู่ที่นั่น

- ตรัสว่า “จงรับเถิด นี่เป็นกายของเรา” เราพบประโยคที่ว่า “นี่เป็นกายของเรา” ในพระวรสารทั้งสี่ฉบับ และในจดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวโครินธ์ ฉบับที่ 1 แต่จดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวโครินธ์ ฉบับที่ 1 เสริมเพิ่มเติมว่า “เพื่อท่านทั้งหลาย” (1 คร 11:24) ส่วนพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกาเสริมว่า “ที่ถูกมอบเพื่อท่านทั้งหลาย จงทำดังนี้เพื่อระลึกถึงเราเถิด” (ลก 22:19) พระวาจาและปังไม่เพียงมีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้นเท่านั้น แต่ในพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น พระเยซูเจ้าตรัสว่า พระวาจากลายเป็นปัง “เราเป็นปังแห่งชีวิตที่ลงมาจากสวรรค์ ใครที่กินปังนี้จะมีชีวิตอยู่ตลอดไป และปังที่จะให้นี้คือเนื้อของเรา เพื่อให้โลกมีชีวิต” (ยน 6:41) ยิ่งกว่านั้น “กาย” ในภาษาอาราเมอิกที่พระเยซูเจ้าทรงใช้ยังหมายถึงบุคคลทั้งครบในแง่ที่สามารถมอบตนเองแก่ผู้อื่น คำนี้จึงเสนอความคิดที่ว่า พระเยซูเจ้าทรงมอบพระองค์เองเป็นเครื่องบูชาถวายแด่พระเจ้าแทนมนุษย์ทั้งหลาย ความคิดนี้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นในข้อความของนักบุญมัทธิวที่ว่า “จงรับไปกินเถิด” (มธ 26:26)

          ในศาสนาโบราณการกินเครื่องบูชาเป็นการกระทำเพื่อแสดงว่า ผู้มีความเชื่อมารับพระพรแห่งความรอดพ้นที่ผูกพันกับเครื่องบูชาถวายแด่เทพเจ้า ดังนั้น การที่บรรดาศิษย์ของพระเยซูเจ้ามีส่วนร่วมในการรับประทานอาหารค่ำกับพระเยซูเจ้า ก็มีประสบการณ์ร่วมเครื่องบูชาที่พระองค์ทรงถวายแด่พระเจ้า โดยการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน คริสตชนสมัยแรก ๆ มั่นใจว่า พระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ ประทับอยู่และทรงกระทำอย่างแท้จริง เมื่อทรงพบกับชุมชนที่รับปังและดื่มโลหิตจากศีลมหาสนิท

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก