“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพื่อให้พระคัมภีร์เป็นความจริง”  
77. พระเยซูเจ้าทรงถูกจับกุม (มก 14:43-52)
        14 43ขณะที่พระเยซูเจ้ากำลังตรัสอยู่นั้น ยูดาส หนึ่งในบรรดาอัครสาวกสิบสองคน มาถึงพร้อมกับคนจำนวนหนึ่ง ถือดาบและไม้ตะบองเป็นอาวุธ บรรดาหัวหน้าสมณะ ธรรมาจารย์และผู้อาวุโสส่งคนเหล่านี้มา 44ผู้ทรยศให้สัญญาณกับคนเหล่านี้ว่า “เราจูบผู้ใด ก็เป็นคนนั้นแหละ จงจับกุมเขาไว้แล้วคุมตัวเขาไปอย่างแน่นหนาเถิด” 45เมื่อยูดาสมาถึง ก็ตรงเข้าไปหาพระองค์ ทูลว่า “พระอาจารย์เจ้าข้า” แล้วจูบพระองค์ 46คนเหล่านั้นต่างกรูกันเข้ามาจับกุมพระองค์ 47คนที่ยืนอยู่ที่นั่นคนหนึ่งชักดาบฟันผู้รับใช้คนหนึ่งของมหาสมณะ ใบหูขาด
            48พระเยซูเจ้าตรัสถามคนเหล่านั้นว่า “ท่านทั้งหลายถือดาบ ถือตะบองมาจับเราราวกับเราเป็นโจรเทียวหรือ 49เราอยู่กับท่านทุกวัน สั่งสอนในบริเวณพระวิหาร ท่านก็ไม่ได้มาจับเรา แต่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพื่อให้พระคัมภีร์เป็นความจริง” 50ศิษย์ทุกคนทิ้งพระองค์ แล้วหนีไป 51ชายหนุ่มคนหนึ่งห่มผ้าป่านผืนเดียวตามพระองค์ไป คนเหล่านั้นพยายามจับเขา 52แต่เขาสลัดผ้าป่านนั้นทิ้ง แล้ววิ่งหนีไปแต่ตัวเท่านั้น


             เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในคืนวันพฤหัส ฯ ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นวันที่หกของสัปดาห์ แต่ชาวยิวนับว่าเป็นวันศุกร์แล้ว ภารกิจของพระเยซูเจ้าจบลงที่นี่ และทรงเริ่มรับการทรมาน พระองค์ตรัสเพียงประโยคเดียวด้วยความมั่นใจ ในเหตุการณ์นี้ไม่มีความกลัวหรือความกังวลใจดังที่ปรากฏในสวนเกทเสมนี

- ขณะที่พระเยซูเจ้ากำลังตรัสอยู่นั้น
ในต้นฉบับภาษากรีกเขียนว่า “และทันทีนั้น” ซึ่งเป็นวิธีปกติที่นักบุญมาระโกใช้ในการเชื่อมโยงเหตุการณ์ นี่เป็นครั้งสุดท้ายในจำนวนทั้งหมด 42 ครั้ง

- ยูดาส หนึ่งในบรรดาอัครสาวกสิบสองคน
การเน้นว่า ยูดาสเป็นอัครสาวกคนหนึ่งในบรรดาสิบสองคน แสดงถึงความเศร้าสลดใจและความขมขื่นของคริสตชนสมัยแรก ๆ เมื่อคิดถึงพฤติกรรมของยูดาส (เทียบ ข้อ 10 และ 20)

- มาถึงพร้อมกับคนจำนวนหนึ่ง ถือดาบและไม้ตะบองเป็นอาวุธ บรรดาหัวหน้าสมณะ ธรรมาจารย์และผู้อาวุโสส่งคนเหล่านี้มา “คนจำนวนหนึ่ง” บางทีอาจหมายถึง บุคคลที่หัวหน้าชาวยิวได้จ้างวานมาเพื่อเสริมกำลังของยามพระวิหารและผู้รับใช้ของตน การอ้างถึง “หัวหน้าสมณะ ธรรมาจารย์และผู้อาวุโส” หมายถึง บุคคลสามกลุ่มที่เป็นสมาชิกสูงสุดของสภาซันเฮดริน และต้องการเน้นว่าหัวหน้าชาวยิวทุกคนต้องร่วมรับผิดชอบต่อการตัดสินลงโทษประหารชีวิตพระเยซูเจ้า สภา ฯ นี้ ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนเจ็ดสิบเอ็ดคน โดยมีคายาฟาส มหาสมณะเป็นประธาน

- ผู้ทรยศให้สัญญาณกับคนเหล่านี้ว่า “เราจูบผู้ใด ก็เป็นคนนั้นแหละ ในหมู่ชาวยิว เป็นธรรมเนียมการทักทายปกติที่ศิษย์และอาจารย์จูบกัน โดยแท้จริงแล้ว พฤติกรรมภายนอกของยูดาสแสดงความชิดสนิทกับพระเยซูเจ้า แต่ภายในจิตใจของเขาไม่เข้าใจและไม่รักพระองค์อย่างแท้จริง

- จงจับกุมเขาไว้แล้วคุมตัวเขาไปอย่างแน่นหนาเถิด” ในภาษากรีก วลีที่ว่า “จงจับกุมเขาไว้” หมายถึงควบคุมเขาไว้เพื่อขัดขวางมิให้กระทำบางสิ่งบางอย่าง (เทียบ 3:21) และเป็นวลีสำคัญในข้อความนี้ ซึ่งมีการใช้อีกสองครั้ง (เทียบ ข้อ 46 และ49)

- เมื่อยูดาสมาถึง ก็ตรงเข้าไปหาพระองค์ ทูลว่า “พระอาจารย์เจ้าข้า” แล้วจูบพระองค์ คนเหล่านั้นต่างกรูกันเข้ามาจับกุมพระองค์ น่าสังเกตว่า การซ้ำคำกริยา “จูบ” ในที่นี้อยู่ในรูปแบบการกระทำหลายครั้งซ้ำไปซ้ำมา จึงเป็นการเสนอแนะว่า ยูดาสได้สวมกอดพระเยซูเจ้าอย่างหนักแน่น นักบุญลูกาใช้กริยาคำว่า “จูบ”ในรูปแบบนี้ เพื่อบรรยายความเคารพของสตรีคนบาปต่อพระเยซูเจ้า โดยการจูบพระบาท (เทียบ ลก 7:38) และเพื่อแสดงความรักของบิดาต่อลูกล้างผลาญ (เทียบ ลก 15:20)

- คนที่ยืนอยู่ที่นั่นคนหนึ่งชักดาบฟันผู้รับใช้คนหนึ่งของมหาสมณะ ใบหูขาด นี่เป็นลักษณะเฉพาะของนักบุญมาระโกที่ละเว้นชื่อของผู้กระทำ เพื่อไม่เสนอแนะให้ผู้อ่านมีความอยากรู้อยากเห็น พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์นบันทึกว่า ซีโมนเปโตรเป็นผู้ชักดาบฟัน และผู้รับใช้คนหนึ่งของมหาสมณะที่ใบหูขาดมีชื่อว่ามาลคัส (เทียบ ยน 18:10) พระเยซูเจ้าทรงตำหนิเปโตรว่า “เราจะไม่ดื่มจากถ้วยที่พระบิดาประทานให้เราหรือ” (เทียบ ยน 18:11) ในพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกามีบันทึกไว้ว่า พระเยซูเจ้า “ทรงสัมผัสหูและทรงรักษาเขา” (ลก 22:51)

- พระเยซูเจ้าตรัสถามคนเหล่านั้นว่า “ท่านทั้งหลายถือดาบ ถือตะบองมาจับเราราวกับเราเป็นโจรเทียวหรือ บางทีอาจเป็นการอ้างถึงบารับบัส (เทียบ 15:7) หัวหน้าชาวยิวปฏิบัติต่อพระเยซูเจ้าเหมือนกับว่าพระองค์ทรงเป็นคนรักชาติที่เป็นกบฏต่อรัฐบาลโรม และจะถูกตรึงบนไม้กางเขน (เทียบ 15:24) ระหว่างโจรผู้ร้ายสองคน (เทียบ 15:27) นักบุญลูกบันทึกว่า “เขาจะถูกนับอยู่ในหมู่คนอธรรม” (ลก 22:37) โดยอ้างถึงประกาศกอิสยาห์ (เทียบ อสย 53:12)

- เราอยู่กับท่านทุกวัน สั่งสอนในบริเวณพระวิหาร ท่านก็ไม่ได้มาจับเรา คำที่ว่า “ทุกวัน” อาจแปลได้อีกว่าตลอดทั้งวัน เพราะนักบุญมาระโกเล่าว่า พระเยซูเจ้าประทับอยู่ที่กรุงเยรูซาเล็มเพียงสามวันเท่านั้น ก่อนที่พระองค์จะทรงรับทรมาน ดังที่เขาบรรยายศาสนบริการของพระเยซูเจ้าในบทที่ 11ถึงบทที่ 13 อย่างไรก็ตาม พระวาจาของพระเยซูเจ้าอาจหมายถึงโอกาสอื่น ๆ ที่พระองค์ทรงสั่งสอนที่กรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งผู้นิพนธ์พระวรสารไม่ได้กล่าวถึง

- แต่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพื่อให้พระคัมภีร์เป็นความจริง”
นี่เป็นครั้งที่สามที่พระเยซูเจ้าทรงอ้างถึงพระคัมภีร์ (เทียบข้อ 21และ 27) เพื่อต้องการเน้นว่า การที่ชาวยิวจะประหารชีวิตพระองค์เป็นเหตุการณ์ในแผนการลึกลับของพระเจ้า ตามการประกาศของบรรดาประกาศกเพื่อความรอดพ้นของมนุษยชาติ และพระเยซูเจ้าทรงยอมรับแผนการนี้ด้วยความสมัครพระทัย

- ศิษย์ทุกคนทิ้งพระองค์ แล้วหนีไป ประโยคนี้น่าจะอยู่หลังเรื่องการจับกุมของพระเยซูเจ้า (ข้อ 47) นักบุญมาระโกคงจะเขียนข้อนี้ไว้หลังจากที่พระเยซูเจ้าทรงอ้างถึงพระคัมภีร์ เพื่อแสดงว่า การหนีไปของบรรดาศิษย์ยังเป็นส่วนหนึ่งในแผนการของพระเจ้า ดังที่กล่าวไว้ในข้อที่ 27 น่าสังเกตคำว่า “ทิ้งพระองค์” เป็นคำเดียวกันที่นักบุญมาระโกใช้เพื่อบรรยายถึงการที่พระเยซูเจ้าทรงเรียกบรรดาศิษย์สี่คนแรกว่า “ทิ้งแหไว้...ละทิ้งเศเบดีบิดาของตน” (มก 1:18, 20)

- ชายหนุ่มคนหนึ่งห่มผ้าป่านผืนเดียวตามพระองค์ไป คนเหล่านั้นพยายามจับเขา แต่เขาสลัดผ้าป่านนั้น เหตุการณ์นี้ดูเหมือนไม่สำคัญ ตลกขบขัน และทำให้หัวเราะ ซึ่งเป็นรายละเอียดที่มีบันทึกในพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโกเท่านั้น นักพระคัมภีร์บางคนอธิบายว่า ชายหนุ่มคนนี้คือนักบุญมาระโก ผู้นิพนธ์พระวรสาร ส่วนอีกบางคนคิดว่า ภาพของผู้ที่เปลือยกายแล้วไป เป็นสัญลักษณ์ของบรรดาศิษย์ที่หนีไป หรืออาจเป็นสัญลักษณ์ล่วงหน้าของพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ โดยทรงทิ้งผ้าป่านไว้ในเงื้อมมือของศัตรู

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก