“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

ความรู้เกี่ยวกับหนังสือกิจการอัครสาวก

              1. ตั้งแต่แรกหนังสือกิจการอัครสาวกและพระวรสารฉบับที่สามคงจะเป็นสองภาคของหนังสือเล่มเดียวกัน ซึ่งในปัจจุบันอาจได้ชื่อว่า “ประวัติศาสตร์การก่อกำเนิดของคริสตศาสนา” ต่อมาราวปี ค.ศ.150 คริสตชนต้องการรวบรวมพระวรสารทั้งสี่ไว้เป็นหนังสือเล่มเดียว สองภาคนี้จึงถูกแยกจากกัน ในช่วงนั้นหนังสือภาคที่สองนี้คงได้ชื่อว่า “กิจการอัคร-สาวก” ตามธรรมเนียมของชาวกรีกร่วมสมัย ดังที่พบได้ในชื่อ “กิจการ” ของฮันนิบาล และ “กิจการ” ของอเล็กซานเดอร์ เป็นต้น เหตุผลที่แสดงว่าพระวรสารฉบับที่สามและหนังสือกิจการอัครสาวกเป็นผลงานต่อเนื่องกันก็คือ (1) อารัมภบทของหนังสือทั้งสองเล่มกล่าวว่าเป็นหนังสือที่เขียนอุทิศแก่คนหนึ่งที่ชื่อเธโอฟีลัส (ลก 1:1-4 และ กจ 1:1) ผู้เขียนอารัมภบทของ กจ กล่าวถึงพระวรสารว่าเป็น “งานชิ้นแรก” ของตนและอธิบายว่าทำไมตนจึงเขียนพระวรสารและสรุปเหตุการณ์สุดท้ายของพระเยซูเจ้า (พระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพทรงสำแดงพระองค์และเสด็จสู่สวรรค์) (2) พระวรสารฉบับที่สามและ กจ มีลักษณะคล้ายกันในแง่วรรณกรรม ไม่ว่าจะเป็นคำศัพท์ ไวยากรณ์และลีลาการเขียน ซึ่งรักษาเอกลักษณ์เดียวกันตลอดหนังสือกิจการฯ และตลอดพระวรสารฉบับที่สามด้วย จึงสรุปได้ว่าผู้เขียนหนังสือทั้งสองเล่มนี้เป็นบุคคลเดียว

               บุคคลเดียวที่นักเขียนของพระศาสนจักรคิดว่าเป็นผู้แต่งหนังสือเล่มนี้คือ ลูกา นักวิจารณ์ทุกคนไม่ว่าในสมัยก่อนหรือในสมัยปัจจุบันไม่เคยเสนอบุคคลอื่นนอกจากลูกา เราพบว่ากลุ่มคริสตชนต่างๆ ตั้งแต่ประมาณปี ค.ศ. 175 มีความเห็นนี้ ดังที่ปรากฏในสารบบพระคัมภีร์ของกรุงโรมที่รู้จักกันในนามว่า “Muratorian Fragment” ในอารัมภบทของหนังสือต่อต้านลัทธิของ Marcion ในข้อเขียนของนักบุญอีเรเนอัส เคลเมนต์แห่งอเล็กซานเดรีย โอริเจน และของแตร์ตูเลียน ความคิดที่ว่าลูกาเป็นผู้เขียนยังได้รับการสนับสนุนจากหลักฐานภายในหนังสืออีกด้วย คือผู้เขียนต้องเป็นคริสตชนในยุคของบรรดาอัครสาวก ต้องเป็นชาวยิวที่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมกรีกอย่างดี หรือยิ่งกว่านั้น อาจเป็นชาวกรีกผู้มีการศึกษาและคุ้นเคยกับพระคัมภีร์ฉบับ LXX และกับลัทธิยิวเป็นอย่างดี คำอธิบายที่ง่ายที่สุด (แต่อาจอธิบายอย่างอื่นได้ด้วย) สำหรับการใช้สรรพนาม “เรา” ในข้อความบางตอนในภาคสองของหนังสือกิจการฯ ก็คือผู้เขียนร่วมเดินทางกับเปาโลด้วย ธรรมประเพณีโบราณของพระศาสนจักรยังบอกว่าเพื่อนร่วมทางผู้นี้ของเปาโลคือลูกา ซึ่งเป็นชาวซีเรียจากเมืองอันทิโอกและเป็นแพทย์ไม่มีเชื้อสายยิว (คส 4:10-14) เมื่อเปาโลถูกจองจำที่กรุงโรม เขากล่าวถึงลูกาว่าเป็นเพื่อนสนิทซึ่งไม่ละทิ้งตนเลย (คส 4:14; ฟม 24) เมื่อพิจารณาข้อความตอนที่ใช้สรรพนาม “เรา” ใน กจ จะเห็นว่าลูกาติดตามเปาโลในการเดินทางเพื่อแพร่ธรรมครั้งที่สอง (กจ 16:10ฯ) และครั้งที่สาม (กจ 20:6ฯ เทียบ 2 คร 8:18) เหตุผลที่ชื่อของลูกาไม่ปรากฏในรายชื่อของบุคคลที่ร่วมงานกับเปาโลใน กจ 20:4 ก็คือ เพราะเขาเป็นผู้รวบรวมรายชื่อเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม มีเหตุผลที่ทำให้นักวิชาการหลายคนคิดว่าผู้เขียนหนังสือกิจการอัครสาวกรวมทั้งพระวรสารฉบับที่สามไม่น่าจะเป็นเพื่อนร่วมทางของเปาโล แต่เป็นนักเขียนคนหนึ่งที่เราไม่ทราบชื่อ เหตุผลสำคัญของความคิดเห็นนี้คือ ลก และ กจ มีทรรศนะทางเทววิทยาต่างกับจดหมายของเปาโล และเล่าเหตุการณ์ไม่ตรงกับที่เปาโลเล่า เราจะอธิบายเหตุผลความแตกต่างเหล่านี้ตามโอกาส

               ไม่มีธรรมประเพณีใดในสมัยแรกบอกชัดว่า ลก และ กจ เขียนขึ้นเมื่อไรและที่ไหน (ในประเทศกรีซหลังจากมรณกรรมของเปาโล หรือที่กรุงโรมก่อนที่การไต่สวนคดีของเปาโลจะสิ้นสุด) เราจึงจำเป็นต้องพึ่งหลักฐานภายใน กจ จบลงเมื่อเปาโลถูกจองจำที่กรุงโรมราวปี ค.ศ.61-63 ดังนั้นจะต้องเขียนขึ้นหลังจากช่วงนั้น และเขียนหลังพระวรสารของมาระโก นักวิชาการบางคนเสนอว่าลูกาเขียนผลงานทั้งสองนี้ระหว่างปี ค.ศ.80 ถึง 100 ซึ่งอาจเป็นไปได้ แต่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดจาก กจ (เช่นเดียวกับจาก ลก) ว่าผลงานทั้งสองนี้เขียนขึ้นในช่วงเวลาหลังจากปี ค.ศ.70

             2. อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องวันเวลาแน่นอนที่เขียนไม่สำคัญเท่ากับปัญหาแหล่งข้อมูลที่ลูกาใช้ในการเล่าเรื่องเหตุการณ์ต่างๆ ใน กจ การวิเคราะห์หนังสือกิจการฯ ทำให้เห็นว่าคำยืนยันใน ลก 1:1-4 (ที่ต้องการให้เป็นอารัมภบทสำหรับงานทั้งสองชิ้น) เป็นความจริง ลูกาคงต้องรวบรวมหลักฐานอย่างละเอียดจำนวนมากจากหลายๆ แหล่ง แม้ว่าลูกาจะดัดแปลงข้อมูลตามความคิดของตนไปบ้าง ข้อมูลเหล่านี้ก็ยังแสดงเอกลักษณ์เฉพาะของตนอย่างชัดเจน ดังจะเห็นได้ว่าหลักคำสอนซึ่งมีการพัฒนาไปตามบริบท ยังคงรักษารูปแบบดั้งเดิมไว้ในข้อความบางตอนเช่นเดียวกับลีลาการเขียนซึ่งมีหลายแบบด้วย ในข้อความที่ลูกาอาจควบคุมวิธีการเขียนได้ เช่นในบันทึกการเดินทาง ภาษาที่ใช้เป็นภาษากรีกที่ดีมาก แต่ในการบรรยายเรื่องราวสมัยแรกของกลุ่มคริสตชนในปาเลสไตน์ เราพบว่าภาษากรีกที่ใช้มีสำนวนเซมิติกปนอยู่มาก ไม่สละสลวย ผิดไวยากรณ์ ไม่ชัดเจน เหตุผลที่ทำให้เป็นดังนี้ก็คือ บางครั้งลูกาพยายามเลียนแบบภาษากรีกของพันธสัญญาเดิมฉบับ LXX แต่หลายครั้งเพราะลูกาแปลข้อความจากต้นฉบับภาษาอาราเมอิกตามตัวอักษร

             ในพระวรสารเราอาจตรวจสอบลักษณะการเขียนของลูกาได้โดยเปรียบเทียบกับ มธ และ มก แต่น่าเสียดายที่เราไม่มีหนังสืออื่นที่จะนำมาเปรียบเทียบกับ กจ ได้ กระนั้นก็ดี เราอาจกำหนดแหล่งข้อมูลที่ลูกาใช้อยู่บ้างได้ นักวิชาการบางคนเสนอความคิดว่าข้อความ 1:12-15:35 ทั้งตอนมีแหล่งข้อมูลจากเอกสารภาษาอาราเมอิกฉบับเดียว แต่ความคิดเห็นเช่นนี้ดูจะไม่ละเอียดเท่าที่ควรเพราะไม่ได้คำนึงถึงข้อความหลายข้อที่ลูกาเรียบเรียงใหม่อย่างแน่นอน แหล่งข้อมูลที่เขาใช้น่าจะไม่ยาวนักและมีความหลากหลาย ทั้งยังอาจไม่ได้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรเลยก็ได้ (ในบางกรณีอาจจะเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว เช่น คำปราศรัยของสเทเฟน) ลูกาคงได้รับธรรมประเพณีที่เล่าต่อๆ กันมาปากต่อปากจากหลายวงการ ข้อมูลเหล่านี้เล่าเรื่องต่างๆ ที่ลูกานำมารวมกับข้อมูลอื่นๆ ที่มีเพื่อเรียบเรียงเป็นหนังสือกิจการฯ

               ถ้าไม่คำนึงมากเกินไปถึงรายละเอียด เราอาจแยกธรรมประเพณีที่ลูกาใช้เป็นข้อมูลได้ดังต่อไปนี้

               (1) ธรรมประเพณีเกี่ยวกับคริสตชนกลุ่มแรกที่กรุงเยรูซาเล็ม (บทที่ 1-5)

               (2) บันทึกสั้นๆ เกี่ยวกับชีวประวัติของบุคคลต่างๆ เช่น ของเปโตร (9:32-11:18; บทที่ 12) หรือของฟีลิป (8:4-40) รายละเอียดเหล่านี้อาจจะได้มาโดยตรงจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น จากฟีลิปผู้ประกาศข่าวดีซึ่งลูกาพบที่เมืองซีซารียา (21:8)

               (3) รายละเอียดเกี่ยวกับระยะก่อตั้งกลุ่มคริสตชนที่เมืองอันทิโอกและผู้ก่อตั้งชาวยิวที่พูดภาษากรีก ข้อมูลเหล่านี้ต้องมาจากพระศาสนจักรที่นั่นอย่างแน่นอน (6:1-8:3; 11:19-30; 13:1-3)

               (4) เรื่องการกลับใจและการเดินทางแพร่ธรรมของเปาโล เปาโลคงเล่าเรื่องนี้ให้ลูกาฟัง (9:1-30; 13:4-14:28; 15:36ฯ) แม้บางครั้งรายละเอียดไม่ตรงกับในจดหมายของเปาโล สำหรับลูกา ความหมายและบทสอนจากเหตุการณ์ในชีวิตของเปาโลสำคัญกว่าการให้รายละเอียดอย่างถูกต้อง

                (5) เรื่องการเดินทางครั้งที่สองและสามของเปาโล ลูกาอาจมีบันทึกส่วนตัว เพราะเหตุผลนี้เป็นคำอธิบายง่ายที่สุดสำหรับข้อความที่ลูกาใช้สรรพนาม “เรา” วิธีเขียนของลูกาแสดงลักษณะเฉพาะอย่างชัดเจนในข้อความตอนนี้ (11:27 เชิงอรรถ n; 16:10-17;  20:5-21:18; 27:1-28:16)

               ลูกาเรียบเรียงสาระทั้งหมดนี้เข้าเป็นหนังสือเล่มเดียวโดยจัดลำดับเรื่องให้เป็นไปตามลำดับเหตุการณ์อย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ เข้าด้วยกันอาศัยสูตรตายตัว (ตัวอย่างเช่น 6:7; 9:31; 12:24)

             3. การอ้างอิงอย่างดีถึงเอกสารที่ใช้เช่นนี้ทำให้ กจ มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างมาก แต่บางครั้งลูกาเรียบเรียงข้อมูลจากเอกสารเหล่านี้ขึ้นใหม่ โดยกล่าวถึงเหตุการณ์นั้นก่อนเวลาหรือรวมเหตุการณ์ต่างวาระเข้าเป็นเหตุการณ์เดียว ตัวอย่างเช่นเหตุการณ์ต่างๆ ในบทที่ 12 น่าจะเกิดขึ้นก่อนที่บารนาบัสและเปาโลเดินทางไปกรุงเยรูซาเล็มตามที่เล่าไว้ในบทที่ 11:30; 12:25 เว้นเสียแต่ว่า การไปกรุงเยรูซาเล็มครั้งนี้เป็นโอกาสเดียวกันกับที่กล่าวถึงในบทที่ 15 รายละเอียดเกี่ยวกับ “การประชุมที่กรุงเยรูซาเล็ม” ในบทที่ 15 อาจเป็นการรวมการถกเถียงปัญหาสองครั้งต่างกัน (ดู เชิงอรรถ) ก็ได้ การเรียบเรียงโดยปรับรายละเอียดบ้างเช่นนี้ไม่ทำให้ กจ ลดความน่าเชื่อถือลงไป ถ้าเข้าใจว่าลูกาเปลี่ยนแปลงรายละเอียดตามรูปแบบวรรณกรรมที่ใช้

              ลูกาเขียน กจ เหมือนกับที่นักประวัติศาสตร์ร่วมสมัยทำ คือไม่รู้สึกว่าต้องเขียนตามลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเคร่งครัด แต่พยายามสรุปคำสอนทางเทววิทยาจากเหตุการณ์เหล่านั้น เจตนาเช่นนี้ทำให้ลูกาต้องเรียบเรียงข้อมูลอีกแบบหนึ่ง ตัวอย่างเช่น ลูกาจงใจแสดงว่าอัศจรรย์ของเปโตร กับของเปาโลมีลักษณะคล้ายกัน (เปรียบเทียบ 3:1-10 กับ 14:8-10; 5:15 กับ 19:12; 5:19 หรือ 12:6-11, 17 กับ 16:23-26, 40; 8:15-17 กับ 19:2-7; 8:18-24 กับ 13:6-11; 9:36-42 กับ 20:7-12) นอกจากนั้น เรื่องอัศจรรย์เหล่านี้บางครั้งยังคล้ายคลึงกับเรื่องอัศจรรย์ในพระวรสารอีกด้วย (เปรียบเทียบ 3:6-7 กับ ลก 4:39; มก 1:31; เปรียบเทียบ 9:33-34 กับ ลก 5:24ข-25; 20:10, 12 กับ ลก 8:52-55) ถ้อยคำที่สเทเฟนกล่าวก่อนสิ้นใจ (7:59-60) คล้ายกับพระวาจาของพระเยซูเจ้าก่อนสิ้นพระชนม์ (ลก 23:34, 46) คำปราศรัยของเปาโลที่ปิสิเดีย (13:16-41) ก็มีส่วนคล้ายกันมากกับคำปราศรัยของเปโตรที่กรุงเยรูซาเล็ม (2:14-36; 3:12-26; 4:8-12; 5:29-32) และที่เมืองซีซารียา (10:34-43) เราจึงมีเหตุผลเพียงพอที่จะสันนิษฐานว่า ลูกาไม่ได้รับคำปราศรัยเหล่านี้มาอย่างที่พบอยู่เดี๋ยวนี้ในหนังสือ แต่แต่งขึ้นเองโดยใช้รูปแบบของการเทศน์ของบรรดาอัครสาวกในสมัยแรก คือมีการประกาศข่าวดีเรื่องพระคริสตเจ้า พร้อมกับอ้างข้อความจากพระคัมภีร์มาพิสูจน์ ลูกาเอาใจใส่ปรับปรุงรูปแบบเช่นนี้ให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ที่มีการปราศรัยแต่ละครั้ง นักวิชาการมักจะเปรียบเทียบภาพลักษณ์ของเปาโลที่ปรากฏใน กจ กับภาพลักษณ์ของเขาที่ปรากฏจากจดหมายที่เขียน เป็นความจริงว่าเปาโลใน กจ มีท่าทีประนีประนอมมากกว่าเปาโลในจดหมาย (เปรียบเทียบ กจ 21:20-26 กับ กท 2:12ฯ; กจ 16:3 กับ กท 2:3; 5:1-12) แต่เราต้องเข้าใจว่าความแตกต่างเช่นนี้มาจากเจตนาของข้อเขียนที่มีแบบวรรณกรรมต่างกัน เปาโลแสดงตนกล้าหาญเพื่อป้องกันหลักการโดยไม่ประนีประนอมในจดหมาย (ดู 1 คร 9:19-23 ด้วย) แต่ลูกาพยายามแสดงว่า คริสตชนในสมัยแรกเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันอย่างแท้จริง

              ถึงกระนั้น เราไม่ควรจะเน้นท่าทีประนีประนอมของเปาโลดังที่ กจ กล่าวไว้มากเกินไป นักเทววิทยาบางคน (สำนัก Tubingen) เคยคิดว่า กจ เป็นหนังสือที่เขียนในศตวรรษที่ 2 เพื่อคลี่คลายปัญหาขัดแย้งระหว่างคริสตชนที่เป็นศิษย์ของเปโตรและที่เป็นศิษย์ของเปาโล แต่นักวิชาการในปัจจุบันไม่เห็นด้วยกับทฤษฎีนี้ เพราะ กจ เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ และเขียนขึ้นหลังจากเหตุการณ์ที่เล่าไม่นาน ปัญหาที่แท้จริงคือลูกาเขียน กจ เพื่อจุดประสงค์อะไร เขาดัดแปลงข้อมูลที่บันทึกไว้ก่อนแล้วมากน้อยเพียงไร บางคนคิดว่าลูกาเขียน กจ เพื่อให้ผู้ปกครองในรัฐบาลโรมันเห็นว่าเปาโลไม่ได้เป็นอาชญากรทางการเมือง เจตนาเช่นนี้ที่จะป้องกันเปาโลไม่จำเป็นต้องทำให้ลูกาบิดเบือนความเป็นจริง ลูกาต้องการเน้นลักษณะ 2 ประการของเปาโล คือเปาโลโต้เถียงกับชาวยิวในเรื่องศาสนาเท่านั้น และเปาโลมีความจงรักภักดีต่อรัฐบาลโรมันอยู่ตลอดเวลา ถึงกระนั้นลูกาไม่มีเจตนาเพียงกล่าวถึงเปาโลเพื่อให้เป็นหลักฐานสำหรับการพิจารณาคดีในศาลเท่านั้น เจตนาหลักของลูกาในการเขียน กจ คือเขียนประวัติศาสตร์การก่อกำเนิดของคริสตศาสนา

             4. เจตนาเช่นนี้เห็นได้ชัดจากโครงสร้างของ กจ ดังที่พระดำรัสของพระคริสตเจ้าในตอนแรกของหนังสือสรุปไว้ว่า “ท่านทั้งหลายจะเป็นพยานถึงเราในกรุงเยรูซาเล็ม ทั่วแคว้นยูเดีย แคว้นสะมาเรีย จนถึงสุดปลายแผ่นดิน” (กจ 1:8) เริ่มต้นที่กรุงเยรูซาเล็มอันเป็นที่ที่ความเชื่อหยั่งรากลึกอย่างมั่นคง และคริสตชนกลุ่มแรกเติบโตขึ้นทั้งในปริมาณและพระหรรษทาน (บทที่ 1-5) คริสตชนกลุ่มนี้เริ่มขยายตัวเมื่อชาวยิวที่พูดภาษากรีกกลับใจและนำโลกทรรศน์ที่กว้างกว่าเข้ามาในกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่สเทเฟนถูกประหารชีวิตเป็นมรณสักขีและผู้กลับใจเหล่านี้ถูกขับไล่ออกจากกรุงเยรูซาเล็ม (6:1-8:3) ความเชื่อแผ่ขยายไปทางทิศเหนือสู่แคว้นสะมาเรีย (8:4-25) ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ถึงบริเวณชายทะเล และขึ้นทางเหนืออีกสู่เมืองซีซารียา (8:26-40; 9:32-11:18) เรื่องการกลับใจของเปาโลที่แทรกเข้ามาตรงนี้แสดงว่าความเชื่อได้แผ่ไปถึงเมืองดามัสกัสแล้ว และในไม่ช้าจะแผ่ไปถึงแคว้นซีลีเซียด้วย (9:1-30) ข้อสรุปที่ปิดเรื่องราวตอนนี้ (9:31 ซึ่งเติมชื่อแคว้นกาลิลีเข้าไปด้วย) ต้องการเน้นบ่อยๆ ให้ตระหนักถึงการแผ่ขยายของความเชื่อ ต่อจากนั้น กจ กล่าวถึงการรับข่าวดีที่เมืองอันทิโอก (11:19-26) เมืองอันทิโอกกลายเป็นศูนย์อำนวยการงานธรรมทูตโดยรักษาความสัมพันธ์กับกรุงเยรูซาเล็มไว้อย่างต่อเนื่อง กรุงเยรูซาเล็มยังช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นที่เมืองอันทิโอกเกี่ยวกับงานธรรมทูตด้วย (11:27-30; 15:1-35) การแก้ปัญหาเช่นนี้เปิดโอกาสให้ความเชื่อแผ่ไปสู่คนต่างศาสนาได้มากยิ่งขึ้น หลังจากที่โครเนลิอัสกลับใจ เปโตรถูกจองจำ และเมื่อรับการปลดปล่อยแล้วก็ไปยังสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งเราไม่รู้ว่าเป็นที่ใด (บทที่ 12) ตั้งแต่บทนี้เป็นต้นไป เปาโลเข้ามามีบทบาทโดดเด่นในเรื่องเล่าของลูกา การเดินทางครั้งแรกของเปาโลนำความเชื่อไปถึงเกาะไซปรัสและถึงอาเซียน้อย (บทที่ 13-14) การเดินทางสองครั้งต่อมานำความเชื่อไปจนถึงแคว้นมาซิโดเนียและประเทศกรีซ (15:36-18:22; 18:23-21:17) หลังการเดินทางแต่ละครั้ง เปาโลกลับไปกรุงเยรูซาเล็ม เขาถูกจับกุมที่นั่นและถูกจองจำที่เมืองซีซารียาในเวลาต่อมา (21:18-26:32) และถูกนำตัวไปกรุงโรม ที่นั่นเขายังเป็นธรรมทูตประกาศข่าวดีทั้งๆ ที่ถูกจองจำอยู่ด้วย (บทที่ 27-28) ชาวยิวในสมัยนั้นคิดว่ากรุงเยรูซาเล็มเป็นศูนย์กลางของโลกและกรุงโรม เป็น “สุดปลายแผ่นดิน” เมื่อลูกาเล่าว่าเปาโลมาถึงกรุงโรม จึงนับได้ว่าเรื่องที่ต้องการเล่านั้นจบแล้ว

              เราอาจรู้สึกเสียดายที่ลูกาไม่ได้เขียนว่าอัครสาวกคนอื่นๆ ทำอะไรบ้าง และไม่ได้เล่าถึงการก่อตั้งกลุ่มคริสตชนกลุ่มอื่นๆ เช่นที่กรุงโรมและที่เมืองอเล็กซานเดรีย จากจดหมายที่เปาโลเขียนถึงชาวโรมในระหว่างการเดินทางครั้งที่ 3 เรารู้ว่ามีคริสตชนกลุ่มหนึ่งที่กรุงโรมแล้วก่อนที่เปาโลจะไปที่นั่น ลูกาไม่บอกอะไรเลยเกี่ยวกับงานธรรมทูตของเปโตร นอกเขตปาเลสไตน์ ตั้งแต่บทที่ 13 ลูกาให้ความสนใจเป็นพิเศษแก่เปาโล และกล่าวเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นที่กรุงเยรูซาเล็ม เพราะผู้เผยแผ่ความเชื่อไปสู่คนต่างศาสนาคือคริสตชนชาวยิวที่พูดภาษากรีก ลูกาสนใจพิสูจน์ความจริง 2 ประการนี้ คือ (1) พลังจากพระจิตเจ้าภายในคริสตศาสนาเป็นพลังบันดาลใจให้ความเชื่อแผ่ขยายออกไป (2) หลักคำสอนที่ลูกาสรุปจากการพิจารณาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามหลักฐานที่มีก็เป็นผลมาจากการแนะนำ ของพระจิตเจ้าด้วย

               5. ในที่สุดบทนำนี้เราทำได้เพียงเสนอประเด็นสำคัญของ กจ เท่านั้น ได้แก่

               (1) การประกาศข่าวดี (Kerygma) ของบรรดาอัครสาวก มีสาระสำคัญอยู่ที่ความเชื่อในพระคริสตเจ้า กจ เสนอการประกาศข่าวดีนี้ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งทำให้เราแลเห็นวิวัฒนาการของคำสอนเกี่ยวกับพระคริสตเจ้าได้ ตัวอย่างเช่น คริสตชนในสมัยแรกประกาศแต่เพียงว่าพระเยซูเจ้าผู้ทรงเป็นมนุษย์ทรงชัยชนะ ได้รับศักดิ์ศรีเป็น “องค์พระผู้เป็นเจ้า” เมื่อทรงกลับคืนพระชนมชีพ (2:22-36) แต่ต่อมา เปาโลประกาศว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็น “พระบุตรของพระเจ้า” ด้วย (9:20)

               (2) จากคำปราศรัยต่างๆ เรารู้จักข้อความสำคัญจากพันธสัญญาเดิมซึ่งพระจิตเจ้าทรงดลใจให้คริสตชนใช้เพื่อสอนสัจธรรมเกี่ยวกับพระคริสตเจ้าอย่างเป็นระบบและเป็นข้อพิสูจน์ในการโต้แย้งกับชาวยิว ตัวอย่างเช่นข้อความเกี่ยวกับ “ผู้รับใช้ของพระยาห์เวห์” (3:13, 26; 4:27, 30; 8:32-33) ข้อความเกี่ยวกับโมเสสคนใหม่ (3:22ฯ; 7:20ฯ) ข้อพิสูจน์การกลับคืนพระชนมชีพจาก สดด 16:8-11 (กจ 2:24-32; 13:34-37) และการใช้เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ของอิสราเอล เพื่อเตือนชาวยิวมิให้ต่อต้านพระหรรษทาน (กจ 7:2-53; 13:16-41) แน่นอน คนต่างศาสนาซึ่งไม่รู้จักพระคัมภีร์ต้องการข้อพิสูจน์อื่นที่เข้าใจได้ง่ายกว่านี้ (14:15-17; 17:22-31) หน้าที่อันดับแรกของบรรดาอัครสาวก คือ การเป็น “พยานรู้เห็นเหตุการณ์” (1:8 เชิงอรรถ k) ลูกาจึงสรุปการประกาศข่าวดีของบรรดาอัครสาวก (2:22 เชิงอรรถ h) และเล่าถึงเครื่องหมายอัศจรรย์ที่บรรดาอัครสาวกได้ทำ แต่ปัญหาเร่งด่วนที่สุดสำหรับพระศาสนจักรที่เพิ่งเกิดขึ้นคือการรับคนต่างศาสนาเข้าเป็นสมาชิก กจ ให้รายละเอียดสำคัญเกี่ยวกับปัญหานี้ แต่มิได้กล่าวถึงปัญหาและความขัดแย้งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในกลุ่มคริสตชนสมัยนั้น รวมทั้งความขัดแย้งกับผู้นำด้วย (ดู กท 2:11 เชิงอรรถ h) กลุ่มคริสตชนที่กรุงเยรูซาเล็มซึ่งมียากอบเป็นผู้นำยังคงปฏิบัติตามธรรมบัญญัติของชาวยิวอย่างเคร่งครัด (15:1, 5; 21:20ฯ) แต่ชาวยิวที่พูดภาษากรีก ซึ่งมีสเทเฟนเป็นโฆษกต้องการแยกตนจากการร่วมศาสนพิธีในพระวิหารตามคำเล่าของลูกา เปโตร และโดยเฉพาะเปาโล ทำให้ผู้เข้าประชุมที่กรุงเยรูซาเล็มยอมรับหลักเกณฑ์ที่ว่าความรอดพ้นมาจากความเชื่อในพระคริสตเจ้าเท่านั้น มิติดังกล่าวมีผลทำให้คนต่างศาสนาไม่จำเป็นต้องเข้าสุหนัตและไม่ต้องปฏิบัติตามธรรมบัญญัติของโมเสส กระนั้นก็ดี เนื่องจากว่าความรอดพ้นมาจากอิสราเอล ลูกาจึงเล่าว่าเปาโลไปเทศน์ให้ชาวยิวฟังก่อนเสมอ เมื่อชาวยิวปฏิเสธไม่ยอมรับฟังเท่านั้น เปาโลจึงหันไปเทศน์สอนคนต่างศาสนา (13:5 เชิงอรรถ e)

               (3) กจ ยังให้รายละเอียดสำคัญอีกหลายประการเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของกลุ่มคริสตชนในสมัยแรก เช่นวิธีการภาวนาและการแบ่งปันทรัพย์สินแก่กันของกลุ่มที่กรุงเยรูซาเล็ม การใช้น้ำทำพิธีล้างบาปซึ่งหมายถึงการล้างเดชะพระจิตเจ้า (กจ 1:5 เชิงอรรถ f) พิธีบูชาขอบพระคุณ (ศีลมหาสนิท หรือพิธีมิสซา) (2:42 เชิงอรรถ gg) ความพยายามในการจัดระบบปกครองโดยมี “บรรดาประกาศก” และ “อาจารย์” (13:1 เชิงอรรถ a) การแต่งตั้งผู้ปกครองดูแลสำหรับคริสตชนที่พูดภาษากรีก (ดู 6:5 เชิงอรรถ f) และการแต่งตั้ง “ผู้อาวุโส” ซึ่งเป็นผู้ปกครองดูแลกลุ่มคริสตชนที่กรุงเยรูซาเล็ม (11:30 เชิงอรรถ p) ตลอดจนผู้ซึ่งเปาโลแต่งตั้งขึ้นให้ดูแลกลุ่มคริสตชนต่างๆ ที่เขาได้ก่อตั้ง (14:23)

               (4) การพัฒนาระบบการปกครองเช่นนี้นับว่าเป็นผลการกระทำของพระจิตเจ้าซึ่งคอยแนะนำพระศาสนจักรอยู่ตลอดเวลา พระวรสารของลูกา (ลก 4:1 เชิงอรรถ b) เน้นถึงบทบาทสำคัญของพระจิตเจ้าฉันใด กจ (1:8 เชิงอรรถ j) ก็กล่าวว่าการขยายตัวของพระศาสนจักรเป็นผลของการกระทำอย่างต่อเนื่องของพระจิตเจ้าฉันนั้น ดังนั้น กจ จึงได้ชื่อว่า “พระวรสารของพระจิตเจ้า” เพราะเล่าว่าพระจิตเจ้าทรงบันดาลความชื่นชมและความพิศวงในกิจการของพระเจ้าอยู่บ่อยๆ

               (5) นอกจากความคิดทางเทววิทยาเช่นนี้แล้ว กจ ยังให้รายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอีกมาก ซึ่งเราไม่รู้จากที่อื่น ลูกาบรรยายถึงอารมณ์และความรู้สึกของบุคคลต่างๆ ในเหตุการณ์ที่เขาเล่าไว้ได้อย่างดีเลิศ ข้อความหลายตอนเช่นคำปราศรัยของเปาโลต่อหน้ากษัตริย์อากริปปา (บทที่ 26) และการบรรยายความรู้สึกของบุคคลต่างๆ เมื่อเปาโลอำลาผู้อาวุโสของกลุ่มคริสตชนที่เมืองเอเฟซัส (20:17-38) แสดงว่าลูกาเป็นนักเขียนชั้นยอด

              กจ จึงเป็นหนังสือที่มีคุณค่าอย่างยิ่งและเป็นหนังสือเล่มเดียวที่มีลักษณะวรรณกรรมประเภทนี้ในพันธสัญญาใหม่

             (6) ตัวบทของพันธสัญญาใหม่ตกทอดมาถึงเราเป็นสำเนาคัดลอกโบราณจำนวนมากที่มีความคลาดเคลื่อนเล็กน้อยหลายแห่ง สำหรับ กจ สำเนาคัดลอกโบราณน่าสนใจที่สุดได้แก่  สำเนาคัดลอกกลุ่มที่เรียกว่า “ตัวบทตะวันตก” (Western Text คือ Codex Bezae, คำแปลโบราณทั้งภาษาละตินและภาษาซีเรียค และนักเขียนของพระศาสนจักรยุคแรก) “ตัวบทตะวันตก” นี้แตกต่างจากตัวบทฉบับปรับปรุงที่เมืองอเล็กซานเดรีย เพราะไม่ได้รับการปรับปรุงเชิงวิพากษ์ในสมัยโบราณ จึงมีข้อความหลายตอนที่ผู้คัดลอกได้ปรับปรุงแก้ไขตามใจ แต่ก็มีรายละเอียดน่าสนใจซึ่งไม่พบในสำเนาคัดลอกโบราณฉบับอื่น และอาจเป็นข้อความที่ตรงกับต้นฉบับดั้งเดิมก็ได้ ข้อความแตกต่างที่มีความสำคัญมากๆ จะอธิบายไว้ในเชิงอรรถ

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก