ความรู้เกี่ยวกับจดหมายถึงมวลคริสตชน

           พันธสัญญาใหม่ยังมีจดหมายอีกเจ็ดฉบับที่ไม่ใช่ของเปาโล นำมารวมไว้ด้วยกัน ทั้งๆ ที่จดหมายเหล่านี้ไม่มีความสัมพันธ์กันเลย จดหมายสามฉบับในเจ็ดฉบับนี้ได้ชื่อว่าเป็นจดหมายของยอห์น สองฉบับเป็นของเปโตร ส่วนที่เหลือเป็นของยากอบและยูดาคนละฉบับ แต่การพูดว่าจดหมายเหล่านี้เป็นของคนนี้คนนั้นจะต้องนำมาประเมินเป็นกรณีไปโดยคำนึงถึงประเพณีนิยมทางวรรณกรรมของสมัยนั้นซึ่งมักอ้างว่าข้อเขียนฉบับใดฉบับหนึ่งเป็นผลงานของบุคคลสำคัญในอดีต ซึ่งโดยแท้จริงแล้วไม่เกี่ยวข้องเลย หรืออย่างน้อยไม่ได้เป็นผู้เขียนโดยตรง จดหมายเหล่านี้เรียกรวมกันว่าจดหมายสากลหรือคาทอลิกตั้งแต่ปลายศตวรรษที่สอง เราไม่รู้แน่ชัดว่าทำไมจึงเรียกเช่นนั้น น่าจะนับว่าจดหมายเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นจดหมายถึงพระศาสนจักรเป็นส่วนรวม ไม่ได้เขียนถึงกลุ่มคริสตชนกลุ่มใดหรือบุคคลใดโดยเฉพาะ

1. จดหมายของยากอบ

1. จดหมายของยากอบ

               จดหมายของยากอบได้รับการยอมรับทีละเล็กทีละน้อยเท่านั้นในพระศาสนจักร ในอียิปต์จดหมายนี้เป็นที่ยอมรับในสารบบพระคัมภีร์โดยไม่มีปัญหา โอริเจนอ้างข้อความจากจดหมายนี้ว่าเป็นข้อความจากพระคัมภีร์ แต่ยูเซบีอัสแห่งซีซารียาในต้นศตวรรษที่สี่กล่าวว่า บางคนยังไม่ยอมรับจดหมายฉบับนี้ในพระศาสนจักรที่พูดภาษาซีเรียค จดหมายฉบับนี้ถูกรับเข้าในสารบบพันธสัญญาใหม่ในศตวรรษที่สี่เท่านั้น ในอัฟริกาเหนือ แทร์ทุลเลียนและนักบุญชีเปรียนไม่รู้จักจดหมายฉบับนี้ สารบบพระคัมภีร์ที่มอมเสนค้นพบ (Mommsen's Catalogue เขียนไว้ราวปี 360) ยังไม่มีชื่อจดหมายนี้รวมอยู่ด้วย ที่กรุงโรมจดหมายฉบับนี้ก็ไม่ปรากฏในสารบบพระคัมภีร์ที่มูราโตรีได้ค้นพบ (Canon of Muratori ซึ่งนักบุญฮิปโปลีตัสอาจเป็นผู้เขียนขึ้นราวปี 200) ไม่แน่นักว่าเคลเมนต์แห่งโรมและหนังสือที่ชื่อผู้เลี้ยงของเฮอร์มัสจะอ้างถึงข้อความจากจดหมายนี้หรือไม่ จึงอาจสรุปได้ว่าจดหมายฉบับนี้ไม่เป็นที่ยอมรับเป็นเอกฉันท์ในพระศาสนจักรทั้งทางตะวันออกและทางตะวันตกจนกระทั่งปลายศตวรรษที่สี่

              เมื่อกลุ่มคริสตชนต่างๆ ยอมรับจดหมายฉบับนี้ในสารบบของพันธสัญญาใหม่แล้ว ต่างก็คิดว่าผู้เขียนคือยากอบน้องชายของพระเยซูเจ้า” (มธ 13:55 เชิงอรรถ o เทียบ 12:46//) ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในกลุ่มคริสตชนสมัยแรกที่กรุงเยรูซาเล็ม (กจ 12:17 เชิงอรรถ f; 15:13-21; 21:18-26; 1 คร 15:7; กท 1:19; 2:9,12) และถูกชาวยิวประหารชีวิตในราวปี ค..62 (โยเซฟัส เฮเจสิปปัส) ยากอบผู้เขียนจดหมายนี้ไม่ใช่คนเดียวกันกับอัครสาวกยากอบบุตรของเศเบดีอย่างแน่นอน (มธ 10:2//) ยากอบบุตรเศเบดีถูกเฮโรดสั่งประหารชีวิตในปี ค..44 (กจ 12:2) ในทางทฤษฎียากอบผู้เขียนจดหมายอาจจะเป็นคนเดียวกับอัครสาวกยากอบบุตรของอัลเฟอัส (มธ 10:3//) ก็ได้ แต่ตามที่เป็นจริง แม้นักเขียนในสมัยแรกก็ยังสงสัย นักวิชาการส่วนใหญ่ในสมัยปัจจุบันคิดว่าผู้เขียนจดหมายนี้ไม่ใช่อัครสาวก ข้อความที่เปาโลเขียนไว้ใน กท 1:19 ก็ไม่บอกชัดเจนว่ายากอบน้องขององค์พระผู้เป็นเจ้านี้เป็นอัครสาวกหรือไม่

              ปัญหาที่แท้จริงไม่อยู่ตรงนี้ แต่ลึกซึ้งกว่า ผู้เขียนจดหมายอ้างว่าเป็นน้องชายขององค์พระผู้เป็นเจ้าแต่การอ้างเช่นนี้อธิบายได้ยาก ถ้าน้องชายขององค์พระผู้เป็นเจ้าเขียนจดหมายฉบับนี้จริง ทำไมพระศาสนจักรจึงไม่ได้รับว่าเป็นพระคัมภีร์ในทันที นอกจากนั้น จดหมายนี้ยังเขียนเป็นภาษากรีกและใช้ภาษาได้อย่างงดงาม ใช้คำศัพท์สละสลวยและใช้เหตุผลโต้เถียงอย่างมีวาทศิลป์ซึ่งน่าจะเกินความสามารถของผู้เขียนซึ่งเป็นชาวกาลิลีคนหนึ่ง ยากอบอาจได้รับความช่วยเหลือในการเขียนจากศิษย์ที่รู้ภาษากรีกอย่างดี แต่นี่เป็นเพียงการคาดคะเนที่ไม่อาจพิสูจน์ได้ ปัญหาหนักที่สุดอยู่ที่ว่า จดหมายฉบับนี้มีลักษณะคล้ายกันมากกับข้อเขียนในปลายศตวรรษที่หนึ่งหรือต้นศตวรรษที่สอง โดยเฉพาะกับจดหมายฉบับแรกของเคลเมนต์แห่งโรมและหนังสือที่ชื่อผู้เลี้ยงของเฮอร์มัส บางคนอ้างว่า งานเขียนสองฉบับนี้ยกข้อความหลายตอนมาจากจดหมายของยากอบ แต่ปัจจุบันนักวิชาการมีความเห็นว่า ความใกล้เคียงของผลงานเหล่านี้น่าจะเนื่องมาจากการใช้แหล่งข้อมูลเดียวกัน และจากข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้เขียนต่างต้องเผชิญกับปัญหาที่คล้ายคลึงกัน ดังนั้น นักวิชาการหลายคนในปัจจุบันจึงกล่าวว่าจดหมายของยากอบเขียนขึ้นปลายศตวรรษที่หนึ่งหรือต้นศตวรรษที่สอง คำสอนเรื่องพระคริสตเจ้าในจดหมายนี้ยังไม่พัฒนามากนักก็จริง คงไม่ใช่เพราะเขียนขึ้นในสมัยแรก แต่เพราะได้ความคิดมาจากแวดวงของคริสตชนชาวยิว ซึ่งเป็นทายาททางความคิดของยากอบน้องชายขององค์พระผู้เป็นเจ้า และยังไม่ได้รับอิทธิพลจากพัฒนาการของเทววิทยามากนัก

                ถ้าเป็นความจริงว่ายากอบน้องชายขององค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นผู้เขียนจดหมายฉบับนี้ จดหมายนี้น่าจะเขียนขึ้นก่อนปี ค..62 ซึ่งเป็นปีที่ยากอบถูกประหารชีวิต ถ้าเป็นเช่นนี้ เราอาจอธิบายความเกี่ยวข้องของจดหมายนี้กับ กท/รม ได้สองวิธี ในเรื่องเกี่ยวกับการบันดาลความชอบธรรมอาศัยความเชื่อ นักวิชาการบางคนคิดว่ายากอบเป็นผู้โต้เถียงกับเปาโล หรือที่ถูกกว่านั้นได้เถียงกับคริสตชนที่บิดเบือนคำสอนของเปาโล แต่นักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ คิดว่า เปาโลเป็นผู้คัดค้านความคิดของยากอบ ถ้าเป็นเช่นนี้ จดหมายของยากอบจะต้องเขียนขึ้นในราวปี ค..45-50 การเขียนในสมัยแรกเช่นนี้จึงอธิบายเหตุผลที่ว่า ทำไมคำสอนเรื่องพระคริสตเจ้าในจดหมายจึงยังไม่พัฒนา แต่ข้อสังเกตในย่อหน้าที่แล้วชวนให้คิดว่า จดหมายนี้ไม่น่าจะเขียนขึ้นในสมัยแรกเช่นนี้ (ปี ค..45-50)

                จดหมายนี้เขียนถึงตระกูลทั้งสิบสองตระกูลที่กระจัดกระจายอยู่” (1:1) หมายถึงคริสตชนชาวยิวที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วอาณาจักรกรีก-โรมัน แต่อยู่กันหนาแน่นในประเทศใกล้เคียงกับปาเลสไตน์ ได้แก่ ซีเรียและอียิปต์ น้ำเสียงทั่วไปของจดหมายแสดงให้เห็นว่า จดหมายนี้มุ่งถึงคริสตชนชาวยิว และเข้าใจว่าผู้อ่านคุ้นเคยกับพันธสัญญาเดิมแล้ว จึงไม่ยกเอาข้อความจากพระคัมภีร์มาอ้างโดยตรง ต่างจากเปาโลและผู้เขียนจดหมายถึงชาวฮีบรู ยากอบมักอ้างถึงความคิดกว้างๆ ของพระคัมภีร์เท่านั้น ยากอบได้ความคิดในจดหมายมาจากสองแหล่งคือ

          1. วรรณกรรมปรีชาญาณในพันธสัญญาเดิม ซึ่งเป็นพื้นฐานของคำสอนด้านจริยธรรม

          2. คำสอนในพระวรสาร นักวิชาการบางคน คิดว่าจดหมายนี้เป็นผลงานของชาวยิวแต่อย่างเดียว แต่ตรงกันข้าม เราพบความคิดและสำนวนเฉพาะของพระเยซูเจ้าได้ทั่วไปในจดหมาย ไม่ใช่เป็นข้อความที่ยกมาอ้างจากพระวรสาร แต่เป็นการกล่าวพาดพิงถึงธรรมประเพณีที่สืบทอดโดยบอกเล่าต่อๆ กันมา ยากอบเป็นปราชญ์คริสตชนชาวยิวซึ่งนำข้อคิดจากธรรมประเพณีปรีชาญาณของชาวยิวมาพิจารณาร่วมกับคำสอนของพระคริสตเจ้า และนำเสนอความคิดเหล่านี้ในแบบของตนที่ไม่ซ้ำกับใคร

               จดหมายนี้มีลักษณะเป็นบทเทศน์มากกว่าเป็นจดหมาย สะท้อนคำสอนธรรมดาของกลุ่มคริสตชนเมื่อมาชุมนุมกัน ประกอบด้วยคำเตือนใจด้านจริยธรรมเป็นชุดๆ ที่เกี่ยวข้องกันโดยหัวเรื่องเดียวกัน หรือบางครั้งเพียงเพราะคำคล้องจองกัน หัวเรื่องที่พูดถึงมีดังนี้

1. ต้องประพฤติตนอย่างไรในเวลาที่ถูกทดลอง (ยก 1:1-12; 5:7-11)

2. ที่มาของการผจญ (1:13-18)

3. การรู้จักควบคุมลิ้นของตน (1:26; 3:1-18)

4. ความสัมพันธ์ที่ดีและความเห็นอกเห็นใจพี่น้อง (2:8, 13; 3:13-4:2; 4:11)

5. พลังของการอธิษฐานภาวนา (1:5-8; 4:2; 5:13-18 ฯลฯ) ใน 5:14ฯ เราพบข้อความสำคัญเกี่ยวกับศีลเจิมคนไข้

               จดหมายนี้มีความคิดหลักอยู่สองข้อ ข้อแรกยกย่องคนยากจนและตำหนิคนร่ำรวย (1:9-11; 1:27-2:9; 4:13-5:6) โดยแสดงให้เห็นความห่วงใยต่อผู้ต่ำต้อย ซึ่งเป็นบุคคลที่พระเจ้าโปรดปราน ความคิดนี้มาจากธรรมประเพณีของพันธสัญญาเดิมและโดยเฉพาะจากบทเทศน์บนภูเขา (มธ 5:3 เชิงอรรถ d) ความคิดที่สองเน้นว่า คริสตชนต้องทำความดี ไม่พึงพอใจเพียงความเชื่อซึ่งไม่เกิดผล (1:22-27; 2:10-26) ผู้เขียนขยายความคิดนี้ใน 2:14-26 ซึ่งเยาะเย้ยการเทศน์ประกาศความเชื่อที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับกิจการดีใดๆ ทั้งสิ้น บางคนเห็นข้อความนี้เป็นการกล่าวโจมตีเปาโลโดยเฉพาะ อันที่จริง ยก และ กท/รม มีคำสอนหลายข้อใกล้เคียงกัน ที่น่าสังเกตเป็นพิเศษคือวิธีอธิบายข้อความเกี่ยวกับอับราฮัมในพันธสัญญาเดิมในความหมายต่างกัน ยากอบอาจคัดค้านเปาโล หรือบางทีอาจคัดค้านคริสตชนบางคนที่ดึงข้อสรุปผิดๆ จากคำสอนของเปาโล ในเรื่องนี้มีข้อสังเกตน่าพิจารณาสองประการ ประการแรกแม้ทั้งสองคนมีทรรศนะต่างกัน เปาโลและยากอบต่างเห็นพ้องต้องกันในสาระสำคัญ (ดู 2:14 เชิงอรรถ f) ประการที่สอง ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อกับกิจการเป็นปัญหาปกติของชาวยิวในสมัยนั้น และอาจจะเป็นหัวข้อที่ทั้งยากอบและเปาโลต่างนำมาพิจารณาตามแนวความคิดของตน

2. จดหมายของยูดา

2. จดหมายของยูดา

                ยูดาซึ่งเรียกตนเองว่าเป็นน้องชายของยากอบ” (ข้อ 1) ดูเหมือนจะเป็นหนึ่งในบรรดาพี่น้องของพระเยซูเจ้าด้วยเหมือนกัน (มธ 13:55//) ไม่มีเหตุผลที่จะคิดว่าเขาเป็นคนเดียวกันกับอัครสาวกที่มีชื่อนี้ (ลก 6:16; กจ 1:13 เทียบ ยน 14:22) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพราะเขากล่าวถึงตนเองว่าอยู่นอกกลุ่มของบรรดาอัครสาวก (ข้อ 17) ในเมื่อยูดาไม่มีความสำคัญมากนัก จึงไม่น่าจะเป็นไปได้ว่าผู้เขียนนิรนามคนหนึ่งจะเอาชื่อนี้มาใช้ เราอาจสรุปได้ว่าผู้เขียนมีชื่อยูดาจริงๆ พระศาสนจักรหลายกลุ่มได้ยอมรับจดหมายนี้เข้าอยู่ในสารบบพระคัมภีร์ตั้งแต่ปี 200 แล้ว แม้ว่าบางคนมีความลังเลที่จะยอมรับเพราะจดหมายนี้อ้างข้อความจากหนังสือนอกสารบบพระคัมภีร์ (apocryphal) สองฉบับ คือ หนังสือเอโนค (ข้อ 6,14) และหนังสือการยกขึ้นสวรรค์ของโมเสส (ข้อ 9) แต่การอ้างข้อความจากข้อเขียนของชาวยิวร่วมสมัยไม่ได้หมายความว่าผู้เขียนจดหมายคิดว่าหนังสือทั้งสองฉบับนี้ได้รับการดลใจให้เป็นพระคัมภีร์

                เจตนาของยูดาในการเขียนจดหมายนี้เพื่อเป็นการประณามผู้สอนผิดซึ่งเป็นอันตรายต่อความเชื่อคริสตชน เขากล่าวว่าคนเหล่านี้จะถูกพระเจ้าลงโทษโดยใช้สำนวนที่นิยมกันในธรรมประเพณีของชาวยิว (ข้อ 5-7) และยังบรรยายคำสอนผิดๆ นี้โดยใช้สำนวนซึ่งเป็นที่คุ้นเคยเช่นเดียวกัน (ข้อ 11) เขาไม่กล่าวชัดๆ เลยว่าคำสอนผิดๆ เหล่านี้คืออะไร ดังนั้น เราจึงไม่อาจสรุปได้ว่าเป็นคำสอนของลัทธิไญยนิยมในศตวรรษที่สอง เขากล่าวหาบุคคลเหล่านั้นว่าเป็นพวกไม่เคารพพระเจ้าและพวกไม่มีศีลธรรม โดยเฉพาะเป็นผู้ที่กล่าวดูหมิ่นต่อพระคริสตเจ้าและทูตสวรรค์ (ข้อ 4, 8-10) คำสอนผิดๆ เหล่านี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้มที่ชอบรับเอาคำสอนจากปรัชญาและศาสนาต่างๆ มารวมเข้าด้วยกัน ดังที่มีประณามไว้ในจดหมายถึงชาวโคโลสี ในจดหมายเกี่ยวกับการอภิบาลและในหนังสือวิวรณ์

                จดหมายฉบับนี้ต้องเขียนขึ้นตอนปลายศตวรรษแรก เพราะกล่าวว่าบรรดาอัครสาวกได้ผ่านพ้นเป็นอดีตไปแล้ว (ข้อ 17) ความเชื่อเป็นข้อความที่กำหนดตายตัวแล้ว และพระเจ้าได้ประทานให้ครั้งเดียวตลอดไป” (ข้อ 3) ผู้เขียนดูเหมือนจะคุ้นเคยกับจดหมายของเปาโลอีกด้วย เป็นความจริงว่า 2 ปต ขอยืมข้อความมาจากยูดา และดังนั้นจึงต้องเขียนขึ้นภายหลัง แต่จดหมายของเปโตรฉบับที่สองอาจเขียนขึ้นหลังจากมรณกรรมของเปโตรก็ได้ จึงอาจสรุปได้ว่าจดหมายของยูดาเขียนขึ้นตอนปลายสมัยอัครสาวก

3. จดหมายของเปโตรฉบับที่หนึ่ง

3. จดหมายของเปโตรฉบับที่หนึ่ง

                ธรรมประเพณีเห็นว่าเปโตรได้เขียนจดหมายสากล” 2 ฉบับ 1 ปต มีชื่อเปโตรอัครสาวกขึ้นต้น (1:1) และพระศาสนจักรทุกแห่งยอมรับว่าจดหมายนี้เป็นของเปโตร เคลเมนต์แห่งโรมดูเหมือนได้ใช้จดหมายนี้ โพลีคารปได้ใช้อย่างแน่นอน และตั้งแต่สมัยของอีเรเนอัสเป็นต้นมา ต่างถือกันว่าจดหมายนี้เป็นของเปโตรอย่างชัดเจน ท่านอัครสาวกเขียนจดหมายนี้จากกรุงโรม (“บาบิโลน” 5:13) และเรียกมาระโกซึ่งอยู่กับตนว่าบุตรเราไม่รู้เรื่องราวตอนปลายชีวิตของเปโตรมากนัก ธรรมประเพณีเล่าว่าเปโตรได้ไปที่กรุงโรมและถูกประหารชีวิตเป็นมรณสักขีในรัชสมัยพระจักรพรรดิเนโร (ในปี ค..64 หรือบางทีอาจจะเป็นปี ค..67) จดหมายฉบับนี้เขียนถึงคริสตชนที่กระจัดกระจายอยู่ใน 5 แคว้นของจักรวรรดิ (1:1) ซึ่งกินเนื้อที่ของอาเซียน้อยแทบทั้งหมด จากข้อความในจดหมาย (1:14, 18; 2:9; 4:3) ดูเหมือนว่า ผู้รับจดหมายส่วนใหญ่เป็นคริสตชนที่ไม่ใช่ชาวยิว แต่อาจมีบางคนที่เป็นชาวยิวก็ได้ เปโตรจำเป็นต้องเขียนจดหมายเป็นภาษากรีก และภาษากรีกของจดหมายนี้แม้เป็นภาษาง่ายๆ แต่ก็ยังเป็นภาษากรีกที่ถูกไวยากรณ์และสละสลวยเกินไปที่จะ เป็นภาษาของชาวประมงจากกาลิลี มีการกล่าวถึงชื่อของศิษย์ซึ่งอาจเป็นเลขานุการที่ช่วยเขียนคือสิลวานัส (5:12) ผู้นี้อาจเป็นคนเดียวกันกับสิลาสซึ่งเคยเป็นเพื่อนร่วมเดินทางของเปาโลนั่นเอง (กจ 15:22 เชิงอรรถ x)

               จดหมายฉบับนี้มีเจตนาที่จะช่วยค้ำจุนความเชื่อของผู้อ่านในช่วงเวลาที่ถูกทดลอง นักวิชาการบางคนคิดว่าการทดลองที่ว่านี้คือการเบียดเบียนในสมัยจักรพรรดิโดมีเซียนหรือทราจัน ถ้าเป็นเช่นนี้ จดหมายฉบับนี้ต้องเขียนหลายปีหลังจากมรณกรรมของเปโตร แต่การกล่าวถึงการเบียดเบียนในจดหมายไม่มีน้ำหนักพอที่จะทำให้เราต้องสรุปเช่นนี้ เพราะดูเหมือนว่าช่วงเวลาที่ถูกทดลองที่กล่าวถึงนี้อาจจะหมายถึงความมุ่งร้ายใส่ความเป็นการส่วนตัวต่อผู้ที่เพิ่งกลับใจมาเป็นคริสตชน จากประชาชนที่เห็นว่าคริสตชนเหล่านี้ไม่ดำเนินชีวิตเลวเหมือนกับพวกเขาอีกต่อไป (2:12; 3: 16; 4:4, 12-16)

               แต่ยังมีเหตุผลที่ทำให้คิดว่าเปโตรไม่ได้เขียนจดหมายฉบับนี้ด้วย คือจดหมายฉบับนี้ใช้ข้อความจาก ยน รม และ อฟ บ่อยๆ และอ้างข้อความจากพระวรสารโดยตรงไม่บ่อยนัก เพื่อแสร้งว่าผู้เขียนเป็นอัครสาวกซึ่งมีชีวิตอยู่ก่อนที่หนังสือพระวรสารจะ เขียนขึ้น แต่เหตุผลเช่นนี้ยังไม่เพียงพอ เพราะข้อความที่ทำให้คิดถึงพระวรสารนั้นคลุมเครือเกินกว่าจะคิดว่าผู้เขียนแสร้งอ้างถึง ยิ่งกว่านั้น นักวิชาการที่คิดว่าเปโตรไม่ได้เขียนจดหมายนี้มักจะเน้นมากเกินไปว่า 1 ปต มีความคิดใกล้เคียงกันกับ ยก และเปาโล โดยแท้จริงแล้วความคิดหลักโดยเฉพาะของเปาโล เช่น การยกเลิกธรรมบัญญัติของชาวยิว เรื่องพระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้า ฯลฯ ไม่มีปรากฏในจดหมายนี้เลย ส่วนความคิดหลักของเปาโลที่ปรากฏในจดหมายนี้ก็เป็นความคิดที่รู้จักกันดีจากเทววิทยาทั่วไปของคริสตชนในสมัยแรก เช่นการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้า เป็นการไถ่กู้มนุษยชาติ เรื่องความเชื่อและศีลล้างบาป ฯลฯ นักวิชาการยังชี้ให้เห็นสูตรและข้อความอ้างอิงจากพันธสัญญาเดิมที่คริสตชนในสมัยแรกใช้ในการเทศน์สอน ซึ่งนักเขียนคนใดก็ได้อาจนำมาใช้ในผลงานของตนโดยเอกเทศ เราต้องไม่ลืมว่าสิลวานัสเป็นศิษย์ของอัครสาวกทั้งสองคน นักวิชาการอื่นๆ เห็นว่า 1 ปต มีความคิดใกล้เคียงไม่เพียงแต่กับความคิดของเปาโลเท่านั้น แต่ยังใกล้เคียงกับข้อเขียนของมาระโก และบทเทศน์ของเปโตรในหนังสือกิจการอัครสาวกอีกด้วย

                 ถ้าเนื้อหาสาระส่วนใหญ่ของจดหมายได้เขียนแล้วก่อนที่เปโตรจะถูกประหารชีวิตในปี ค..64 หรือ ค..67 ในช่วงเวลาสองสามปีหลังจากนั้นสิลวานัสอาจได้เรียบเรียงข้อความเหล่านี้ให้เป็นจดหมายในรูปแบบที่เรามีในปัจจุบัน โดยปฏิบัติตามคำแนะนำ และใช้อำนาจของเปโตร สมมติฐานเช่นนี้น่าจะเป็นไปได้ถ้าเราพิสูจน์ได้ว่า จดหมายนี้เป็นการรวบรวมข้อความต่างๆ ที่เคยแยกกันอยู่แต่ก่อน (เช่น บทเทศน์ในพิธีศีลล้างบาป 1:13-4:11 เป็นข้อความดังกล่าวชิ้นหนึ่ง) แต่การจะเจาะจงลงไปว่าข้อความแต่ละตอนมีอะไรบ้างนั้นเป็นเพียงการคาดคะเนเท่านั้น

                แม้ว่าจดหมายฉบับนี้ให้คำแนะนำในด้านปฏิบัติ แต่ก็ยังสรุปเทววิทยาในสมัยอัครสาวกไว้อย่างดี ความคิดหลักที่สำคัญของจดหมายนี้คือความเข้มแข็งในเวลาที่ถูกทดลอง โดยที่พระคริสตเจ้าทรงเป็นแบบฉบับในเรื่องนี้ (2:21-25; 3:18; 4:1) คริสตชนต้องยอมรับทรมานด้วยความพากเพียรอดทนเหมือนกับพระองค์ เมื่อพวกเขาถูกทดลอง เพราะความเชื่อและเพราะการดำเนินชีวิตอย่างศักดิ์สิทธิ์ (2:19; 3:14; 4:12-19; 5:9) นั่นคือถ้าพวกเขาตอบสนองความชั่วด้วยความรัก นอบน้อมเชื่อฟังต่อผู้มีอำนาจทางบ้านเมือง (2:13-17) และมีความอ่อนโยนกับทุกคน (3:8-17; 4:7-11, 19) มีข้อความตอนหนึ่งที่เข้าใจยาก (3:19ฯ เทียบ 4:6) คำว่าการเทศน์ของพระคริสตเจ้าอาจจะหมายถึงการประกาศความรอดพ้นหรือการลงโทษจิตที่ถูกจองจำอาจจะหมายถึงคนชั่วร้ายซึ่งจมน้ำตายเมื่อน้ำวินาศมาท่วมโลก หรืออาจหมายถึงทูตสวรรค์ที่ได้ทำบาปดังที่ธรรมประเพณีและในวรรณกรรมวิวรณ์กล่าวไว้ ไม่ว่าจะคิดตามทรรศนะใด คำว่าการเทศน์ของพระคริสตเจ้าในที่นี้ หมายถึงการที่พระองค์สิ้นพระชนม์และข้อความนี้เป็นแหล่งที่มาของคำสอนเรื่องการเสด็จของพระองค์ลงไปยังแดนมรณะ

4. จดหมายของเปโตรฉบับที่สอง

4. จดหมายของเปโตรฉบับที่สอง

               จดหมายของเปโตรฉบับที่สองอ้างว่าท่านอัครสาวกเป็นผู้เขียนจดหมายนี้กล่าวชื่อของเปโตร ในตอนเริ่มต้นจดหมาย (1:1) กล่าวถึงพระเยซูเจ้าทรงทำนายล่วงหน้าถึงความตายของเปโตรว่าได้ตรัสกับผู้เขียนเอง (1:14) ผู้เขียนยังอ้างอีกว่าตนได้เป็นผู้รู้เห็นพระคริสตเจ้าทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์ (1:16-18) และยังกล่าวถึงจดหมายฉบับก่อนซึ่งหมายถึง 1 ปต อย่างแน่นอน

จดหมายนี้มีเจตนาสองประการคือ

1. เพื่อเตือนบรรดาคริสตชนให้ระวังผู้สอนผิด (บทที่ 2) และ

2. เพื่อขจัดความกังวลใจที่พระคริสตเจ้ายังไม่เสด็จกลับมาอย่างรุ่งโรจน์สักที (บทที่ 3)

                เป็นไปได้ว่า ปัญหาทั้งสองนี้มีอยู่แล้วตั้งแต่เมื่อเปโตรยังมีชีวิตอยู่ แต่เหตุผลหลายประการชวนให้คิดว่าเปโตรไม่ได้เขียนจดหมายฉบับนี้ แต่จดหมายฉบับนี้เขียนขึ้นในภายหลัง คำศัพท์ที่ใช้แตกต่างไปจาก 1 ปต บทที่ 2 ทั้งบทเป็นการคัดลอกข้อความจากจดหมายของยูดาอย่างหลวมๆ จดหมายนี้กล่าวว่า ในขณะนั้น คริสตชนได้รวบรวมจดหมายของเปาโลและให้ความสำคัญเป็นพิเศษแล้ว (3:15) จดหมายนี้กล่าวถึงคณะอัครสาวกคู่กับบรรดาประกาศกว่าท่านเหล่านี้ได้ล่วงลับไปแล้วโดยที่ผู้เขียนมิได้นับรวมอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย ข้อมูลเหล่านี้ทำให้นักเขียนคริสตชนตั้งแต่แรกมาแล้วสงสัยว่าเปโตร มิได้เขียนจดหมายฉบับนี้ ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า จดหมายนี้เป็นที่ยอมรับก่อนศตวรรษที่สาม นักเขียนโบราณ เช่น โอริเจน ยูเซบีอัสและเยโรมกล่าวว่าบางคนไม่ยอมรับจดหมายฉบับนี้อย่างเด็ดขาด ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ในปัจจุบันนี้ส่วนมากคิดว่าเปโตรไม่ได้เขียนจดหมายฉบับนี้ แม้ว่าผู้เขียนอาจมีเหตุผลที่อ้างอำนาจของเปโตรได้ก็ตาม ผู้เขียนอาจเป็นศิษย์คนหนึ่งของเปโตร และอาจนำความคิดในจดหมายของยูดามาเสริมข้อเขียนของเปโตรก็เป็นได้ ในสมัยของเราการทำเช่นนี้ต้องนับว่าเป็นการปลอมแปลง แต่ในสมัยโน้นการใช้นามของผู้อื่นในข้อเขียนของตนเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป

                 จดหมายนี้ได้รับการยอมรับจากพระศาสนจักรเข้าในสารบบอย่างไม่ต้องสงสัย คริสตชนยอมรับจดหมายนี้ว่าเป็นเอกสารแท้จากสมัยของบรรดาอัครสาวก คำสอนในจดหมายนี้สนับสนุนความคิดเช่นนี้ เช่น คำสอนเรื่องการที่คริสตชนทุกคนได้รับเรียกให้มามีส่วนร่วมพระธรรมชาติของพระเจ้า” (1:4) คำสอนเรื่องการดลใจในการเขียนพระคัมภีร์ (1:20) การยืนยันถึงการเสด็จมาอย่างรุ่งโรจน์ของพระคริสตเจ้า แม้ไม่มีผู้ใดจะรู้วันเวลาก็ตาม คำทำนายถึงโลกใหม่ที่ปราศจากความอยุติธรรมหลังจากโลกเก่าถูกไฟเผาทำลายจนสิ้นแล้ว (3:3-13)