“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“ท่านถกเถียงกันเรื่องอะไรขณะที่เดินทาง ”

47.ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด(มก 9:33-37)
(b) ประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
933พระเยซูเจ้าเสด็จมาถึงเมืองคาเปอรนาอุมพร้อมกับบรรดาศิษย์เมื่อเสด็จเข้าไปในบ้านพระองค์ตรัสถามเขาว่า “ท่านถกเถียงกันเรื่องอะไรขณะที่เดินทาง” 34เขาก็นิ่งเพราะระหว่างทางเขาถกเถียงกันว่าผู้ใดยิ่งใหญ่กว่ากัน35พระองค์จึงประทับนั่งแล้วทรงเรียกอัครสาวกสิบสองคนเข้ามาตรัสว่า “ถ้าผู้ใดอยากเป็นคนที่หนึ่งก็ให้ผู้นั้นทำตนเป็นคนสุดท้ายและเป็นผู้รับใช้ของทุกคน”

36ครั้นแล้วพระองค์ทรงจูงเด็กเล็กๆคนหนึ่งมายืนกลางกลุ่มพวกเขาทรงโอบเด็กนั้นไว้ตรัสว่า37”ผู้ใดที่ต้อนรับเด็กเล็กๆเช่นนี้ในนามของเราก็ต้อนรับเราและผู้ใดที่ต้อนรับเราก็มิใช่ต้อนรับเพียงเราเท่านั้นแต่ต้อนรับผู้ที่ทรงส่งเรามาด้วย”
a)    อธิบายความหมาย
ตั้งแต่ข้อความตอนนี้จนถึงข้อ 50 นักบุญมาระโกได้รวบรวมคำสั่งสอนและคำตักเตือนของพระเยซูเจ้า ซึ่งไม่มีความต่อเนื่องกัน นอกจากเป็นพระวาจาที่พระองค์ตรัสสอนโดยเฉพาะแก่บรรดาศิษย์ นักบุญมาระโกจึงซื่อสัตย์ต่อข้อสังเกตที่ได้ให้ไว้ก่อนหน้านี้ว่า “พระเยซูเจ้าเสด็จออกจากที่นั่นพร้อมกับบรรดาศิษย์ผ่านแคว้นกาลิลี พระองค์ไม่ทรงต้องการให้ผู้ใดรู้” (9:30)

- พระเยซูเจ้าเสด็จมาถึงเมืองคาเปอรนาอุมพร้อมกับบรรดาศิษย์ พระเยซูเจ้าทรงออกเดินทางจากเมืองซีซารียาแห่งฟิลิปมุ่งไปสู่กรุงเยรูซาเล็ม (เทียบ 8:27) ทรงแวะที่เมืองคาเปอรนาอุมริมฝั่งทะเลสาบกาลิลี

- เมื่อเสด็จเข้าไปในบ้าน บางทีคงจะเป็นบ้านของนักบุญเปโตร (เทียบ 1:29)

- พระองค์ตรัสถามเขาว่า “ท่านถกเถียงกันเรื่องอะไรขณะที่เดินทาง” พระเยซูเจ้าเพิ่งทรงทำนายถึงการรับทรมานเป็นครั้งที่สอง (เทียบ 9:31) ในครั้งนี้บรรดาอัครสาวกไม่ต่อต้านพระองค์อย่างเปิดเผยเหมือนครั้งก่อน (เทียบ 8:32) และไม่สนใจคำประกาศของพระเยซูเจ้า ทั้ง ๆ ที่ไม่เขาเข้าใจพระวาจา เพราะไม่กล้าทูลถามพระองค์ แต่สาละวนในเรื่องอื่น พระเยซูเจ้าไม่ทรงลังเลพระทัยที่จะถามว่าระหว่างทางเขาถกเถียงกันเรื่องอะไร

- เขาก็นิ่ง เพราะระหว่างทางเขาถกเถียงกันว่า ผู้ใดยิ่งใหญ่กว่ากัน ในสมัยนั้นเมื่อผู้ชายหลายมาชุมนุมกัน ปัญหาที่จะเกิดขึ้นเสมอ ๆ คือ ใครมีศักดิ์ศรียิ่งใหญ่กว่ากัน เพราะผู้นั้นมีอภิสิทธิ์นั่งในสถานที่พิเศษไม่ว่าจะเป็นที่โต๊ะอาหาร ในศาลาธรรม หรือในที่ประชุม ฯลฯ(เทียบ 12:34) บรรดาศิษย์ลำบากใจที่จะเปิดเผยว่าเขาถกเถียงกันเรื่องอะไร เพราะเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับคำสั่งสอนของพระเยซูเจ้าอย่างชัดเจน (เทียบ 10:43-44)

- พระองค์จึงประทับนั่ง นี่เป็นอากัปกริยาทั่วไปของผู้สอน (เทียบ 4:1)

- แล้วทรงเรียกอัครสาวกสิบสองคนเข้ามา รายละเอียดนี้ก่อให้เกิดปัญหาบ้างเล็กน้อย เพราะนักบุญมาระโกได้บอกผู้อ่านแล้วว่า บรรดาศิษย์อยู่ในบ้านกับพระเยซูเจ้าแล้ว พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิวและนักบุญลูกาจึงละเว้นรายละเอียดนี้ อย่างไรก็ตาม อาจเป็นไปได้ที่นักบุญมาระโกจงใจที่จะตรอกย้ำความคิดนี้เพื่อเน้นความสำคัญของคำสั่งสอนของพระเยซูเจ้าที่มีลักษณะเป็นทางการ

- ตรัสว่า “ถ้าผู้ใดอยากเป็นคนที่หนึ่ง ก็ให้ผู้นั้นทำตนเป็นคนสุดท้าย และเป็นผู้รับใช้ของทุกคน” พระเยซูเจ้าทรงพลิกโฉมหน้าลำดับความสำคัญที่บุคคลทั่วไปยึดถือ โดยสอนว่าความยิ่งใหญ่แท้จริงของมนุษย์ไม่อยู่ในอำนาจการออกคำสั่งให้ผู้อื่นปฏิบัติตาม แต่อยู่ในจิตตารมณ์พร้อมเสมอที่จะรับใช้บรรดาเพื่อนพี่น้อง การตัดสินของพระเจ้ามีความสำคัญกว่าการตัดสินของมนุษย์

- ครั้นแล้วพระองค์ทรงจูงเด็กเล็กๆ คนหนึ่งมายืนกลางกลุ่มพวกเขา ทรงโอบเด็กนั้นไว้ พระเยซูเจ้าทรงให้ภาพอธิบายพระวาจาของพระองค์โดยใช้อากัปกริยาที่สำคัญเพราะ ขัดแย้งกับความคิดของชาวยิวในของพระองค์ ในสมัยนั้น ประชาชนไม่นิยมมองเด็กเล็ก ๆ ว่าเป็นสัญลักษณ์ของความไร้เดียงสา ความบริสุทธิ์และความถ่อมตน แต่มักจะมองเขาในเชิงนิตินัย คือเป็นผู้ที่ไม่มีความสำคัญเลย และโดยปกติเด็กเหล่านั้นจะถูกขจัดออกจากการชุมนุมทางศาสนา จนกว่าจะมีอายุครบ 13 ปี เขาก็จะได้เข้าร่วมพิธีบาร์ มิตซวาห์ (Bar mitsvah) ตั้งแต่นี้เป็นต้นไปก็ถือว่าเด็กนั้นเป็นผู้ใหญ่ในด้านศาสนา เขาต้องปฏิบัติตามธรรมบัญญัติและศาสนกิจอย่างผู้ใหญ่

- ตรัสว่า“ผู้ใดที่ต้อนรับเด็กเล็กๆ เช่นนี้ในนามของเรา ก็ต้อนรับเรา และผู้ใดที่ต้อนรับเรา ก็มิใช่ต้อนรับเพียงเราเท่านั้น แต่ต้อนรับผู้ที่ทรงส่งเรามาด้วย”ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ถกเถียงกันถึงความหมายของพระวาจาตอนนี้ว่าหมายถึงอะไร เพราะข้อความตอนนี้ไม่มีความสัมพันธ์กับข้อความก่อนหน้านี้เลย และไม่มีความชัดเจนว่าพระองค์ทรงเปรียบเทียบเด็กเล็ก ๆ กับบุคคลใด ดูเหมือนว่าพระองค์ทรงใช้เด็กเล็ก ๆ เป็นสัญลักษณ์ของผู้ที่ไม่สามารถปกป้องตนเองได้  อาจได้รับอันตรายอยู่เสมอและต้องการความช่วยเหลือจากผู้อื่น การ “ต้อนรับบุคคลในนามของผู้ใดผู้หนึ่ง” หมายถึงยอมรับผู้ที่ส่งเขามา  ดังนั้น  การ“ต้อนรับ” ในที่นี้หมายถึงการดูแลเอาใจใส่ผู้ที่อ่อนแอกว่าและมีความต้องการมากกว่าเพื่อป้องกันและช่วยเหลือเขาเหมือนกับว่าเป็นพระคริสตเจ้าเอง

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก