“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“จงอยู่ที่นี่และตื่นเฝ้าเถิด”  
76. ในสวนเกทเสมนี (มก 14:32-42)
        
1432พระเยซูเจ้าเสด็จมาพร้อมกับบรรดาศิษย์ถึงสถานที่แห่งหนึ่งชื่อ “เกทเสมนี” พระองค์ตรัสกับเขาว่า “จงนั่งอยู่ที่นี่ ขณะที่เราไปอธิษฐานภาวนา” 33แล้วทรงพาเปโตร ยากอบ และยอห์นไปกับพระองค์ 34พระองค์ทรงเริ่มรู้สึกหวาดกลัวและเศร้าพระทัยอย่างยิ่ง จึงตรัสกับเขาทั้งสามคนว่า “ใจเราเป็นทุกข์แทบสิ้นชีวิต จงอยู่ที่นี่และตื่นเฝ้าเถิด” 35แล้วทรงพระดำเนินไปข้างหน้าอีกเล็กน้อย ทรงทรุดลงกับพื้นดิน ทรงอธิษฐานภาวนาเพื่อให้เวลานั้นผ่านพ้นพระองค์ไป ถ้าเป็นไปได้ 36พระองค์ทูลว่า “อับบา พระบิดาเจ้าข้า พระองค์ทรงกระทำทุกสิ่งได้ โปรดทรงเอาถ้วยนี้ไปจากข้าพเจ้าเถิด อย่าให้เป็นไปตามใจข้าพเจ้า แต่ให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์เถิด” 37พระองค์เสด็จกลับมา พบศิษย์ทั้งสามคนกำลังหลับ จึงตรัสกับเปโตรว่า “ซีโมน ท่านหลับหรือ ท่านตื่นเฝ้าสักหนึ่งชั่วโมงไม่ได้หรือ 38จงตื่นเฝ้าและอธิษฐานภาวนาเพื่อจะไม่เข้าสู่การผจญ จิตใจพร้อมแล้วก็จริง แต่เนื้อหนังอ่อนกำลัง” 39แล้วพระองค์เสด็จไปอธิษฐานภาวนาอีกครั้งหนึ่ง ทรงกล่าวถ้อยคำเดียวกัน 40ครั้นเสด็จกลับมาก็ทรงพบเขาหลับอยู่อีก เพราะลืมตาไม่ขึ้น และเขาไม่รู้จะทูลตอบพระองค์อย่างไร 41เมื่อเสด็จกลับมาครั้งที่สาม พระองค์ตรัสกับเขาว่า “บัดนี้ท่านหลับต่อไปและพักผ่อนได้ พอเถอะ เวลาที่บุตรแห่งมนุษย์จะต้องถูกมอบไว้ในมือของคนบาปมาถึงแล้ว 42จงลุกขึ้น ไปกันเถิด ผู้ทรยศมาแล้ว”

              ฉากนี้เป็นเหตุการณ์สำคัญมากในด้านจิตวิทยา แต่พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์นไม่ได้บันทึกเหตุการณ์นี้อย่างตรงไปตรงมา เขาอ้างถึงเพียงในบริบทอื่น ๆ (เทียบ ยน 12:27 และ 18:11) ยิ่งกว่านั้น จดหมายถึงชาวฮีบรูก็อ้างถึงเรื่องนี้ด้วย (เทียบ ฮบ 4:15 และ 5:7-8) ดังนั้น แม้ข้อความเหล่านี้มีรายละเอียดไม่ตรงกัน แต่แน่นอนว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง การที่พระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนาในสวนเกทเสมนีเป็นเหมือนบทนำเรื่องการรับทรมานของพระองค์ และข้อเขียนของนักบุญมาระโกก็มีคำพูดและประโยคที่สะท้อนภาษาอาราเมอิก ซึ่งแสดงว่ามีแหล่งข้อมูลจากดินแดนปาเลสไตน์อย่างแน่นอน

              เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเย็นวันพฤหัส ฯ ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งตามวัฒนธรรมของชาวยิวถือว่าเป็นวันศุกร์แล้ว การที่พระเยซูเจ้าทรงทำนายเรื่องการรับทรมานถึงสามครั้ง (เทียบ 8:31; 9:31; 10:32-34) กำลังจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง นักบุญมาระโกเล่าเรื่องการเข้าตรีทูตของพระเยซูเจ้าในสวนเกทเสมนี ในลักษณะที่ว่าพระองค์ทรงนอบน้อมเชื่อฟังต่อพระประสงค์ของพระบิดา นักบุญลูกาบันทึกเพิ่มเติมว่า “ทูตสวรรค์องค์หนึ่งปรากฏมาถวายพละกำลังแด่พระองค์ พระองค์ทรงอยู่ในความทุกข์กังวลอย่างสาหัส จึงทรงอธิษฐานอย่างมุ่งมั่นยิ่งขึ้น พระเสโทตกลงบนพื้นดินประดุจหยดโลหิต” (ลก 32:43-44)

- พระเยซูเจ้าเสด็จมาพร้อมกับบรรดาศิษย์ถึงสถานที่แห่งหนึ่งชื่อ “เกทเสมนี” เกทเสมนีเป็นคำภาษาฮีบรูหมายถึง “เครื่องหีบน้ำมัน” เกทเสมนีเป็นสวนมะกอกเทศขนาดเล็ก ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทางทิศตะวันออกของกรุงเยรูซาเล็ม แถบเชิงภูเขามะกอกเทศข้างหุบเขาขิดโรน อย่างไรก็ตาม สวนแห่งนี้คงต้องมีพื้นที่กว้างพอสมควร เพราะนักบุญมาระโกเล่าว่ามีสถานที่สามจุดที่แตกต่างกันคือ จุดแรกมีอัครสาวกกลุ่มใหญ่ (ข้อ 32) จุดที่สองมีอัครสาวกสามคนที่พระองค์ทรงเลือก (ข้อ 33) และจุดที่สามเป็นสถานที่ซึ่งพระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานพระองค์เดียว

- พระองค์ตรัสกับเขาว่า “จงนั่งอยู่ที่นี่ ขณะที่เราไปอธิษฐานภาวนา” แล้วทรงพาเปโตร ยากอบ และยอห์นไปกับพระองค์ นักบุญมาระโกเท่านั้นเล่ารายละเอียดที่ว่าพระเยซูเจ้าทรงพาเปโตร ยากอบ และยอห์นไปกับพระองค์ และเช่นเดียวกับในสถานการณ์อื่น ๆ คือเมื่อทรงบันดาลให้บุตรหญิงของไยรัสกลับคืนชีพ (เทียบ 5:37) เมื่อทรงสำแดงองค์อย่างรุ่งโรจน์ (เทียบ 9:2) และเมื่อทรงปราศรัยเรื่องอันตวิทยา (เทียบ 13:3) บรรดาอัครสาวกเหล่านี้เคยเห็นล่วงหน้าถึงพระอานุภาพและความรุ่งโรจน์ของพระบุตรแล้ว แต่บัดนี้ พระเยซูเจ้าทรงเรียกเขาเหล่านั้นให้มีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดกับการรับทรมานของพระองค์

- พระองค์ทรงเริ่มรู้สึกหวาดกลัวและเศร้าพระทัยอย่างยิ่ง คำกริยาภาษากรีกสองคำนี้คือ “รู้สึกหวาดกลัว” และ “เศร้าพระทัย” เน้นความวุ่นวายใจและความตกใจของมนุษย์ต่อการรับทรมานและความตายที่กำลังจะมาถึงอย่างเห็นได้ชัด พระบุตรของพระเจ้าทรงรับธรรมชาติมนุษย์เพื่อเป็นเหมือนกับเราในสถานการณ์เดียวกัน พระองค์จึงไม่สามารถปฏิเสธความทุกข์ทรมานได้ นักบุญมาระโกเน้นลักษณะการเป็นมนุษย์ของพระเยซูเจ้าอย่างมาก นักบุญมัทธิวพูดถึงความกลัวของพระองค์อย่างกว้าง ๆ (เทียบ มธ 26:37) ส่วนสำเนาโบราณหลายฉบับของพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกาไม่พูดถึงข้อความนี้เลย

- จึงตรัสกับเขาทั้งสามคนว่า “ใจเราเป็นทุกข์แทบสิ้นชีวิต
พระวาจาประโยคนี้ไม่เป็นเพียงคำคร่ำครวญ แต่เป็นการแสดงถึงสภาพจิตใจของพระองค์ ซึ่งกระตุ้นให้แสวงหาการบรรเทาใจจากผู้ที่เป็นศิษย์ของพระองค์ อย่างไรก็ตาม พระวาจาที่พระเยซูเจ้าตรัสเป็นการอ้างถึงข้อความจากเพลงสดุดี (เทียบ สดด 42:6,12; 43:5) แม้พระเยซูเจ้าไม่ตรัสวาจานี้กับพระบิดาเจ้าแต่ตรัสกับบรรดาศิษย์ หนังสือประกาศกโยนาห์ยังบันทึกพระวาจานี้ด้วยว่า “ใช่แล้ว พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าโกรธมากจนอยากตาย” (ยนา 4:9) ข้อความนี้อธิบายการรับทรมานของพระเยซูเจ้าอย่างสุดขีดจนไม่สามารถทนทานได้

- จงอยู่ที่นี่และตื่นเฝ้าเถิด” เพราะเวลานั้นเป็นเวลาแห่งการถูกผจญ และเป็นเวลาแห่ง “การเริ่มต้นของความทุกข์” (13:8) ดังที่พระองค์ตรัสในคำปราศรัยเรื่องอันตวิทยา

- แล้วทรงพระดำเนินไปข้างหน้าอีกเล็กน้อย ทรงทรุดลงกับพื้นดิน ทรงอธิษฐานภาวนาเพื่อให้เวลานั้นผ่านพ้นพระองค์ไป
นี่ไม่เป็นเพียงคำชี้แจงเรื่องกาลเวลา แต่เป็นเวลาของการรับทรมานและเวลาที่แผนการของพระเจ้าจะสำเร็จลุล่วงไปอย่างสมบูรณ์

- ถ้าเป็นไปได้ พระองค์ทูลว่า “อับบา พระบิดาเจ้าข้า
“อับบา” เป็นคำภาษาอาราเมอิก แปลว่า “พ่อจ๋า” พระเยซูเจ้าทรงใช้คำนี้เพื่อแสดงความใกล้ชิดสนิทสัมพันธ์ที่พระบุตรทรงมีต่อพระบิดา (เทียบ มธ 11:25-26//; ยน 3:35; 5:19-20; 8:28-29) ต่อมา คริสตชนก็ใช้คำนี้ด้วย (รม 8:15; กท 4:6) เพราะพระจิตเจ้าทรงทำให้เขาเป็นบุตรของพระเจ้า แต่ชาวยิวเคยคิดว่าคำ “อับบา” เป็นคำพูดของเด็ก ไม่สง่างามพอที่จะใช้ในการอธิษฐานภาวนา

 

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก