ความรู้เรื่องประกาศก

 

1. พระคัมภีร์ฉบับภาษาฮีบรูรวมหนังสืออิสยาห์ เยเรมีย์ เอเสเคียล และหนังสือรวมข้อเขียนของประกาศก “น้อย” 12 องค์เข้าไว้เป็นหมวดเดียวกันในนามของ “ประกาศกสมัยหลัง” จัดอยู่หลังหนังสือชุด “โยชูวา-พงศ์กษัตริย์” ซึ่งได้ชื่อว่า “ประกาศกดั้งเดิม” ส่วนพระคัมภีร์ฉบับภาษากรีกจัดหนังสือชุด “ประกาศก” ไว้หลังหนังสือเพลงสดุดีและปรีชาญาณ (ซึ่งยังมีชื่อเรียกอีกว่า “ข้อเขียนต่างๆ” หรือ “หนังสือศักดิ์สิทธิ์”) โดยเรียงลำดับแตกต่างจากพระคัมภีร์ฉบับภาษาฮีบรู และยังเพิ่มหนังสือ “เพลงคร่ำครวญ” และ “ดาเนียล” (ซึ่งพระคัมภีร์ฉบับภาษาฮีบรูจัดไว้ในภาค สุดท้ายของพระคัมภีร์) นอกจากนั้นยังมีข้อเขียนเพิ่มเติม ซึ่งไม่มีเขียนหรือรักษาไว้ในพระคัมภีร์ฉบับภาษาฮีบรูเข้ามาอีกด้วย ได้แก่หนังสือ “บารุค” อยู่หลังหนังสือเยเรมีย์ และ “จดหมายของประกาศกเยเรมีย์” อยู่หลังหนังสือ “เพลงคร่ำครวญ” และยังมีส่วนเพิ่มเติมในหนังสือดาเนียลอีกด้วย พระคัมภีร์ฉบับ Vulgata ในพระศาสนจักรละติน ยอมรับการเรียงลำดับของพระคัมภีร์ฉบับภาษากรีก แต่ก็ใช้ลำดับตามพระคัมภีร์ฉบับภาษาฮีบรูโดยจัดหนังสือ “ประกาศกน้อย” ไว้หลัง “ประกาศกใหญ่” ทั้งสี่ท่าน และเพิ่ม “จดหมายของประกาศกเยเรมีย์” กับหนังสือ “บารุค” ไว้หลังหนังสือ “เพลงคร่ำครวญ”

2. ลักษณะและบทบาทของ “ประกาศก”

2. ลักษณะและบทบาทของ “ประกาศก”

           ศาสนาสำคัญๆ ในสมัยโบราณมักจะมีบุคคลพวกหนึ่งซึ่ง “ได้รับการดลใจจากเทพเจ้า” ในรูปแบบต่างๆ มากหรือน้อย ให้ประกาศเรื่องราวที่ได้รับมาจากเทพเจ้า ปรากฏการณ์เช่นนี้มีอยู่จริงๆ ในชนชาติเพื่อนบ้านของชาวอิสราเอล หลักฐานที่พบได้ที่บีบลอส (Byblos) ราวศตวรรษที่ 9 ก่อน ค.ศ. กล่าวถึง “คนทรง” ซึ่งกล่าวคำทำนายขณะกำลังเข้าฌาน และในศตวรรษที่ 8 ก่อน ค.ศ. ก็มีพยานหลักฐานกล่าวถึง “ผู้ทำนาย” และ “ประกาศก” ที่เมืองฮามา (Hama) บนฝั่งแม่น้ำโอ-รนเตส (Orontes) และอีกหลายครั้งยังมีหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่เมืองมารี (Mari) บนฝั่งแม่น้ำยูเฟรติส ในศตวรรษที่ 18 ก่อน ค.ศ. สาระเรื่องราวที่ “ประกาศก” เหล่านี้แจ้งแก่กษัตริย์มีรูปแบบและเนื้อหาคล้ายกับคำสอนของบรรดาประกาศกของอิสราเอลในสมัยแรกๆ ที่พระคัมภีร์กล่าวถึง เช่นที่เราอ่านพบในเรื่องบาลาอัมผู้วิเศษ ที่บาลัคกษัตริย์ชาวโมอับทรงเรียกจากอารัมให้มาสาปแช่งประชากรอิสราเอลใน กดว 22-24 และในเรื่องประกาศ สี่ร้อยห้าสิบคนของพระบาอัลที่พระนางเยเซเบลชาวเมืองไทระทรงเรียก มาเผชิญหน้ากับประกาศกเอลียาห์บนภูเขาคาร์เมล (1 พกษ 18:19-40) พระคัมภีร์ยังกล่าวถึงประกาศกสี่ร้อยคนที่กษัตริย์อาคับทรงขอคำปรึกษา (1 พกษ 22:5-12) เช่นเดียวกับ “ประกาศก” ของพระนางเยเซเบล “ประกาศก” เหล่านี้เป็นกลุ่มบุคคลที่ “เข้าฌาน” และอ้างว่าตนพูดในพระนามพระยาห์เวห์ แม้การกล่าวอ้างเช่นนี้ไม่เป็นความจริง ถึงกระนั้นผู้นับถือพระยาห์เวห์ร่วมสมัยก็ยอมรับว่าสถาบันดังกล่าวไม่ใช่สถาบันที่ไม่ถูกต้อง เรายังพบบุคคลกลุ่มหนึ่งซึ่ง “ได้รับการดลใจ” อยู่ด้วยกันกับซามูเอล (1 ซมอ 10:5; 19:20) และในสมัยประกาศกเอลียาห์ (1 พกษ 18:4) ประกาศกเอลี ชาก็ยังมีความสัมพันธ์กับ “กลุ่มประกาศก” ใน 2 พกษ 2:3-18; 4:38ฯ; 6:1ฯ; 9:1 และในข้อความสุดท้ายนี้เราอ่านพบเรื่องราวของกลุ่ม “ประกาศก” ดังกล่าวเป็นครั้งสุดท้าย นอกเหนือจากการกล่าวพาดพิงถึงใน อมส 7:14 กลุ่มบุคคลดังกล่าวมักจะใช้เครื่องดนตรี (1 ซมอ 10:5) เพื่อช่วยให้เขาได้ “เข้าฌาน” พร้อมกันทั้งกลุ่ม หรือทำให้ประชาชนผู้ฟังได้เคลิบเคลิ้มตามไปด้วย (1 ซมอ 10:10; 19:20-24) หรือมิฉะนั้นก็ใช้การแสดงที่เป็นสัญลักษณ์ (2 พกษ 22:11) เพื่อการนี้

            ครั้งหนึ่ง ประกาศกเอลีชาก็เคยใช้ดนตรีก่อนที่จะประกาศพระวาจา (2 พกษ 3:15) แต่วิธีการที่ประกาศกมักจะใช้เป็นประจำคือ “การกระทำที่เป็นสัญลักษณ์” ประกาศกอาคิยาห์แห่งชิโลห์ได้ทำเช่นนี้ใน 1 พกษ 11:29ฯ และประกาศกอิสยาห์ก็ทำ เช่นเดียวกันใน อสย 20:2-4 ประกาศกเยเรมีย์ทำกิจการที่เป็นสัญลักษณ์บ่อยๆ (ยรม 13:1ฯ; 19:1ฯ; 27:2ฯ) รวมทั้งประกาศกเอเสเคียลด้วย (อสค 4:1-5:4; 12:17, 18; 21:23ฯ; 37:15ฯ) ขณะที่กำลังทำกิจการที่เป็นสัญลักษณ์เช่นนี้ หรือในโอกาสอื่นหลายครั้ง การกระทำดูแปลกประหลาดชวนให้คิดไปว่าผู้ทำเช่นนั้นอาจมีความผิดปกติทางจิตด้วย แต่อาการผิดปกติเช่นนี้เกิดขึ้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ใช่องค์ประกอบสำคัญของภารกิจเฉพาะของบรรดาประกาศกที่พระคัมภีร์บันทึกการกระทำและคำสอนรักษาไว้ให้เรารู้ ในเรื่องนี้เขาทั้งหลายจึงแตกต่างอย่างชัดเจนจากบรรดา “ผู้เข้าทรง” ในหมู่ “คณะประกาศก” สมัยโบราณ

              กระนั้นก็ดี บุคคลที่ “เข้าทรง” เหล่านี้ก็ได้ชื่อเช่นเดียวกับบรรดาประกาศกว่า “nabi” ไม่ต้องสงสัยเลยว่าคำนี้มีรากมาจากคำกริยาที่หมายความว่า “เข้าฌาน” “เข้าทรง” (ดู 1 ซมอ 18:10 และที่อื่นๆ ด้วย) ซึ่งเป็นอากัปกริยาของ “ประกาศก” เหล่านี้บางคน แต่ความหมายในอันดับรองเช่นนี้ไม่สู้จะมีผลมากนักต่อความหมายเดิมของคำนาม ที่น่าจะสัมพันธ์กับรากศัพท์ซึ่งมีความหมายว่า “เรียก” “ประกาศ” ดังนั้นคำว่า “nabi” จึงน่าจะหมายความว่า “ผู้ได้รับเรียก(จากพระเจ้า)” หรือ “ผู้ประกาศ(พระวาจาของพระเจ้า)” ความหมายทั้งสองของคำนี้รวมกันจึงบอกให้เรารู้ลักษณะเฉพาะของ “การประกาศพระวาจา” (prophecy) ในอิสราเอล “ประกาศก” คือผู้ที่นำพระวาจาของพระเจ้ามาอธิบายให้แก่ประชาชน ความหมายที่ว่านี้มีกล่าวไว้สั้นๆ ใน ข้อความคล้ายกันสองตอนใน อพย 4:15-16 อาโรนเป็นผู้อธิบายความหมายถ้อยคำของโมเสส อาโรนเป็น “ปาก” ของโมเสส และโมเสส “เป็นพระเจ้าซึ่งทรงดลใจเขา” ใน อพย 7:1 โมเสสต้องเป็นเหมือน “พระเจ้าสำหรับกษัตริย์ฟาโรห์” และอาโรนจะเป็นเหมือน “ประกาศก” (nabi) ของโมเสส เรายังได้รับคำเตือนให้ระลึกถึงพระวาจาที่พระยาห์เวห์ตรัสแก่ประกาศกเยเรมีย์ว่า “เราเอาคำของเราใส่ในปากของท่าน” (ยรม 1:9) และบรรดาประกาศกก็สำนึกอยู่เสมอว่าคำสอนที่เขาประกาศแก่ประชาชนนั้นมาจากพระเจ้า โดยกล่าวนำถ้อยคำเหล่านี้ว่า “พระยาห์เวห์ตรัสดังนี้ว่า” “นี่คือพระดำรัสของพระยาห์เวห์” หรือ “นี่คือพระวาจาที่พระยาห์เวห์ตรัส”

              พระวาจาเช่นนี้มีพลังผลักดันให้บรรดาประกาศกต้องพูด ประกาศกอาโมสร้องประกาศว่า “พระยาห์เวห์องค์พระผู้เป็นเจ้าได้ตรัส แล้วใครจะไม่ประกาศพระวาจานี้” (อมส 3:8) และประกาศกเยเรมีย์พยายามจะหลีกเลี่ยงไม่ยอมประกาศพระวาจา แต่ก็ไม่สำเร็จ (ยรม 20:7-10)

              ในบางช่วงเวลาของชีวิต บรรดาประกาศกได้รับเรียกจากพระเจ้าโดยที่ไม่อาจต้านทานได้ (อมส 7:15; อสย 6; ดูโดยเฉพาะ ยรม 1:4-10) ให้เป็นผู้ที่พระเจ้าทรงส่งไป (อสย 6:8) ถ้าประกาศกต้องการจะหนีให้พ้นจากการเรียกของพระเจ้า เขาอาจต้องประสบชะตากรรมที่ไม่น่าชื่นชอบนัก ดังที่มีเล่าอยู่ตอนต้นของเรื่องประกาศกโยนาห์ บุคคลเหล่านี้ที่ได้รับเรียกจากพระเจ้าถูกส่งไปประกาศข้อเรียกร้องของพระเจ้า และให้ตนเองเป็น “เครื่องหมาย” เพื่อแสดงพระประสงค์ของพระเจ้า ไม่เพียงแต่ถ้อยคำที่เขาพูดและการกระทำที่เขาปฏิบัติเท่านั้นบอกเรื่องราวเกี่ยวกับพระเจ้า แต่ ชีวิตทั้งชีวิตของเขาก็กล่าวถึงสิ่งที่พระเจ้าทรงปรารถนาจะประกาศด้วย การแต่งงานที่ไม่ประสบความสุขของประกาศกโฮเชยาเป็นสัญลักษณ์ (ฮชย 1-3) ประกาศกอิสยาห์เดินเปลือยกาย (อสย 20:3) เป็นสัญลักษณ์ และใน อสย 8:18 ประกาศกและบุตรทั้งสองคนของเขาก็เป็น “เครื่องหมายอัศจรรย์” สำหรับประชาชน ชีวิตของประกาศกเยเรมีย์เองก็เป็นบทเรียน (ยรม 16) ประกาศกเอเสเคียลก็เป็น “เครื่องหมายสำหรับพงศ์พันธุ์อิสราเอล” เมื่อเขาปฏิบัติตามพระบัญชาที่แปลกประหลาดของพระเจ้า (อสค 4:3; 12:6, 11; 24:24)

              พระเจ้าทรงใช้วิธีการหลายแบบในการสื่อสารแก่บรรดาประกาศกด้วย เช่น โดยให้เห็นนิมิต เช่นใน อสย 6, ใน อสค 1:2, 8; ใน ดนล 8-12, ใน ศคย 1-6 (แต่ส่วนใหญ่จะไม่ใช่นิมิตในเวลากลางคืน ดู กดว 12:6; เทียบ ดนล 7, ศคย 1:8ฯ) หรือโดยตรัสให้ได้ยินพระสุรเสียง แต่ส่วนใหญ่แล้วพระองค์ทรงสื่อสารโดยการดลใจภายใน (ตามปกติเราจึงเข้าใจสูตรที่ว่า “พระยาห์เวห์ตรัสกับข้าพเจ้าว่า...” และตามตัวอักษรว่า“พระวาจาของพระยาห์เวห์มาถึงข้าพเจ้าว่า...”) การดลใจภายในที่ว่านี้บางครั้งอาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดฝัน บางครั้งอาจเป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ธรรมดาสามัญที่สุด เช่นการมองเห็นกิ่งต้นอัลมอนด์ (ยรม 1:11) เห็นกระจาดสองใบใส่ผลมะเดื่อเทศ (ยรม 24) หรือการไปเยี่ยมที่ทำงานของช่างปั้นหม้อ (ยรม 18:1-4) ในทำนองเดียวกัน ประกาศกก็อาจใช้วิธีการต่างๆ เพื่อสื่อ “สาร” ที่ได้รับมาจากพระเจ้าให้ประชาชนได้รับรู้ เช่นกล่าวเป็นบทประพันธ์สั้นๆ เล่าเป็นเรื่องร้อยแก้ว เล่าเรื่องอุปมา หรือกล่าวเป็นคำปราศรัยโดยตรง กล่าวเป็นสูตรทำนายห้วนๆ หรือกล่าวตักเตือนในรูปแบบต่างๆ ใช้เหตุผลวิพากษ์วิจารณ์ กล่าวเป็นคำเทศน์ สุภาษิต เพลงสดุดี เพลงรัก คำประชดประชัน เพลงคร่ำครวญ ฯลฯ

                ความหลากหลายทั้งในการรับและถ่ายทอด “สาร” ที่มาจากพระเจ้าเช่นนี้ ส่วนใหญ่เป็นผลสืบเนื่องมาจากนิสัยใจคอและความสามารถตามธรรมชาติ ของประกาศกแต่ละคน ถึงกระนั้น ทั้งๆ ที่มีความแตกต่างกันเช่นนี้ ประกาศกทุกคนล้วนมีความรู้สำนึกที่เหมือนกันอยู่ประการหนึ่ง นั่นคือ ประกาศกแท้ย่อมมีความรู้สำนึกเต็มที่ว่า ตนเป็นเพียงกระบอกเสียงของพระเจ้าเท่านั้น คำพูดที่ตนกล่าวนั้น แม้จะเป็นคำพูดของตน แต่ก็ไม่ใช่ของตน ประกาศกไม่สงสัยเลยว่าพระวาจาของพระเจ้ามาถึงตนและตนจะต้องส่งต่อไปให้ผู้อื่น ความมั่นใจเช่นนี้มีที่มาอย่างลึกลับ เราอาจกล่าวได้ว่ามาจากฌานพิเศษ เป็นประสบการณ์จากการสัมผัสโดยตรงกับพระเจ้าดังที่เราได้กล่าวแล้ว การที่พระเจ้าเข้าครอบคลุมตัวประกาศกไว้นี้บางครั้งก็ทำให้ประกาศกมีอาการ “ไม่ปกติ” ขึ้นในตัว แต่ทว่าปรากฏการณ์เช่นนี้เป็นเพียง “ของแถม” เช่นที่เกิดขึ้นได้กับผู้บำเพ็ญฌานยิ่งใหญ่บางคน เราจำเป็นต้องกล่าวว่าพระเจ้าทรงแทรกเข้ามายกประกาศกขึ้นไปอยู่ในสภาพทางจิตใจที่ “เหนือปกติ” เช่นเดียวกับที่ทรงกระทำกับผู้บำเพ็ญฌาน ถ้าเราไม่ยอมรับว่าพระเจ้าทรงกระทำเช่นนี้กับประกาศก ประกาศกก็ถูกลดตำแหน่งลงมาอยู่ในระดับเดียวกับจินตกวี หรือมิฉะนั้นก็ต้องกล่าวว่าเขาเป็นเพียงคนเพ้อฝันที่หลงไปเท่านั้น

              3. ประกาศกมักจะไม่สื่อ “สาร” ที่ตนได้รับมาแก่บุคคลเพียงคนเดียว (อสย 22:1ฯ) หรือถ้าเขาทำเช่นนั้น เขาก็คิดถึงคนอื่นๆ ด้วย (ยรม 20:6; อมส 7:17) กษัตริย์ในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบสำหรับชนทั้งชาตินับเป็นข้อยกเว้น ดังที่เราเห็นได้ในกรณีที่ประกาศกนาธันทูลกษัตริย์ดาวิด ประกาศกเอลียาห์ทูลกษัตริย์อาคับ ประกาศกอิสยาห์ทูลกษัตริย์อาคัสและเฮเซคียาห์ ประกาศกเยเรมีย์ทูลกษัตริย์เศเดคียาห์ หลังกลับจากการเนรเทศที่กรุงบาบิโลนแล้ว ประกาศกยังเป็นผู้แจ้งสารจากพระเจ้าแก่ผู้นำชุมชนอิสราเอล (ศคย 3) ดังนั้น ถ้าเราไม่พิจารณาถึงข้อยกเว้นเช่นนี้ เราต้องกล่าวว่าภารกิจของบรรดาประกาศกยิ่งใหญ่ที่มีคำสอนบันทึกเก็บไว้จนถึงสมัยของเรานั้นแตกต่างจากบรรดาประกาศกก่อนหน้านั้นในอิสราเอล หรือต่างจากบรรดาผู้ทำหน้าที่คล้ายๆ กันในแถบตะวันออกกลาง ก็ตรงที่ท่านเหล่านี้แจ้งสารที่ได้รับมาจากพระเจ้าแก่ชนทั้ง ชาติ ทุกๆ ครั้งที่มีการเล่าถึงการเรียกประกาศก พระคัมภีร์กล่าวชัดเจนว่าพระเจ้าทรงมอบพันธกิจให้ประกาศกไปปฏิบัติต่อชนอิสราเอลทั้งชาติ (อสย 6:9; อสค 2:3; อมส 7:15) หรือในกรณีของประกาศกเยเรมีย์ พระเจ้าทรงมอบพันธกิจให้เขาไปปฏิบัติต่อนานาชาติด้วย

               ข่าวสารที่ประกาศกสื่อให้แก่ผู้ฟังนั้นเกี่ยวข้องทั้งกับปัจจุบันและกับอนาคต พันธกิจของประกาศกมุ่งถึงผู้คนร่วมสมัย ประกาศกสื่อให้คนเหล่านี้รู้พระประสงค์ของพระเจ้า แต่ในฐานะที่ประกาศกประกาศพระประสงค์ของพระเจ้าให้มนุษย์รับรู้ เขาก็อยู่เหนือกาลเวลา การเทศน์สอนของเขาได้รับการสนับสนุนและคงอยู่ต่อไป เมื่อเหตุการณ์ที่เขาทำนายว่าจะเกิด ขึ้นนั้น เกิดขึ้นจริงๆ บางครั้งประกาศกจะกล่าวทำนายถึงเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า เมื่อเหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นจริงๆ ก็ทำให้คำพูดของเขาและพันธกิจที่เขาได้รับจากพระเจ้ามีน้ำหนักน่าเชื่อถือ (1 ซมอ 10:1ฯ; อสย 7:14; ยรม 28:15ฯ; 44:29-30) บางครั้งเขากล่าวว่าพระเจ้าจะทรงลงโทษความผิดตามที่ทรงคาดโทษไว้ หรือกล่าวถึงความเจริญรุ่งเรืองเป็นรางวัลของการกลับใจตามที่ทรงขอร้อง บรรดาประกาศกในสมัยหลังๆ ยังมองไปถึงอนาคตที่ไกลกว่านั้น คือมองไปถึงชัยชนะในยุคสุดท้ายของพระเจ้า ถึงกระนั้นในกรณีนี้ด้วย คำสอนของประกาศกก็มีบทสอนสำหรับปัจจุบันอยู่เสมอ กระนั้นก็ดี เนื่องจากว่าประกาศกเป็นเพียงเครื่องมือ ของพระเจ้า คำสอนของประกาศกอาจก้าวเกินขอบเขตบริบททางประวัติศาสตร์ของถ้อยคำที่ประกาศก กล่าว หรืออาจก้าวเกินความเข้าใจของประกาศกด้วย คำกล่าวของประกาศกอาจซ่อนความลึกลับอยู่ด้วยจนกระทั่งเมื่อเหตุการณ์จะเกิดขึ้นในอนาคตตรงตามที่ประกาศกทำนายไว้ บรรดาผู้ฟังจึงจะเข้าใจความลึกลับนั้นได้

                สารที่พระเจ้าทรงสื่อแก่มนุษย์ผ่านทางประกาศกมีอยู่สองแบบด้วยกัน คืออาจเป็นการคาดโทษ หรืออาจเป็นคำปลอบโยนให้กำลังใจ พระเจ้าทรงส่งประกาศกเยเรมีย์ให้ไป “ถอนรากและทำให้พังทลาย ให้ก่อสร้างและให้ปลูก” และ “สาร” จากพระเจ้านี้มักขัดหูผู้ฟัง เป็นการคาดโทษและตำหนิความผิด จนกระทั่งว่าความเคร่งครัดกลายเป็นเครื่องหมายว่าประกาศกท่านนั้นเป็นประกาศกแท้หรือไม่ (ยรม 28:8-9; ดู 1 พกษ 22:8; ยรม 26:16-19 ด้วย) ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าประกาศกแท้คิดอยู่เสมอว่าบาปเป็นสิ่งขัดขวางพระประสงค์ของพระเจ้า แต่กระนั้น ประกาศกก็มิได้ลืมแผนการเรื่องความรอดพ้นเลย “หนังสือบันทึกคำปลอบโยนอิสราเอล” ใน อสย 40-56 เป็นจุดยอดของคำเทศน์สอนของประกาศก และไม่มีเหตุผลใดที่เราจะไปถามว่า ข้อความที่ประกาศกในสมัยโบราณเคยประกาศถึงความสุขที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้น เป็นของแท้หรือไม่ ดังเช่นข้อความที่เราพบใน ฮชย 2:16-25; 11:8-11; 14:2-9; อมส 9:8-15 เมื่อพระเจ้าทรงติดต่อกับมนุษย์นั้น พระกรุณาอภัยโทษกับการลงโทษนั้นเป็นของคู่กันและเสริมกัน

                แม้ว่าพระเจ้าทรงส่งประกาศกมาเทศน์สอนชาวอิสราเอล แต่มุมมองของประกาศกขยายวงกว้างมากกว่านั้น คล้ายกับพระอานุภาพของพระเจ้า ซึ่งเป็นความคิดหลักที่ประกาศกสอน ในหนังสือของประกาศก “ใหญ่” หรือประกาศก “สำคัญ” เราจะพบข้อความที่ประกาศกกล่าวโทษนานาชาติ เช่น อสย 13-23, ยรม 46-51, อสค 25-32 หนังสือประกาศกอาโมสเริ่มด้วยคำพิพากษาซึ่งประกาศกกล่าวโทษชนชาติเพื่อนบ้านของอิสราเอล ประกาศกโอบาดีย์กล่าวประณามชาวเอโดม และประกาศกนาฮูมก็กล่าวโทษกรุงนีนะเวห์อย่างยืดยาว

              ประกาศกแต่ละท่านรู้ดีว่าตนกำลังพูดในพระนามพระเจ้า แต่คนฟังล่ะ รู้สึกเช่นนั้นหรือเปล่า ในพระคัมภีร์มีเรื่องประกาศกเทียมปรากฏมามากกว่าหนึ่งครั้ง ประกาศกดังกล่าวอาจพูดด้วยความจริงใจแต่อาจเข้าใจผิด หรืออาจมีเจตนาหลอกลวงประชาชนโดยตรง ความประพฤติของประกาศกไม่ช่วยให้เราแยกประกาศกเทียมจากประกาศกแท้ได้ ประกาศกเทียมหลอกลวงประชาชนให้เชื่อได้ง่ายๆ และประกาศกแท้ก็จำเป็นต้องบอกให้ประชาชนรู้ถึงกลลวงเช่นนี้ ดังเช่นประกาศกมีคายาห์ เบน อิมลาห์ ทูลกษัตริย์อาคับให้ทรงทราบเรื่องประกาศกเทียมใน 1 พกษ 22:8ฯ หรือประกาศกเยเรมีย์กล่าวโจมตีประกาศก(เทียม)ฮานันยาห์ (ยรม 28) และกล่าวโทษประกาศกเทียมทั่วไปใน ยรม 23 ประกาศกเอเสเคียลก็กล่าวโทษบรรดาประกาศกทั้งชายและหญิงในอิสราเอลใน อสค 13 แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า “สาร” ที่ประกาศกนำมาบอกนั้นมาจากพระเจ้า เราจะรู้จักประกาศกแท้ได้อย่างไร พระคัมภีร์พันธสัญญาเดิมให้มาตรการไว้ 2 ประการ คือ (1) เหตุการณ์เกิดขึ้นจริงตามที่ประกาศกกล่าวทำนายไว้ล่วงหน้า (ฉธบ 18:22; ยรม 28:9; ดู 1 ซมอ 10:1ฯ; อสย 7:14; ยรม 28:15ฯ; 44:29-30) (2) และยังมีมาตรการประการที่สองที่มีความสำคัญมากกว่าด้วย คือคำสอนของประกาศกต้องสอดคล้องกับความเชื่อเกี่ยวกับพระยาห์เวห์ (ฉธบ 13:1-6; ยรม 23:22)

               ข้อความที่เรายกมาอ้างจากหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติแสดงว่า ประกาศกเป็นสถาบันทางการซึ่งศาสนาของชาวอิสราเอลยอมรับ บางครั้งพระคัมภีร์กล่าวถึง “ประกาศก” ควบคู่กับ “สมณะ” (ยรม 8:1; 23:11; 26:7ฯ; ศคย 7:3) และประกาศกเยเรมีย์ยังบอกเราด้วยว่าในพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มมีห้องของเบน-โยฮานัน “คนของพระเจ้า” ซึ่งน่าจะเป็น “ประกาศก” คนหนึ่ง จากข้อความพาดพิงดังกล่าวนี้และจากการที่ถ้อยคำซึ่งประกาศกกล่าวในบางครั้งมีความละม้ายคล้ายกับข้อความที่ใช้ในพิธีกรรม ทำให้นักวิชาการในปัจจุบันบางคนสรุปว่าประกาศกหลายท่าน แม้ประกาศกซึ่งเป็นที่รู้จักดีมากๆ นั้นสังกัดอยู่กับพระวิหารและมีบทบาททางการในการประกอบศาสนพิธีด้วย ถึงกระนั้น สมมติฐานนี้ดูเหมือนจะก้าวเกินข้อมูลจากตัวบทที่เป็นฐานของทฤษฎีนี้มากไปสักหน่อย คำอธิบายเพียงว่าประกาศกบางท่านมีความสัมพันธ์อย่างหลวมๆ กับสักการสถานสำคัญบางแห่งของอิสราเอลน่าจะเป็นคำอธิบายที่ดีพอควรแล้ว หรือยังอธิบายได้อีกว่าคำเทศน์สอนบางตอนของประกาศก โดยเฉพาะฮาบากุก เศคาริยาห์และโยเอล อาจได้รับอิทธิพลจากพิธีกรรมอยู่บ้าง

              เราจะรู้ลักษณะบทบาทของประกาศกได้ก็โดยพิจารณาเหตุการณ์และตัวบทต่างๆ เกี่ยวกับประกาศก ความคิดพื้นฐานจะปรากฏเด่นชัดออกมาจากข้อมูลเหล่านี้ เช่น ประกาศกคือผู้ที่มีประสบการณ์โดยตรง เรื่องพระเจ้า ประกาศกคือผู้ที่พระเจ้าทรงเปิดเผยให้ เห็นความศักดิ์สิทธิ์และพระประสงค์ของพระองค์ ประกาศกพิศเพ่งถึงปัจจุบันและอนาคตในมุมมองของพระเจ้า พระองค์ทรงส่งประกาศกมาเตือนให้มนุษย์คิดถึงหน้าที่ของตนต่อพระเจ้า และนำมนุษย์ให้กลับมาเชื่อฟังและรักพระองค์ ถ้าเราเข้าใจคำประกาศสอนของประกาศกเช่นนี้ แม้เราจะพบว่ามีความละม้ายคล้ายกันกับปรากฏการณ์ของศาสนาอื่นๆ ของชนชาติที่อยู่โดยรอบ ก็จะเห็นได้ว่า “ประกาศก” เป็นบุคคลพิเศษกลุ่มหนึ่งสำหรับอิสราเอลโดยเฉพาะ เป็นบุคคลที่พระเจ้าทรงพระกรุณาจัดไว้ให้เป็นเครื่องมือเพื่อนำทางประชากรที่พระองค์ทรงเลือกสรร

4. ประวัติของขบวนการประกาศก

4. ประวัติของขบวนการประกาศก

              เมื่อทราบคำจำกัดความถึงลักษณะและบทบาทของประกาศกแล้ว เราจึงไม่แปลกใจที่พระคัมภีร์สอนว่าโมเสสเป็นเสมือน “บิดา” ของประกาศกทั้งหลาย (ฉธบ 18:5, 18) และเป็นผู้แทนโดดเด่นที่สุดของบรรดาประกาศก (กดว 12:6-8; ฉธบ 34:10-12) เพราะโมเสสเป็นผู้ที่สนทนากับพระเจ้าโดยตรง และเป็นผู้นำธรรมบัญญัติมามอบให้แก่ประชากรที่ทรงเลือกสรร อภิสิทธิ์ของโมเสสมิได้จบสิ้นไปพร้อมกับเขา แต่ “พระจิตของพระเจ้ายังประทับอยู่ต่อไป” กับโยชูวาผู้สืบตำแหน่งของเขา (กดว 27:18; เทียบ ฉธบ 34:9) ในสมัยผู้วินิจฉัย เรายังพบนางเดโบราห์ประกาศกหญิง (วนฉ 4-5) และประกาศกที่พระคัมภีร์มิได้ออกชื่ออีกท่านหนึ่งใน วนฉ 6:8 ต่อมาเราก็พบว่าซามูเอลเป็นทั้งประกาศกและผู้ทำนาย (1 ซมอ 3:20; 9:9; เทียบ 2 พศด 35:18) ต่อจากนั้น เรายังพบพลังจิตของประกาศกอยู่ทั่วไปในกลุ่มของคนทรงที่มีพฤติกรรมแปลกๆ ดังที่เราเคยกล่าวถึงมาแล้ว (1 ซมอ 10:5; 19:20) หลังจากนี้พระคัมภีร์ยังกล่าวถึงกลุ่มประกาศกที่มีพฤติกรรมไม่สู้จะแปลกประหลาดอะไรนัก พระคัมภีร์เรียกคนกลุ่มนี้ว่า “บุตรของประกาศก” (“sons of the prophets” - 2 พกษ 2) แต่ต่อมาหลังจากนั้นพระคัมภีร์ก็ไม่กล่าวถึงกลุ่มประกาศกเช่นนี้อีก แม้ว่าหลังกลับจากการเนรเทศที่กรุงบาบิโลนแล้ว เรายังพบการกล่าวถึง “บรรดาประกาศก” ในรูปพหูพจน์ (ศคย 7:3) เราไม่รู้ว่า “กลุ่มประกาศก” เหล่านี้มีอิทธิพลอะไรต่อชีวิตทางศาสนาของชาติ มีประกาศกอีกหลายท่านซึ่งไม่ได้มาจาก “กลุ่มประกาศก” เหล่านี้ แต่ก็มีอิทธิพลไม่น้อย เช่นประกาศกชื่อ “กาด” ของกษัตริย์ดาวิด (1 ซมอ 22:5; 2 ซมอ 24:11) ประกาศก “นาธัน” ในสมัยเดียวกัน (2 ซมอ 7:2ฯ; 12:1ฯ; 1 พกษ 1:11ฯ) ในรัชสมัยของกษัตริย์เยโรโบอัมก็มีประกาศกอาคิยาห์ (1 พกษ 11:29ฯ; 14:2ฯ) ประกาศกเยฮูบุตรของฮานานีในรัชสมัยของกษัตริย์บาอาชา (1 พกษ 16:7) ประกาศกเอลียาห์และเอลีชาในรัชสมัยกษัตริย์อาคับและหลังจากนั้น (แทรกอยู่ในเรื่องที่เล่าไว้ใน 1 พกษ 17 ถึง 2 พกษ 13) ประกาศกโยนาห์ในรัชสมัยกษัตริย์เยโรโบอัมที่ 2 (2 พกษ 14:25) ประกาศกหญิงฮุลดาห์ในรัชสมัยกษัตริย์โยสิยาห์ (2 พกษ 22:14ฯ) ประกาศกอุรียาห์ในรัชสมัยกษัตริย์เยโฮยาคิม (ยรม 26:20) และจากหนังสือพงศาวดารก็ยังมีชื่อของประกาศกเชไมยาห์ในรัชสมัยกษัตริย์เยโรโบอัม (2 พศด 12:5ฯ) ประกาศกอิดโดในรัชสมัยกษัตริย์เรโหโบอัมและอาบียาห์ (2 พศด 12:15; 13:22) ประกาศกอาซาริยาห์ในรัชสมัยกษัตริย์อาสา (2 พศด 15:1ฯ) ประกาศกโอเบดในรัชสมัยกษัตริย์อาคัส (2 พศด 28:9ฯ) และประกาศกอีกบางท่านที่พระคัมภีร์ไม่ได้ให้ชื่อไว้

              ประกาศกเหล่านี้ส่วนใหญ่เพียงแต่ถูกกล่าวชื่อเท่านั้น เรารู้เรื่องราวเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับท่านเหล่านี้บางคน ประกาศกนาธันกล่าวทำนายให้กษัตริย์ดาวิดทรงทราบว่าพระเจ้าจะทรงอวยพระพรให้ราชวงศ์ดำรงอยู่ตลอดไป คำทำนายนี้เป็นจุดเริ่มต้นของคำทำนายอื่นๆ ที่จะตามมาเสมือนสายโซ่ และจะมีความชัดเจนยิ่งขึ้นเกี่ยวกับพระเมสสิยาห์ ซึ่งจะสืบเชื้อสายจากราชวงศ์ของกษัตริย์ดาวิด (2 ซมอ 7:1-17) ประกาศกท่านนี้ยังทูลตำหนิกษัตริย์ดาวิดที่ทรงเป็นชู้กับนางบัทเชบา และเมื่อทรงสำนึกถึงบาปแล้ว ก็ทูลว่าพระเจ้าทรงอภัยบาปให้พระองค์ด้วย (2 ซมอ 12:1-25) เรารู้จักเรื่องราวของประกาศกเอลียาห์และเอลีชาดีพอสมควรจากหนังสือพงศ์กษัตริย์ ประกาศกเอลียาห์แสดงตนเป็นผู้ปกป้องความเชื่อต่อพระเจ้าเที่ยงแท้ ขณะที่การนับถือเทพเจ้าที่ชนต่างชาตินำเข้ามากำลังคุกคามศาสนาของพระยาห์เวห์บนภูเขาคารเมล ประกาศกเอลียาห์มีชัยชนะเด็ดขาดเหนือประกาศกของพระบาอัล (1 พกษ 18) แต่ก็ต้องหนีความอาฆาตของพระนางเยเซเบลไปที่ภูเขาโฮเรบ ภูเขาแห่งพันธสัญญา การที่เขาพบพระเจ้าที่นั่นแสดงว่างานของเขามีความสัมพันธ์กับงานของโมเสส (1 พกษ 19) นอกจากเป็นผู้ปกป้องความเชื่อต่อพระยาห์เวห์แล้ว ประกาศกเอลียาห์ยังเป็นผู้พิทักษ์ศีลธรรมด้วย เขาทูลกษัตริย์อาคับโดยไม่เกรงพระทัยว่าพระเจ้าได้ทรงตัดสินลงโทษพระองค์แล้วเพราะทรงประหารชีวิตนาโบทเพื่อทรงช่วงชิงกรรมสิทธิ์สวนองุ่นของเขามา (1 พกษ 21) ประกาศกเอลียาห์ได้รับความเคารพนับถืออย่างมากจากประชาชน พระคัมภีร์เล่าถึงการจากโลกนี้ไปของเขาอย่างลึกลับ (2 พกษ 2:1-18) และยิ่งเวลาผ่านไป ธรรมประเพณีของชาวยิวเกี่ยวกับประกาศกท่านนี้ก็ยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น ส่วนประกาศกเอลีชานั้นแตกต่างไปจากประกาศกเอลียาห์ เขาเป็นประกาศกสันโดษแยกจากสังคม แต่ก็มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ร่วมสมัย เช่นในสงครามกับชาวโมอับ (2 พกษ 3) ในสงครามกับชาวซีเรีย (2 พกษ 6-7) ในการที่ฮาซาเอลเข้ายึดอำนาจเป็นกษัตริย์ที่กรุงดามัสกัส (2 พกษ 8:7-15) ในการที่เยฮูเข้ายึดอำนาจเป็นกษัตริย์ของอาณาจักรอิสราเอล (2 พกษ 9:1-3) ผู้มีอำนาจต้องมาปรึกษาเขา เช่น กษัตริย์เยโฮอาชแห่งอิสราเอล (2 พกษ 13:14-19) เบนฮาดัดกษัตริย์ที่กรุงดามัสกัส (2 พกษ 8:7-8) นาอามานแม่ทัพชาวซีเรีย (2 พกษ 5) ประกาศกเอลีชายังเกี่ยวข้องกับ “กลุ่มประกาศก” ที่มีเรื่องเล่าถึงอัศจรรย์หลายเรื่องเกี่ยวกับเขาด้วย (2 พกษ 4:1-7, 38-44; 6:1-7)

           โดยปกติแล้วเราได้รายละเอียดเกือบทั้งหมดเกี่ยวกับประกาศกจากพระคัมภีร์ เราจะแยกกล่าวถึงประกาศกเหล่านี้แต่ละคนเมื่อเราจะศึกษาหนังสือที่มีชื่อของเขา เป็นการเพียงพอแล้วในขณะนี้ที่จะกล่าวว่า ประกาศกแต่ละคนมีบทบาทอย่างไรในขบวนการประกาศก และชี้ให้เห็นว่า ประกาศกแต่ละคนมีเอกลักษณ์อะไรพิเศษบ้างเมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้านั้น บรรดาประกาศกมักจะเข้ามามีบทบาทในช่วงเวลาวิกฤติ ก่อนหรือร่วมสมัยกับจุดหักเหในประวัติศาสตร์ของชาติ เช่นเมื่ออาณาจักรเหนือถูกชาวอัสซีเรียคุกคามและถูกทำลาย เมื่ออาณาจักรยูดาห์ถูกทำลายและประชาชนถูกจับเป็นเชลยไปกรุงบาบิโลน เมื่อการเนรเทศสิ้นสุดและประชากรจะกลับจากการเนรเทศ ประกาศกมิได้มีแต่ข่าวสารสำหรับกษัตริย์เท่านั้น แต่ยังมีสำหรับประชาชนด้วย ในเมื่อ “สาร” เหล่านี้ยังมีความสำคัญสำหรับทุกคนด้วย จึงถูกบันทึกลงไว้และยังคงมีอิทธิพลต่อไปสำหรับทุกคน ช่วงเวลาปฏิบัติภารกิจของประกาศกอาโมส ประกาศกคนแรกในบรรดาประกาศกเหล่านี้ อยู่ราวกลางศตวรรษที่ 8 ก่อน ค.ศ. คือราว 50 ปีหลังจากที่ประกาศกเอลีชาถึงแก่มรณภาพแล้ว และช่วงเวลาสำคัญของบรรดาประกาศก (ซึ่งยืดเยื้ออยู่ เกือบสองศตวรรษ) ดำเนินต่อมาจนถึงการถูกจับเป็นเชลยไปกรุงบาบิโลน ในระยะเวลาช่วงนี้มีประกาศกยิ่งใหญ่สองคนคือ อิสยาห์ และเยเรมีย์ แต่ในช่วงเวลานี้ก็ยังมีประกาศกอีกหลายคนได้แก่ โฮเชยา มีคาห์ นาฮูม เศฟันยาห์ และฮาบากุก ประกาศกเอเสเคียลซึ่งประกาศพระวาจาในช่วงเวลาเนรเทศที่กรุงบาบิโลน เริ่มภารกิจของตนเมื่อภารกิจของเยเรมีย์จบลง ในช่วงเวลาของประกาศกเอเสเคียลนี้บรรยากาศของประกาศกก็เปลี่ยนไปด้วย การประกาศพระวาจาอย่างมีชีวิตชีวาและไม่สนใจนักที่จะขัดเกลาถ้อยคำนั้นลดน้อยลง มีการใช้ “นิมิต” บ่อยและซับซ้อนมากขึ้น มีการบรรยายถึง “นิมิต” เหล่านี้อย่างละเอียด และมีความสนใจต่อ “ยุคสุดท้าย” เพิ่มขึ้น กล่าวสั้นๆ ก็คือ วรรณกรรมแบบ “วิวรณ์” เริ่มปรากฏขึ้น ถึงกระนั้นในช่วงเวลานี้ ธรรมประเพณีที่สำคัญของประกาศกอิสยาห์ก็ยังมีอยู่สืบต่อมาและได้รับการพัฒนาขึ้นใน อสย 40-55 (ซึ่งได้ชื่อว่า “หนังสือบันทึกคำปลอบโยนอิสราเอล”) ประกาศกฮักกัยและเศคาริยาห์ในสมัยกลับจากการเนรเทศที่กรุงบาบิโลนมีมุมมองแคบลง ประกาศกทั้งสองคนนี้สนใจถึงแต่เรื่องการก่อสร้างพระวิหารขึ้นใหม่เท่านั้น หลังจากนั้นก็มีประกาศกมาลาคีที่กล่าวถึงความบกพร่องของชุมชนชาวอิสราเอล ซึ่งเพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่ในแผ่นดินยูดาห์ หนังสือประกาศกโยนาห์ซึ่งมีความยาวไม่มากนักจะตามมา โดยนำข้อความจากพระคัมภีร์ก่อนหน้านั้นมาปรับปรุงเรียบเรียงขึ้นใหม่เพื่อเป็นบทสอนใหม่แก่ประชาชน หนังสือโยนาห์นี้เป็นการเริ่มวรรณกรรมรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “midrash” ในหนังสือโยเอลและในภาคสองของเศคาริยาห์เราพบวรรณกรรมแบบ “วิวรณ์” อย่างที่เคยพบในหนังสือเอเสเคียลอีกเช่นเดียวกับในหนังสือดาเนียล ภาพของอดีตและอนาคตมาพบกัน กลายเป็น “นิมิต” ยิ่งใหญ่ที่อยู่เหนือกาลเวลา เป็นนิมิตถึงความชั่วร้ายที่ถูกทำลายและการมาถึงของ “พระอาณาจักรของพระเจ้า” ดูเหมือนว่า ณ จุดนี้การดลใจบรรดาประกาศกสิ้นสุดลง เราจึงเริ่มได้ยินสำนวนที่กล่าวถึง “ประกาศกในอดีต” (ดนล 9:6, 10) และเทียบข้อความก่อนหน้านั้นใน ศคย 7:7, 12 แต่ ศคย 13:2-6 มองล่วงหน้าเห็นจุดจบของหน้าที่ประกาศกเพราะประกาศกเทียมจะมาทำให้หน้าที่นี้หมดความน่าเชื่อถือไป แต่ประกาศกโยเอล (ยอล 3:1-5) ก็สัญญาไว้ว่าพระเจ้าจะหลั่งพระจิตเจ้าลงมาในยุคพระเมสสิยาห์ และพระ สัญญานี้ก็เป็นความจริงในวันเปนเตกอสเต (ดู กจ 2:16ฯ) เหตุการณ์นี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นแท้จริงของยุคใหม่ที่เมื่อยอห์นผู้ทำพิธีล้างออกเทศน์สอนประชาชน จึงนับได้ว่ายอห์นคือประกาศกคนสุดท้ายของพันธสัญญาเดิม เขาคือ “ประกาศก และยิ่งกว่าประกาศกอีก” (มธ 11:9; ลก 7:26)

5. คำสอนของบรรดาประกาศก

5. คำสอนของบรรดาประกาศก

          บรรดาประกาศกมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาด้านศาสนาของชนชาติอิสราเอล บุคคลเหล่านี้พยายามสอนประชาชนให้ซื่อสัตย์ต่อศาสนาเที่ยงแท้ของพระยาห์เวห์ แต่ยิ่งกว่านั้น เขายังเป็นผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกไว้พิเศษ เพื่อพระองค์จะได้ทรงเปิดเผยความจริงมากยิ่งขึ้นให้แก่มนุษยชาติ ในกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ประกาศกแต่ละคนล้วนมีบทบาทหน้าที่พิเศษของตนในการเสริมความรู้เรื่องพระเจ้าให้สมบูรณ์ขึ้น คำสั่งสอนเฉพาะเหล่านี้มีส่วนช่วยทำให้ประชากรมีความรู้ความเข้าใจถึงพระเจ้าได้สมบูรณ์ขึ้น นับเป็นการถ่ายทอดและย้ำความคิดทางเทววิทยาของพันธสัญญาเดิมสืบต่อมาในเรื่องสำคัญ 3 เรื่อง คือ เอกเทวนิยม (Monotheism) คำสอนในเรื่องศีลธรรม และในเรื่องความรอดพ้นที่พระเจ้าจะประทานให้ในอนาคต

           เอกเทวนิยม : ชาวอิสราเอลต้องใช้เวลาหลายศตวรรษเพื่อจะให้คำนิยามด้านปรัชญาในเรื่อง “เอกเทวนิยม” คือการยืนยันว่าพระเจ้ามีเพียงพระองค์เดียว ดังนั้น จึงไม่มีพระเจ้าอื่นใดอีก เป็นที่ยอมรับกันมาตลอดเวลาหลายศตวรรษว่าชนแต่ละชาติต่างก็มีพระเจ้าของตน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องอะไรกับอิสราเอล ชนชาติอิสราเอลยอมรับพระยาห์เวห์แต่เพียงพระองค์เดียว พระยาห์เวห์นี้ทรงพระอานุภาพเหนือบรรดา “พระเจ้า” หรือ “เทพเจ้า” ทั้งมวล และทรงเรียกร้องให้มนุษย์ถวายเกียรติแด่พระองค์เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น คำเทศน์สอนของบรรดาประกาศกค่อยๆ เปลี่ยนแปลงความคิดและการปฏิบัติดังที่กล่าวนี้ ให้มาเป็นการให้คำนิยามแบบนามธรรมเรื่อง “เอกเทวนิยม” นี้ได้ เมื่อประกาศกอาโมส ซึ่งเป็นประกาศกคนแรกที่พระคัมภีร์บันทึกคำสอนไว้ กล่าวถึงพระยาห์เวห์ว่าทรงเป็นพระเจ้า ทรงเป็นเจ้านายของธรรมชาติ รวมทั้งของมนุษย์และเหตุการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้น เขาก็ทำเพียงย้ำความจริงที่เคยเชื่อกันมาเพื่อสนับสนุนการคาดโทษที่พระองค์จะทรงกระทำต่อประชากรที่ไม่เชื่อฟังพระองค์เท่านั้น แต่ทว่าคำสั่งสอนและข้อเรียกร้องของความเชื่อแต่โบราณนี้ก็ปรากฏชัดยิ่งๆ ขึ้น จากการที่ทรงเปิดเผยพระองค์ที่ภูเขาซีนายผูกพันอยู่กับความคิดเรื่องการเลือกสรรและพันธสัญญานั้น อาจทำให้คิดไปได้ว่าพระยาห์เวห์ทรงเป็นพระเจ้าของชนชาติอิสราเอลเพียงชาติเดียว ทรงผูกพันอยู่กับแผ่นดินและสักการสถานต่างๆ ของชนชาตินี้เท่านั้น จริงอยู่ที่บรรดาประกาศกย้ำถึงความสัมพันธ์แน่นแฟ้นของพระยาห์เวห์กับชนชาติที่ทรงเลือกสร และเขาเหล่านี้ก็ยังสอนด้วยว่าชะตากรรมของชนชาติอื่นๆ ก็อยู่ในพระหัตถ์พระองค์ด้วย (อมส 9:7) พระองค์ประทับนั่งเป็นผู้พิพากษาชนชาติเล็กน้อยเช่นเดียวกับที่ทรงพิพากษาบรรดาจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ด้วย (อมส 1-2; ดู “คำประกาศพระวาจากล่าวโทษชนชาติต่างๆ” ด้วย) พระองค์ประทานอำนาจให้แก่จักรวรรดิยิ่งใหญ่เหล่านี้และทรงเรียกอำนาจนี้กลับคืนมาด้วย (ยรม 27:5-8) พระองค์ทรงใช้จักรวรรดิเหล่านี้เป็นเครื่องมือและเป็นอาวุธเพื่อทรงลงโทษผู้ทำผิด (อมส 6:11; อสย 7:18-19; 10:6; ยรม 5:15-17) และจะทรงเลิกใช้เมื่อใดก็ได้ตามที่พอพระทัย (อสย 10:12) แผ่นดินอิสราเอลเป็นสมบัติของพระยาห์เวห์ (ยรม 7:7) พระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มเป็นที่ประทับของพระองค์ (อสย 6; ยรม 7:10-11) แต่ประกาศกหลายท่านก็กล่าวล่วงหน้าว่าพระวิหารจะถูกทำลาย (ยรม 7:12-14; มคา 3:12) ประกาศกเอเสเคียลยังแลเห็นล่วงหน้าด้วยว่า พระสิริรุ่งโรจน์ของพระยาห์เวห์กำลังออกไปจากกรุงเยรูซาเล็ม (อสค 10:18-22; 11:22-23)

           ไม่มีที่สำหรับพระเจ้าอื่นใดให้มาอยู่เคียงคู่กับพระยาห์เวห์ เจ้านายแห่งสากลจักรวาลเลย เมื่อมีการเคารพนับถือพระเจ้าของชนต่างชาติหรือมีการประนีประนอมกับกิจการเหล่านี้ ก็นับว่าความเชื่อของอิสราเอลกำลังถูกภัยคุกคาม บรรดาประกาศกจึงมักจะย้ำว่าพระเจ้าเท็จเทียมเหล่านี้ไม่มีอำนาจทำอะไรได้ และรูปเคารพต่างๆ ก็เป็นสิ่งไร้ค่า (ยรม 2:5-13, 27-28; 5:7; 16:20; ฮชย 2:7-15) ในช่วงเวลาการเนรเทศที่กรุงบาบิโลน เมื่อความหวังของชาติล่มสลายลงและพระอานุภาพของพระยาห์เวห์ดูเหมือนว่าประสบความพ่ายแพ้ ประกาศกอิสยาห์ที่สองก็ยิ่งใช้ถ้อยคำรุนแรงขึ้น และให้เหตุผลชัดเจนขึ้นในการกล่าวโทษรูปเคารพ (อสย 40:19-20; 41:6-7, 21-24; 44:9-20; 46:17; ดู ยรม 10:1-16) และในช่วงเวลาหลังจากนั้น (ดู “จดหมายของเยเรมีย์”; บรค 6 และ ดนล 14) คำสอนเรื่องเอกเทวนิยมมีความชัดเจนเต็มที่ (อสย 44:6-8; 46:1-7,  9)

            พระเจ้าพระองค์นี้ทรงอยู่เหนือสรรพสิ่ง (transcendent - โลกุตระ) ลักษณะประการนี้เองทำให้บรรดาประกาศกนิยมใช้คำว่า “ศักดิ์สิทธิ์” (Holy) ซึ่งเป็นความคิดหลักในการเทศน์สอนของประกาศกอิสยาห์ (อสย 6 และในที่อื่นอีกหลายแห่ง: 1:4; 5:19, 24; 10:17, 20) น่าจะดูข้อความตอนอื่นอีกด้วย เช่น อสย 40:25; 41:14, 16, 20; ยรม 50:29; 51:5; ฮชย 11:9; ฮบก 1:12; 3:3 พระองค์ทรงมีความลึกลับห้อมล้อมอยู่ (อสย 6; อสค 1) และทรงอยู่เหนือ “บรรดาบุตรของมนุษย์” อย่างไร้ขอบเขต (ประกาศกเอเสเคียลชอบใช้วลี “บุตรของมนุษย์” นี้ตลอดเวลาเพื่อเน้นระยะห่างระหว่างประกาศกกับพระเจ้าซึ่งตรัสกับตน) แต่ถึงกระนั้นพระองค์ก็ทรงอยู่ใกล้ๆ เพราะทรงพระกรุณาต่อมนุษย์ และยิ่งกว่าทรงพระกรุณาเสียอีก ประกาศกโฮเชยาและเยเรมีย์กล่าวเปรียบเทียบถึงพระองค์ว่า ความรักที่พระยาห์เวห์ทรงมีต่ออิสราเอลนั้นเป็นเหมือนกับความรักในการแต่งงานของพระองค์กับอิสราเอล (ฮชย 2; ยรม 2:2-7; 3:6-8) ประกาศกเอเสเคียลยังกล่าวถึงความรักนี้โดยเล่าเป็นเรื่องอุปมานิทัศน์ใน อสค 16 และ 23 อีกด้วย

             คำสอนเรื่องศีลธรรม : พระเจ้าทรงเป็นความศักดิ์สิทธิ์อย่างสมบูรณ์ มนุษย์เป็นสิ่งที่มีมลทิน (อสย 6:5) ความมั่นใจเช่นนี้ทำให้บรรดาประกาศกเข้าใจชัดเจนว่าบาปคืออะไร สำคัญอย่างไร มุมมองด้านศีลธรรมเช่นนี้ไม่ใช่ของใหม่ เพราะมีซ่อนอยู่ในบัญญัติสิบประการมาแต่โบราณแล้ว ประกาศกนาธันก็มีมุมมองเช่นนี้เมื่อเขาเข้าไปตำหนิความผิดของกษัตริย์ดาวิดใน 2 ซมอ 12 และเมื่อประกาศกเอลียาห์กล่าวโทษกษัตริย์อาคับใน 1 พกษ 21 แต่เรื่องความผิดถูกทางศีลธรรมนี้เป็นข้อคิดที่พระคัมภีร์กล่าวย้ำบ่อยๆ ในหนังสือของบรรดาประกาศก บาปคือสิ่งที่แยกมนุษย์จากพระเจ้า (อสย 59:2) เพราะบาปเป็นการทำผิดต่อพระเจ้าผู้ทรงช่วยให้รอดพ้น (อมส) ผิดต่อพระเจ้าผู้ทรงรัก (ฮชย) ผิดต่อพระเจ้าผู้ทรงความศักดิ์สิทธิ์ (อสย) เราอาจกล่าวได้ว่าบาปเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในมุมมองของประกาศกเยเรมีย์ บาปมีผลต่อชนทั้งชาติ นำหายนะมาสู่ประชากรอิสราเอลจนแทบจะทำให้หมดหวัง (ยรม 13:23) ความชั่วร้ายมีอยู่ทั่วไปและเรียกร้องการลงโทษจากพระเจ้า เรียกร้องให้การพิพากษาอย่างเคร่งครัดใน “วันของพระยาห์เวห์” (อสย 2:6-22; 5:18-20; ฮชย 5:9-14; ยอล 2:1-2; ศฟย 1:14-18) ได้มาถึงอย่างแน่นอน จนทำให้ประกาศกเยเรมีย์คิดว่าเอกลักษณ์แท้จริงของการประกาศพระวาจาก็คือการประกาศล่วงหน้าถึงหายนะที่จะมาถึง (ยรม 28:8-9) ในเมื่อบาปเป็นกิจการส่วนรวมของชนทั้งชาติ การลงโทษบาปก็ต้องเป็นโทษส่วนรวมสำหรับชนทั้งชาติด้วย ถึงกระนั้น ยรม 31:29-30 ยังคำนึงถึงการลงโทษปัจเจกบุคคลอีกด้วย (เทียบ ฉธบ 24:16) และประกาศกเอเสเคียลก็ย้ำความคิดนี้ใน อสค 18 ด้วยเช่นเดียวกัน (เทียบ 33:10-20)

            แต่ความคิดที่เราเรียกว่า “เอกเทวนิยมเกี่ยวกับศีลธรรม” (ethical monotheism) ของบรรดาประกาศกก็มิใช่รูปแบบหนึ่งของการต่อต้านกฎเกณฑ์ ความคิดเกี่ยวกับศีลธรรมของบรรดาประกาศกมีธรรมบัญญัติที่พระเจ้าประกาศไว้เป็นฐานรองรับ แต่บ่อยๆ ธรรมบัญญัตินี้มักถูกเข้าใจผิดหรือถูกฝ่าฝืน (ดูคำเทศน์ของประกาศกเยเรมีย์ใน ยรม 7:5-10 เป็นตัวอย่างเพื่อจะเห็นว่าคำสอนนี้เกี่ยวข้องกับพระบัญญัติสิบประการอย่างไรบ้าง)

             ควบคู่กับการปฏิบัติตามธรรมบัญญัตินี้ ยังต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งด้วยว่าศาสนาเรียกร้องอะไรบ้าง ผู้ใดต้องการพ้นจากการลงโทษเพราะบาปจะต้อง “แสวงหาพระเจ้า” (ยรม 50:4; อมส 5:4; ศฟย 2:3) วลีนี้มีความหมายดังที่ประกาศกเศฟันยาห์อธิบายไว้ คือหมายถึงการปฏิบัติตามพระบัญญัติของพระเจ้า พยายามปฏิบัติอย่างถูกต้อง มีความถ่อมตน (ดู อสย 1:17; ฮชย 10:12; อมส 5:24; มคา 6:8) พระเจ้าทรงเรียกร้องการถือศาสนาด้วยจิตใจหรือจากใจจริง และประกาศกเยเรมีย์ก็ประกาศว่านี่คือเงื่อนไขของพันธสัญญาซึ่งจะมาถึงในอนาคต (ยรม 31:31-34) ศาสนาและคารวกิจภายนอกต้องมีเจตนารมณ์เช่นนี้ บรรดาประกาศกกล่าวบ่อยๆ ตำหนิพิธีกรรมภายนอกที่ไม่สัมพันธ์กับความประพฤติทางศีลธรรม (อสย 1:11-17; ยรม 6:20; ฮชย 6:6; มคา 6:6-8) แต่ก็ไม่ถูกต้องที่จะคิดว่าบรรดาประกาศกเป็นอริกับพิธีกรรมทางศาสนาในฐานะที่เป็นพิธีภายนอก ประกาศกหลายท่าน เช่น
เอเสเคียล ฮักกัยและเศคาริยาห์ ให้ความสำคัญอย่างมากต่อการปฏิบัติคารวกิจส่วนรวมและต่อพระวิหาร

              ความรอดพ้นที่จะมาในอนาคต : ถึงกระนั้นการลงโทษก็มิใช่พระวาจาสุดท้ายของพระเจ้า พระองค์ไม่ทรงปรารถนาให้ประชากรของพระองค์ต้องพินาศ แม้ว่าเขาอาจทรยศต่อพระองค์ครั้งแล้วครั้งเล่า พระองค์ก็ไม่ทรงยกเลิกพระสัญญาที่ทรงทำไว้กับเขา พระองค์จะทรงโปรดให้ “ประชากรที่เหลือ” (a “remnant”) ส่วนหนึ่งรอดชีวิตอยู่ต่อไป (อสย 4:3ค) ความคิดนี้ยังปรากฏมาอีกใน อมส 5:15 และจะได้รับการพัฒนาและนิยามให้ชัดเจนยิ่งขึ้นในคำสอนของประกาศกในช่วงเวลาหลังจากนั้น บรรดาประกาศกมีความคิดในแบบสามมิติที่แยกการลงโทษซึ่งจะมาถึงในไม่ช้ากับการตัดสินลงโทษในยุคสุดท้าย เพราะฉะนั้น “ประชากรที่เหลืออยู่” จึงเป็นได้ทั้งผู้ที่รอดชีวิตอยู่จากหายนะที่กำลังจะมาถึง และอาจหมายถึงผู้ที่จะได้รับความรอดพ้นในยุคสุดท้ายก็ได้ เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เท่านั้นทำให้เราเห็นความแตกต่างนี้ได้อย่างชัดเจน วิกฤติการณ์หนึ่งอาจเกิดขึ้นต่อจากอีกวิกฤติการณ์หนึ่ง ผู้ที่รอดจากวิกฤติการณ์แต่ละครั้งล้วนเป็น “ประชากรที่เหลืออยู่” เช่นประชากรของอาณาจักรอิสราเอลที่ต้องทนทุกข์และรอดชีวิตจากการทำลายกรุงสะมาเรีย (อมส 5:15) หรืออาจเป็นประชากรชาวยูดาห์ในสมัยที่กษัตริย์เซนนาเคริบทรงยกทัพมารุกรานอาณาจักรยูดาห์ (อสย 37:31-32) หรืออาจหมายถึงประชาชนที่ถูกจับเป็นเชลยไปกรุงบาบิโลนเมื่อกรุงเยรูซาเล็มถูกทำลายในปี 587 ก่อน ค.ศ. (ยรม 24:8) “ประชากรที่เหลืออยู่” ยังอาจหมายถึงประชากรที่กลับจากการเนรเทศที่กรุงบาบิโลนมายังแผ่นดินปาเลสไตน์ก็ได้ด้วย (อสร 9:8, 13-15; ศคย 8:6, 11, 12) แต่ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติการณ์ใด บรรดาผู้ที่รอดชีวิตเหล่านี้นับได้ว่าเป็นหน่อที่จะแตกออกเป็นต้นไม้ต่อไป เป็นแก่นแท้ของชนชาติศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งพระเจ้าทรงให้คำมั่นว่าจะมีอนาคตยิ่งใหญ่ (อสย 11:10; 37:31; อสค 37:12-14; มคา 4:7; 5:6-7; ศคย 8:11-13)

               ในช่วงเวลาที่จะมาถึงในอนาคตนี้ จะมีความสุขอย่างที่ประชากรที่พระเจ้าทรงเลือกสรรไม่เคยรู้จักมาก่อน ประชากรของอาณาจักรอิสราเอลและอาณาจักรยูดาห์ซึ่งกระจัดกระจายไปอยู่กับชนชาติต่างๆ จะกลับมายังแผ่นดินแห่งพระสัญญา (อสย 11:12-13; ยรม 30-31) ซึ่งจะมีความอุดมสมบูรณ์อย่างยิ่ง (อสย 30:23-26; 32:15-17) และประชากรของพระเจ้ามีชัยชนะต่อศัตรูที่เคยข่มเหงตน (มคา 4:11-13; 5:6-8) ถึงกระนั้น ความรุ่งเรืองด้านวัตถุและอำนาจไม่ใช่หัวใจของสิ่งที่ประกาศกหวัง สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงสิ่งประกอบของการที่พระเจ้าจะทรงปกครองเท่านั้น ความหวังแท้จริงในเรื่องนี้มีมิติที่ลึกซึ้งด้านจิตใจ คือคุณธรรมและความศักดิ์สิทธิ์ (อสย 29:19-24) การดำเนินชีวิตแบบใหม่และการอภัยความผิดที่พระเจ้าประทานให้ (ยรม 31:31-34) การรู้จักพระเจ้าอย่างแท้จริง (อสย 2:3; 11:9; ยรม 31:34) สันติและความยินดี (อสย 2:4; 9:6; 11:6-8; 29:19)

                พระยาห์เวห์จะทรงแต่งตั้งผู้แทนพระองค์ในโลกนี้ เพื่อสถาปนาและปกครองพระอาณาจักรในอุดมการณ์นี้ ผู้แทนพระองค์ผู้นี้ในเวลาเดียวกันจะเป็นทั้งบุตรบุญธรรมและข้าราชบริพารของพระองค์ พูดสั้นๆ ก็คือเขาจะเป็นผู้ปกครองในโลกนี้ตามอุดมการณ์ เราจะรู้จักเขาในนาม “ผู้รับเจิมของพระยาห์เวห์” (หรือ “พระเมสสิยาห์” ในภาษาฮีบรู) ประกาศกนาธันซึ่งสัญญากับกษัตริย์ดาวิดว่าจะทรงมีราชวงศ์ที่คงอยู่ตลอดไป (2 ซมอ 7) เป็นคนแรกที่กล่าวถึงบทบาทของ “พระเมสสิยาห์-กษัตริย์” ความคิดนี้จะสะท้อนในเพลงสดุดีหลายบท ดังนั้น แม้ว่ากษัตริย์ส่วนใหญ่ในราชวงศ์กษัตริย์ดาวิดจะทรงประพฤติชั่วร้าย และทำให้ประชาชนต้องผิดหวัง เราก็พบว่าประกาศกอิสยาห์ มีคาห์ และเยเรมีย์ ยังกล่าวย้ำถึงกษัตริย์พระองค์หนึ่งในอนาคตใกล้หรือไกล “พระเมสสิยาห์” พระองค์นี้จะทรงสืบเชื้อสายจากราชวงศ์กษัตริย์ดาวิด (อสย 11:1; ยรม 23:5 = 33:15) จะมาจากเมืองเบธเลเฮม-เอฟราธาห์ เหมือนกษัตริย์ดาวิด (มคา 5:1) พระองค์จะทรงรับตำแหน่งสูงส่งเท่าที่มนุษย์จะคาดคิดได้ (อสย 9:5) และพระจิตของพระยาห์เวห์จะสถิตเหนือพระเมสสิยาห์พระองค์นี้พร้อมกับพระพรต่างๆ ของพระองค์ (อสย 11:1-5) สำหรับประกาศกอิสยาห์ พระเมสสิยาห์นี้คือ “อิมมานูเอล” (“พระเจ้าสถิตกับเรา” อสย 7:14) สำหรับประกาศกเยเรมีย์ พระเมสสิยาห์นี้คือ “พระยาห์เวห์ทรงเป็นความชอบธรรมของเรา” (Yahweh zidqenu - ยรม 23:6) นามตำแหน่งทั้งสองนี้รวมอุดมการณ์แท้จริงเรื่องพระเมสสิยาห์ไว้ทั้งหมด

                 ความหวังดังกล่าวนี้ มิได้จบไปกับการที่ชนชาติอิสราเอลต้องสูญเสียอำนาจปกครองทางการเมือง และประชาชนต้องถูกจับเป็นเชลยเนรเทศไปกรุงบาบิโลน แม้ว่าประกาศกฮักกัยและเศคาริยาห์จะได้ชวนประชากรให้มีความหวังเกี่ยวกับพระเมสสิยาห์ในตัวเศรุบบาเบล ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์กษัตริย์ดาวิด ถึงกระนั้นความหวังว่าพระเมสสิยาห์จะทรงเป็นกษัตริย์ปกครองด้วยนั้นก็จางหายไป จะไม่มีเชื้อพระวงศ์กษัตริย์ดาวิดองค์ใดได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ และในอิสราเอลก็จะไม่มีกษัตริย์ปกครองอีกต่อไป ประชากรอิสราเอลถูกผนวกเข้าอยู่ในจักรวรรดิระดับโลกของชนต่างชาติ (อาณาจักรเปอร์เซียและอาณาจักรกรีกในเวลาต่อมา) จริงอยู่ที่ประกาศกเอเสเคียลยังมองไปในอนาคตว่าจะมี “ดาวิด” องค์ใหม่มาปกครอง แต่ประกาศกก็กล่าวถึงบุคคลผู้นี้ว่าเป็นเพียง “เจ้านาย” ไม่ใช่ “กษัตริย์” และพรรณนาว่าเขาจะเป็นเสมือน “คนกลาง” และ “ผู้อภิบาล” (shepherd) มากกว่าจะเป็นกษัตริย์ผู้ทรงอำนาจ (อสค 34:23-24; 37:24-25) ประกาศกเศคาริยาห์กล่าวพยากรณ์ว่าจะมีกษัตริย์พระองค์หนึ่งเสด็จมา แต่พระองค์จะทรงต่ำต้อยและใฝ่สันติ ไม่ใช่นักรบผู้พิชิตทรงอำนาจ (ศคย 9:9-10) ส่วนสำหรับประกาศกอิสยาห์ที่สอง “ผู้รับเจิมของพระยาห์เวห์” ผู้นี้ไม่ใช่เชื้อสายจากราชวงศ์ดาวิด แต่จะเป็นกษัตริย์ไซรัส แห่งเปอร์เซีย (อสย 45:1) ซึ่งพระเจ้าจะทรงใช้เพื่อปลดปล่อยประชากรของพระองค์ แต่ประกาศกคนเดียวกันนี้ยังกล่าวพรรณนาถึง “ผู้ช่วยให้รอดพ้น” อีกแบบหนึ่ง ซึ่งได้แก่ “ผู้รับใช้ของพระยาห์เวห์” บุคคลท่านนี้จะเป็นผู้สอนประชากรของตนและจะเป็นแสงสว่างส่องนานาชาติ เทศน์สอนมวลมนุษย์ให้รู้จักพระบัญญัติของพระเจ้า แม้จะต้องถูกประชากรของตนเยาะเย้ยและไม่ยอมรับ แต่เขาก็จะยอมสละชีวิตของตนเพื่อช่วยให้ประชากรได้รอดพ้น (อสย 42:1-7; 49:1-9; 50:4-9 และโดยเฉพาะ 52:13 - 53:12) ถึงกระนั้น แนวความคิดเก่าๆ ก็ยังหวนกลับมาอีก ในช่วงเวลาก่อนคริสตกาลไม่นานนัก ประชาชนทั่วไปยังมีความหวังว่าพระเมสสิยาห์ที่ทรงเป็นกษัตริย์ปกครองด้วยจะเสด็จมากอบกู้ในไม่ช้า ประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งยังหวังว่าจะมีพระเมสสิยาห์ซึ่งทรงเป็นสมณะด้วย และยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่หวังในพระเมสสิยาห์ “เหนือธรรมชาติ”

                 กลุ่มคริสตชนในสมัยแรกนำข้อความทั้งหมดนี้ของบรรดาประกาศกมาใช้กับพระเยซูเจ้า แม้ว่าทีแรกดูเหมือนว่าข้อความเหล่านี้จะมีความขัดแย้งกันเองอยู่ด้วย พระองค์คือ “พระเยซู” (ภาษาฮีบรู “โยชูวา” ซึ่งแปลว่า “ผู้ช่วยให้รอดพ้น”) พระองค์คือ “พระคริสต์” (“Christos” ในภาษากรีก ส่วนภาษาฮีบรูว่า “เมสสิยาห์” ซึ่งแปลว่า “ผู้รับเจิม”) พระองค์ทรงสืบเชื้อสายจากราชวงศ์กษัตริย์ดาวิด ประสูติที่เมืองเบธเลเฮม ทรงเป็นกษัตริย์แห่งสันติที่ประกาศกเศคาริยาห์กล่าวทำนายไว้ ทรงเป็น “ผู้รับใช้พระยาห์เวห์” ตามคำกล่าวของประกาศกอิสยาห์ที่สอง ทรงเป็น “อิมมานูเอล” (พระเจ้าสถิตกับเรา) ตามคำทำนายของประกาศกอิสยาห์ และยังทรงเป็น “บุตรแห่งมนุษย์” ซึ่งลงมาจากสวรรค์ตามที่ดาเนียลได้เห็นในนิมิตด้วย แต่เราต้องไม่ปล่อยให้การกล่าวพาดพิงถึงคำทำนายโบราณเหล่านี้ทำให้ความเชื่อของคริสตชนที่ว่าพระคริสตเจ้าคือองค์พระเมสสิยาห์ โดยมีพระบุคคลและพระชนมชีพของพระเยซูเจ้าเป็นฐานรองรับอยู่นี้ ต้องขาดเอกลักษณ์เฉพาะของตนไป ถ้าพระคริสตเจ้าทรงทำให้คำกล่าวของบรรดาประกาศกเป็นความจริง พระองค์ก็ทรงกระทำเช่นนั้นในแบบที่สูงส่งกว่า พระองค์เองทรงปฏิเสธความคิดทางการเมืองที่ประชาชนทั่วไปเคยมีสืบต่อกันมาว่าพระเมสสิยาห์คือผู้ปกครองในทางโลก

6. หนังสือของบรรดาประกาศก

6. หนังสือของบรรดาประกาศก

           เรามักจะเรียกบรรดาประกาศก ที่มีหนังสือในนามของท่านปรากฏรวมอยู่ในพระคัมภีร์ว่า “ประกาศกผู้เขียนหนังสือ” (“Writing Prophets” หรือ “Literary Prophets”) แต่การเรียกเช่นนี้ไม่เหมาะเลย จากการที่เราเคยกล่าวไว้เกี่ยวกับบทบาทของบรรดาประกาศก เราเห็นได้ชัดว่าประกาศกไม่ใช่ “นักเขียน” ก่อนอื่นใดหมด ประกาศกเป็นนักพูด นักเทศน์ คำสั่งสอนของบรรดาประกาศกแต่ดั้งเดิมเป็นเพียงคำพูด จึงมีคำถามว่า “แล้วคำสอนเหล่านี้กลายมาเป็นหนังสือได้อย่างไร”

           เนื้อหาสาระของหนังสือเหล่านี้แบ่งได้เป็นสามแบบ คือ (1) “การประกาศพระวาจา” (prophetic sayings) ซึ่งเป็นพระวาจาที่พระเจ้าตรัสโดยตรง หรือตรัสอาศัยประกาศกที่กล่าวพระวาจาในพระนามพระเจ้า หรือมิฉะนั้น ก็เป็นข้อความที่เป็นคำประพันธ์ซึ่งถ่ายทอดคำสอน คำทำนาย การคาดโทษ หรือพระสัญญา ฯลฯ จากพระเจ้า (2) เรื่องราวที่เขียนในบุรุษที่หนึ่ง เป็นการที่ประกาศกเล่าถึงประสบการณ์ของตน โดยเฉพาะเรื่องการที่พระเจ้าทรงเรียกตนให้มารับภารกิจเป็นประกาศก (3) เรื่องราวที่เขียนในบุรุษที่สาม ซึ่งเล่าถึงเหตุการณ์ในชีวิตของประกาศก หรือสภาพแวดล้อมที่ประกาศกกำลังปฏิบัติภารกิจของตนอยู่ ลักษณะทางวรรณกรรมของข้อความทั้งสามแบบนี้ไม่มีความขัดแย้งกัน อันที่จริง ข้อความตอนที่เป็นเรื่องเล่าบ่อย ๆ มักจะมี “การประกาศพระวาจา” หรือ “คำเทศน์สอน” รวมอยู่ด้วย

           ข้อความที่เขียนในบุรุษที่สามแสดงว่าผู้เขียนเป็นผู้อื่น ไม่ใช่ประกาศกผู้นั้น เรามีข้อพิสูจน์ชัดเจนถึงเรื่องนี้ในหนังสือประกาศกเยเรมีย์ ยรม 36:4 กล่าวไว้ชัดเจนว่าประกาศกบอกให้บารุค เลขานุการของตน บันทึกข้อความที่ตนได้กล่าวในพระนามพระเจ้าตลอดระยะเวลา 23 ปี (ดู ยรม 25:3) และเมื่อกษัตริย์เยโฮยาคิมทรงเผาม้วนหนังสือที่บันทึกข้อความเหล่านี้ (ยรม 36:23) บารุคคนเดิมก็ได้เขียนถ้อยคำเหล่านี้ขึ้นมาใหม่เป็นหนังสืออีกม้วนหนึ่ง เรายังกล่าวได้อีกว่าบารุคผู้นี้เองได้เขียนเรื่องราวประวัติของประกาศกตอนที่ตามมาด้วย (ยรม 37:44) แม้ว่าข้อความตอนนี้จบลงด้วย
ถ้อยคำที่ประกาศกเยเรมีย์กล่าวบรรเทาใจบารุคก็ตาม (ยรม 45:1-5) ยังมีข้อสังเกตด้วยว่าหนังสือม้วนที่สองที่บารุคเขียนนั้น (ยรม 36:32) มี “ข้อความเพิ่มเติมหลายคำคล้าย ๆ กัน” อยู่ด้วย (ที่บารุคหรือคนอื่นเขียนเพิ่ม)

           การเรียบเรียงหนังสือประกาศกฉบับอื่นๆ ก็คงเกิดขึ้นในสถานการณ์คล้ายๆ กัน เป็นไปได้ที่ประกาศกเป็นผู้เขียนหรือบอกให้ผู้อื่นเขียนคำประกาศพระวาจา หรือเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับประสบการณ์ของตนส่วนหนึ่ง (ดู อสย 8:1; 30:8; ยรม 30:2; 51:60; อสค 43:11; ฮบก 2:2) บรรดาผู้ติดตามประกาศก หรือศิษย์ของคนเหล่านี้ (จาก อสย 8:16 เรารู้ว่าประกาศกอิสยาห์มีศิษย์หลายคน) อาจเป็นผู้เก็บรักษาถ้อยคำและเรื่องราวเกี่ยวกับประกาศกไว้บางส่วนและบอกเล่าต่อๆ กันมาอย่างซื่อสัตย์ คนกลุ่มเดียวกันนี้คงต้องเก็บรักษาเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของประกาศกและคำประกาศพระวาจาของประกาศกไว้ด้วย ตัวอย่างเช่น ธรรมประเพณีเกี่ยวกับประกาศกอิสยาห์ที่ถูกผนวกเข้ากับหนังสือพงศ์กษัตริย์ (2 พกษ 18-20) แล้วย้ายจากหนังสือพงศ์กษัตริย์นี้เข้ามาบันทึกไว้ในหนังสือ
อิสยาห์ (อสย 36-39) ในทำนองเดียวกัน เรื่องพิพาทระหว่างประกาศกอาโมสกับสมณะอามาซิยาห์ (อมส 7:10-17) ก็คงถูกบันทึกและถ่ายทอดไว้เช่นนี้ด้วย

           ข้อความหน่วยสั้นๆ เหล่านี้หลายๆ หน่วยถูกรวมกันเข้าจัดเป็นหมวดหมู่ คำประกาศพระวาจา (prophecies) ที่เกี่ยวข้องกัน หรือข้อความที่กล่าวถึง เรื่องเดียวกัน (เช่น คำกล่าวโทษนานาชาติในหนังสือประกาศกอิสยาห์ เยเรมีย์ เอเสเคียล) หรือคำคาดโทษอย่างรุนแรงว่าประชากรจะไม่ได้รับความรอดพ้นตามพระสัญญา (เช่นในหนังสือประกาศกมีคาห์) จะถูกนำมาจัดรวมไว้ด้วยกัน ข้อความเหล่านี้ทั้งหมดกลายเป็นเรื่องราวสำหรับอ่านและคิดคำนึง ซึ่งจะช่วยให้อนุชนรุ่นต่อๆ มาได้รักษาเจตนารมณ์ของประกาศกที่ผ่านมาในอดีต ให้ยังคงเป็นปัจจุบันอยู่ต่อไป เพราะฉะนั้นบุคคลร่วมสมัยของประกาศกเยเรมีย์ จึงอ้างถึงคำประกาศพระวาจาของประกาศกมีคาห์ (ยรม 26:17-18) และยังกล่าวพาดพิงถึงประกาศกอื่นๆ ก่อนหน้านั้นด้วย (ยรม 28:8) การกล่าวพาดพิงเช่นนี้ กลายเป็นสูตรที่เราพบได้บ่อยๆ ใน ยรม 7:25; 25:4; 26:5; ดู อสร 9:11; ดนล 9:6; 10; ศคย 1:4-6; 7:7, 12 กลุ่มบรรดาผู้เลื่อมใสต่อบรรดาประกาศกเป็นผู้เก็บรักษาหนังสือของประกาศกไว้ให้เป็นปัจจุบัน เพื่อให้หนังสือเหล่านี้เป็นเสมือนอาหารหล่อเลี้ยงความเชื่อและความศรัทธา จริงอยู่ เช่นเดียวกับในกรณีม้วนหนังสือของบารุค (ยรม 36:32) มี “ข้อความเพิ่มเติมหลายคำคล้ายๆ กัน” ที่ได้รับการดลใจจากพระเจ้าอยู่ด้วย เพื่อปรับให้หนังสือเหมาะกับความต้องการด้านจิตใจของยุคใหม่ หรือเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น ในบางครั้ง ดังที่เราจะเห็นเมื่อจะกล่าวถึงหนังสืออิสยาห์และเศคาริยาห์ ข้อความเพิ่มเติมเช่นนี้มีปริมาณไม่น้อยทีเดียว เมื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความเช่นนี้ ผู้ที่เป็นศิษย์หรือทายาทของบรรดาประกาศกคิดว่าตนกำลังเก็บรักษาขุมทรัพย์ที่ตนได้รับมาจากอาจารย์เอาไว้ และพร้อมกันนั้นยังทำให้ขุมทรัพย์นี้ยิ่งมีความหมายมากขึ้นอีกด้วย

             7. ในพระคัมภีร์ภาษาฮีบรู และในฉบับแปลภาษากรีกและละติน รวมทั้งในสำนวนแปลฉบับนี้ หนังสือของประกาศก “ใหญ่” ทั้งสี่ท่านเรียงไว้ตามลำดับเวลาก่อนหลัง ส่วนลำดับของหนังสือประกาศก “น้อย” ทั้งสิบสองท่านนั้นเรียงไว้ตามสบายโดยไม่มีหลักเกณฑ์อะไร แต่เราจะพิจารณาหนังสือเหล่านี้ตามลำดับเวลาที่เรียบเรียงเท่าที่เราอาจกำหนดลำดับเวลาได้

8. ประกาศกอิสยาห์

8. ประกาศกอิสยาห์

            ประกาศกอิสยาห์เกิดราวปี 765 ก่อน ค.ศ. พระเจ้าทรงเรียกท่านในพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มให้เป็นประกาศกในปีที่กษัตริย์อุสซียาห์สวรรคต คือปี 740 ก่อน ค.ศ. พันธกิจของท่านคือการประกาศให้รู้ว่าอาณาจักรอิสราเอลและยูดาห์จะต้องล่มสลาย เป็นการลงโทษที่ประชากรไม่ซื่อสัตย์ต่อพระยาห์เวห์ (6:1-13) ประกาศกอิสยาห์ปฏิบัติภารกิจของท่านเป็นเวลา 40 ปี ในช่วงเวลาดังกล่าว จักรวรรดิอัสซีเรียเป็นภัยคุกคามมากยิ่งๆ ขึ้นทั้งต่ออาณาจักรอิสราเอลและต่ออาณาจักรยูดาห์ เราอาจแบ่งช่วงเวลาที่อิสยาห์ประกาศพระวาจาเป็นสี่ระยะได้ชัดเจนพอควรดังนี้ (1) ช่วงแรกเป็นช่วงเวลา 3-4 ปีตั้งแต่ได้รับเรียกให้เป็นประกาศกจนถึงปีที่กษัตริย์อาคัสขึ้นครองราชย์ คือปี 736 ก่อน ค.ศ. ในช่วงเวลานี้ประกาศกอิสยาห์ให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อความเสื่อมศีลธรรมซึ่งเป็นผลมาจากความเจริญรุ่งเรืองของอาณาจักรยูดาห์ (บทที่ 1-5) (2) เวลาช่วงที่สองคือช่วงที่เรซีนกษัตริย์ของกรุงดามัสกัส และเปคาห์กษัตริย์แห่งอาณาจักรอิสราเอล ทรงพยายามชักชวนยุวกษัตริย์แห่งยูดาห์ให้เข้าร่วมเป็นพันธมิตร เพื่อต่อต้านการรุกรานของกษัตริย์ทีกลัท-ปีเลเสอร์แห่งอัสซีเรีย เมื่อกษัตริย์อาคัสไม่ทรงยอมเข้าร่วมเป็นพันธมิตรด้วย กษัตริย์ทั้งสองพระองค์ก็ทรงยกทัพมาจู่โจมอาณาจักรยูดาห์ กษัตริย์อาคัสจึงทรงขอความช่วยเหลือจากอัสซีเรีย ประกาศกอิสยาห์จึงเข้ามามีบทบาทในเหตุการณ์นี้ พยายามทูลทัดทานกษัตริย์อาคัสมิให้ทรงใช้แผนการตามความคิดแบบมนุษย์เท่านั้น แต่ก็ทูลทัดทานไม่สำเร็จ ประกาศกประกาศข้อความที่เกี่ยวกับ “อิมมานูเอล” ในช่วงเวลาช่วงนี้ (ส่วนใหญ่ของ 7:11-11:9 รวมทั้ง 5:26-29 [?]; 17:1-6; 28:1-4 ด้วย) หลังจากที่ประกอบภารกิจต่อกษัตริย์อาคัสไม่สำเร็จ ประกาศกอิสยาห์ก็เลิกไม่เกี่ยวข้องกับภารกิจเรื่องการเมือง (ดู 8:16-18) (3) ระยะเวลาช่วงที่สาม การที่กษัตริย์อาคัสทรงขอความช่วยเหลือจากกษัตริย์ทีกลัท-ปีเลเสอร์ ทำให้อาณาจักรยูดาห์เป็นประเทศราชโดยพฤตินัยเพื่อได้รับการปกป้องของจักรวรรดิอัสซีเรีย ช่วยเร่งทำให้อาณาจักรเหนือ (อิสราเอล) ต้องล่มสลายเร็วขึ้น ดินแดนส่วนหนึ่งของอาณาจักรเหนือถูกผนวกเข้ากับอัสซีเรียในปี 734 ก่อน ค.ศ. และในปี 721 ก่อน ค.ศ. กรุงสะมาเรียก็ถูกทำลาย ส่วนในอาณาจักรยูดาห์ กษัตริย์เฮเซคียาห์ ซึ่งทรงสืบราชสมบัติต่อจากกษัตริย์อาคัสในปี 716 ก่อน ค.ศ. ทรงเป็นกษัตริย์ที่ศรัทธาต่อพระยาห์เวห์ จึงทรงมีแนวโน้มจะพยายามปฏิรูปการศาสนา ถึงกระนั้นกุศโลบายทางการเมืองก็ยังถูกนำกลับมาใช้อีก คราวนี้อาณาจักรยูดาห์ไปขอความช่วยเหลือจากอียิปต์ให้มาคานกำลังต่อต้านอัสซีเรีย ข้อความใน อสย 14:28-32; 18; 20; 28:2-22; 29:1-14; 30:8-17 น่าจะมาจากช่วงเวลาต้นรัชกาลของกษัตริย์เฮเซคียาห์ นครรัฐอัชโดดของชาวฟีลิสเตียแข็งข้อเป็นกบฏไม่ยอมขึ้นกับอัสซีเรีย จึงถูกกษัตริย์ซาร์กอนปราบลงในปี 711 ก่อน ค.ศ. (อสย 20) หลังจากนั้นประกาศกอิสยาห์ก็ถอนตัวไม่ประกาศพระวาจาไประยะหนึ่ง (4) ประกาศกเริ่มประกาศพระวาจาอีกครั้งหนึ่งในปี 705 ก่อน ค.ศ. เมื่อกษัตริย์เฮเซคียาห์ทรงถูกชักชวนให้เข้าร่วมแข็งข้อเป็นกบฏต่ออัสซีเรีย กษัตริย์เซนนาเคริบแห่งอัสซีเรียจึงทรงยาตราทัพมาบุกปาเลสไตน์ในปี 701 ก่อน ค.ศ. กษัตริย์เฮเซคียาห์แห่งยูดาห์ทรงตัดสินพระทัยจะปกป้องกรุงเยรูซาเล็ม ประกาศกอิสยาห์สนับสนุนพระองค์ในการต่อต้านครั้งนี้ ให้คำมั่นแก่พระองค์ว่าพระเจ้าจะทรงช่วยเหลือและกรุงเยรูซาเล็มราชธานีก็รอดพ้นอันตราย ช่วงเวลาสุดท้ายนี้เป็นช่วงเวลาที่ประกาศกได้ประกาศพระวาจาอย่างน้อยที่มีบันทึกไว้ใน อสย 1:49 [?]; 10:5-15, 27ข-32; 14:24-27 รวมทั้งข้อความในบทที่ 28-32 ส่วนที่นักวิชาการยังไม่คิดว่ามาจากช่วงเวลาก่อนหน้านั้น เราไม่รู้ว่าหลังจากปี 700 ก่อน ค.ศ. แล้วมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้างกับประกาศกอิสยาห์ ชาวยิวมีธรรมประเพณีเล่าต่อกันมาว่าประกาศกอิสยาห์ถูกประหารชีวิตเป็นมรณสักขีในรัชสมัยของกษัตริย์มนัสเสห์ พระโอรสที่สืบราชสมบัติต่อจากกษัตริย์เฮเซคียาห์

              การที่ประกาศกอิสยาห์มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ของชาติ ทำให้ประกาศกกลายเป็นบุคคลสำคัญระดับชาติ เขายังเป็นกวีที่มีพรสวรรค์อีกด้วย ลีลาการเขียนที่ชวนอ่านและภาพพจน์ที่สดใสทำให้ผลงานของเขามีความโดดเด่นในวรรณกรรมของพระคัมภีร์ ข้อความที่เป็นร้อยแก้วมีความกระชับ มีลีลาสง่าน่าฟังอย่างที่ไม่มีนักเขียนคนใดในพระคัมภีร์ ทั้งก่อนและหลังเขียนดีกว่าได้เลย แต่ทว่าเหนือสิ่งใดอื่นทั้งหมด ความยิ่งใหญ่ของเขาอยู่ในเรื่องเกี่ยวกับศาสนา นิมิตที่เขาเห็นในพระวิหารเมื่อพระเจ้าทรงเรียกเขาให้มาเป็นประกาศกนั้น เป็นการเปิดเผยถึงความเป็น “โลกุตระ” (“Transcendence”) ของพระเจ้า และแสดงความไร้ค่าของมนุษย์เฉพาะพระพักตร์พระเจ้า ซึ่งทำให้เขามีความประทับใจตลอดไป ความคิดของเขาเรื่องพระเจ้ามีลักษณะความน่ายินดีก็จริง แต่ก็มีความน่ายำเกรงรวมอยู่ด้วย พระเจ้าคือผู้ทรงความศักดิ์สิทธิ์ ทรงพลัง ทรงพระอานุภาพ ทรงเป็นกษัตริย์ มนุษย์เป็นเพียงสิ่งสร้างที่แปดเปื้อนด้วยบาปที่พระเจ้าทรงเรียกร้องให้มีการชดเชยแก้ไข พระเจ้าทรงย้ำให้ประชากรมีความยุติธรรมต่อกันและมีความจริงใจในการแสดงคารวกิจต่อพระองค์ พระเจ้าทรงเรียกร้องความซื่อสัตย์ และอิสยาห์คือประกาศกที่เน้นถึงความเชื่อ ในช่วงเวลาวิกฤติของชาติ เขาสั่งให้ทุกคนมีความวางใจต่อพระเจ้าเท่านั้น ไม่ต้องวางใจใครอื่นใดทั้งสิ้น การวางใจต่อพระเจ้าเพียงอย่างเดียวเท่านั้นจะนำความรอดพ้นมาให้ เขารู้ดีว่าประชากรจะถูกพระเจ้าทรงทดสอบอย่างหนัก แต่เขาก็หวังว่าจะมีประชากรส่วนหนึ่งที่จะ “รอดชีวิตเหลืออยู่” พร้อมกับพระเมสสิยาห์ซึ่งจะทรงเป็นกษัตริย์ปกครอง อิสยาห์เป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดาประกาศกซึ่งกล่าวถึงพระเมสสิยาห์ เขากล่าวพยากรณ์ถึงพระเมสสิยาห์ว่าจะทรงสืบเชื้อสายจากราชวงศ์กษัตริย์ดาวิด พระองค์จะทรงสถาปนาสันติภาพและความยุติธรรมบนแผ่นดิน และจะทรงเผยแผ่ความรู้จักพระเจ้าแก่มวลมนุษย์ (อสย 2:1-5; 7:10-17; 9:1-6; 11:1-9; 28:16-17)

              อัจฉริยบุคคลทางศาสนาที่มีคุณลักษณะเช่นนี้ ต้องทำให้ประชากรร่วมสมัยรู้สึกประทับใจมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และต้องมีศิษย์ติดตามเป็นจำนวนมาก ซึ่งเก็บรักษาถ้อยคำที่เขาประกาศไว้และยังเพิ่มเติมความคิดใหม่ๆ เข้าไปอีกด้วย หนังสือในพระคัมภีร์ที่มีชื่อของเขาจึงเป็นผลจากกระบวนการเรียบเรียงต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานาน ซึ่งเราไม่อาจกำหนดขั้นตอนต่างๆ ได้อย่างชัดเจน การจัดเรียบเรียงเนื้อหาของหนังสือในรูปแบบสุดท้ายจึงเหมือนกับในกรณีของหนังสือประกาศกเยเรมีย์ (ฉบับแปลภาษากรีก) และหนังสือของประกาศกเอเสเคียล ซึ่งมีลำดับดังนี้คือ (1) คำ เทศนากล่าวโทษกรุงเยรูซาเล็มและอาณาจักรยูดาห์ (บทที่ 1-12) (2) การประกาศพระวาจากล่าวโทษนานาชาติ (บทที่ 13-23) (3) คำสัญญาถึงอนาคต (บทที่ 24-35) แต่ลำดับการเรียบเรียงก็มิได้เคร่งครัดดังนี้เสมอไป และการวิเคราะห์ที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นแล้วว่าการเรียงลำดับก่อนหลังของเนื้อหาในหนังสือสอดคล้องเพียงบางส่วนเท่านั้น กับลำดับเวลาของเหตุการณ์ในชีวิตการปฏิบัติงานของประกาศก เนื้อหาในหนังสือได้รับการเรียบเรียงมาจากคำเทศน์สอนของประกาศกที่มีผู้เก็บรักษาไว้เป็นชุดๆ อยู่ก่อนแล้ว คำเทศน์สอนบางชุดอาจย้อนกลับไปได้ถึงสมัยของประกาศก (ดู อสย 8:16; 30:8) บรรดาศิษย์ที่ใกล้ชิดหรือศิษย์ในสมัยหลังได้รวบรวมคำสอนชุดอื่นๆ และบางครั้งก็ได้เพิ่มข้อความอธิบายคำเทศน์สอนของอาจารย์ลงไปด้วยหรือเพิ่มคำเทศน์สอนอื่นเข้าไปอีก คำกล่าวโทษนานาชาติซึ่งรวบรวมไว้ในบทที่ 13-23 ยังรวมเอาถ้อยคำที่ถูกกล่าวในภายหลังเข้ามาด้วย โดยเฉพาะบทที่ 13-14 ซึ่งกล่าวโทษกรุงบาบิโลน (ในสมัยเนรเทศ) ข้อความเพิ่มเติมที่มีความยาวกว่านั้นคือตอนที่เรียกว่า “วิวรณ์ของประกาศกอิสยาห์” (“the Apocalypse of Isaiah”) ในบทที่ 24-27 ซึ่งเมื่อพิจารณาจากรูปแบบวรรณกรรมและเนื้อหาคำสอนแล้ว ไม่มีทางจะเขียนขึ้นได้ก่อนศตวรรษที่ 5 ก่อน ค.ศ. ยังมีข้อความเกี่ยวกับพิธีกรรมสมัยหลังเนรเทศในบทที่ 33 และ “วิวรณ์ชุดเล็ก” ("a little Apocalypse”) ในบทที่ 34-35 ซึ่งได้รับอิทธิพลจากประกาศก “อิสยาห์ที่สอง” ในที่สุดในบทที่ 36-39 ยังเป็นเรื่องราวกิจการของประกาศกอิสยาห์ในช่วงเวลาที่กษัตริย์เซนนาเคริบทรงล้อมกรุงเยรูซาเล็ม ข้อความตอนนี้คัดลอกจาก 2 พกษ 18-19 มาเพิ่มไว้เป็น “ภาคผนวก” พร้อมกับเพลงสดุดีขอบพระคุณใน อสย 38:9-20 ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นคำภาวนาของกษัตริย์เฮเซคียาห์อีกด้วย

               9. หนังสือประกาศกอิสยาห์ยังได้รับการเพิ่มเติมที่มีความสำคัญมากกว่านี้อีกด้วย แม้เมื่อพิจารณาเพียงด้านภาษาแต่อย่างเดียว ข้อความในบทที่ 40 ถึง 55 จะเป็นผลงานของประกาศกในศตวรรษที่ 8 ก่อน ค.ศ. ไม่ได้ ในข้อความตอนนี้ไม่เพียงแต่ว่าไม่มีการกล่าวนามของประกาศก (อิสยาห์) เลยเท่านั้น สภาพแวดล้อมทางประวัติศาสตร์ยังเป็นสภาพของสมัยสองศตวรรษหลังจากนั้น (คือศตวรรษที่ 6 ก่อน ค.ศ.) กรุงเยรูซาเล็มถูกทำลายไปแล้ว และประชากรอิสราเอลถูกกวาดต้อนเป็นเชลยอยู่ที่กรุงบาบิโลน กษัตริย์ไซรัสแห่งเปอร์เซียทรงปรากฏมาในเวทีการเมือง และกำลังจะเป็นเครื่องมือที่พระเจ้าจะทรงใช้เพื่อทรงปลดปล่อยประชากรของพระองค์ จริงอยู่ อาจเป็นไปได้ที่พระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพจะทรงนำประกาศกไปอยู่ในเหตุการณ์อนาคตที่ห่างไกล ทรงตัดเขา ทรงเปลี่ยนแนวความคิดและภาพพจน์ของเขาไปจากเหตุการณ์ปัจจุบัน แต่การกระทำเช่นนี้เรียกร้องให้บุคลิกภาพของประกาศกถูกแบ่งแยก และไม่ให้ความสนใจแก่ผู้คนร่วมสมัยที่ประกาศกได้รับเรียกและส่งไปประกาศพระวาจาให้ฟัง ถ้าเป็นความจริงเช่นนี้ เหตุการณ์นี้ก็เห็นจะเกิดขึ้นได้เพียงครั้งเดียวในพระคัมภีร์ และมีลักษณะขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับธรรมชาติบทบาทของประกาศก ซึ่งกล่าวถึงอนาคต เมื่ออนาคตมีความสัมพันธ์กับเหตุการณ์ปัจจุบันเท่านั้น คำสอนใน อสย 40-55 จึงเป็นคำสอนของประกาศกนิรนามคนหนึ่งซึ่งยึดมั่นในธรรมประเพณีของประกาศกอิสยาห์ เขาจึงเป็นประกาศกยิ่งใหญ่อีกคนหนึ่งเหมือนกับประกาศกอิสยาห์ และเราไม่มีนามอื่นจะเรียกเขาได้ดีกว่าจะเรียกว่า “อิสยาห์ที่สอง” (“Deutero-Isaiah” or “Second Isaiah”) ประกาศกท่านนี้เทศน์สอนอยู่ที่กรุงบาบิโลน ในช่วงเวลาหลังจากชัยชนะของกษัตริย์ไซรัสแห่งเปอร์เซียเมื่อปี 550 ก่อน ค.ศ. ก่อนที่จักรวรรดิบาบิโลนจะล่มสลาย และก่อนที่พระองค์จะออกพระราชกฤษฎีกาในปี 538 ก่อน ค.ศ. อนุญาตให้ชาวยิวชุดแรกอพยพกลับไปยังบ้านเกิดเมืองนอนของตน คำประกาศพระวาจาชุดนี้ ถึงแม้จะไม่เรียบเรียงไว้อย่างเป็นระเบียบดีนัก แต่ก็มีเอกภาพมากกว่าข้อความในบทที่ 1-39 ข้อความชุดนี้เริ่มด้วยข้อความซึ่งเป็นเสมือนการเล่าเรื่องพระเจ้าทรงเรียกประกาศก (40:1-11) และจบลงด้วยบทสรุปชัดเจน (55:6-13) จากข้อความที่เริ่ม “จงปลอบโยน จงปลอบโยนประชากรของเราเถิด” (40:1) คำประกาศพระวาจาตอนนี้จึงได้ชื่อว่า “หนังสือบันทึกคำปลอบโยนประชากรอิสราเอล”

            ความคิดเช่นนี้เป็นความคิดหลักจริงๆ ในขณะที่คำประกาศพระวาจาส่วนใหญ่ในบทที่ 1-39 เป็นคำคาดโทษที่กล่าวพาดพิงถึงเหตุการณ์ในรัชสมัยของกษัตริย์อาคัสและเฮเซคียาห์ คำประกาศพระวาจาในบทที่ 40-55 ไม่ได้อยู่ในบริบททางประวัติศาสตร์ที่ว่านี้ และเป็นคำกล่าวปลอบโยนประชากร การตัดสินลงโทษได้สำเร็จไปแล้วเมื่อกรุงเยรูซาเล็มถูกทำลาย เวลาแห่งการรื้อฟื้นขึ้นใหม่กำลังจะมาถึง และเหตุการณ์นี้จะเป็นการก่อสร้างขึ้นใหม่อย่างสมบูรณ์ ความคิดเช่นนี้ยังได้รับการเน้นโดยให้ความสำคัญแก่ความคิดหลักที่กล่าวโดยรวมว่า พระเจ้าทรงเป็นผู้เนรมิตสร้างและพร้อมกันนั้นยังทรงเป็นผู้กอบกู้อีกด้วย การอพยพครั้งใหม่ซึ่งน่าพิศวงมากกว่าการอพยพครั้งแรกจากอียิปต์ กำลังจะนำประชากรกลับไปยังบ้านเกิดเมืองนอน ไปยังกรุงเยรูซาเล็มใหม่ซึ่งสวยสดงดงามกว่ากรุงเยรูซาเล็มเดิม ความแตกต่างระหว่างสองยุค คือยุคของ “สิ่งในอดีต” กับยุคของ “สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น” นี้นับได้ว่าเป็นการเริ่มต้นของ “อันตวิทยา” ด้านวรรณกรรม (literary eschatology) เมื่อเปรียบเทียบกับความคิดของประกาศก “อิสยาห์ที่หนึ่ง” เราจะเห็นว่าความคิดทางเทววิทยาได้พัฒนามากขึ้น เอกเทวนิยมได้รับการยืนยันเป็นคำสอนที่ต้องยึดถือ และมีการพิสูจน์ว่าความเชื่อในพระเจ้าอื่นๆ นั้นไร้ความหมาย เพราะพระเจ้าเหล่านี้ทำอะไรไม่ได้ ยังมีการย้ำอีกว่าพระเจ้าทรงพระปรีชาเหลือที่จะหยั่งถึงและทรงพระญาณเอื้ออาทรด้วย คำสอนเรื่องศาสนาสากลสำหรับมวลมนุษย์ได้รับการกล่าวย้ำอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก ความจริงเหล่านี้ได้รับการนำเสนอด้วยลีลาการเขียนที่สูงส่งน่าฟังและมีจังหวะจะโคนอย่างเคร่งครัด เน้นให้เห็นว่าความรอดพ้นใกล้เข้ามาแล้ว

             ในหนังสือส่วนนี้มีข้อความไพเราะอยู่สี่ตอนที่เรียกกันว่า “บทเพลงของผู้รับใช้พระยาห์เวห์” คือ อสย 42:1-4 (อาจต้องเพิ่ม ข้อ 5-9 ด้วย); 49:1-6; 50:4-9 (อาจต้องเพิ่มข้อ 10-11 ด้วย); 52:13-53:12 บทประพันธ์ทั้งสี่นี้กล่าวถึงผู้รับใช้ที่สมบูรณ์ของพระยาห์เวห์ เขาคือผู้รวบรวมประชากรของพระองค์เข้ามาใหม่ และเป็นแสงสว่างส่องนานาชาติ เขาคือผู้เทศน์สอนความเชื่อแท้จริง ชดเชยบาปของประชากรด้วยความตายของตน และจะได้รับสิริรุ่งโรจน์จากพระเจ้า ข้อความเหล่านี้จัดอยู่ในกลุ่มตัวบทที่ได้รับการศึกษาค้นคว้ามากที่สุดในพันธสัญญาเดิม และบรรดานักวิชาการก็ยังมีความคิดเห็นไม่ตรงกันว่าใครเป็นผู้ประพันธ์และบทเพลงเหล่านี้มีความหมายอย่างไร นักวิชาการส่วนใหญ่คิดว่าบทเพลงสามบทแรกเป็นผลงานของประกาศก “อิสยาห์ที่สอง” และบทที่สี่อาจเป็นผลงานของศิษย์คนหนึ่งของเขา ยังเป็นที่ถกเถียงกันด้วยว่าใครคือ “ผู้รับใช้พระยาห์เวห์” ผู้นี้ บางคนคิดว่า “ผู้รับใช้” ผู้นี้คือ “ชุมชนอิสราเอล” ที่นับได้เป็นเสมือน “บุคคล” คนหนึ่ง (personification of the community of Israel) เพราะยังมีข้อความของประกาศก “อิสยาห์ที่สอง” อีกหลายตอนที่เรียกประชากรอิสราเอลว่า “ผู้รับใช้” บทเพลงเหล่านี้ยังกล่าวถึงลักษณะเฉพาะของ “ผู้รับใช้” อย่างชัดเจน ดังนั้น ผู้อธิบายพระคัมภีร์ส่วนใหญ่ในปัจจุบันจึงคิดว่า “ผู้รับใช้” ผู้นี้เป็นปัจเจกชนจริงๆ ไม่ว่าจะเคยมีชีวิตอยู่ในอดีต หรืออยู่ในสมัยของประกาศก “อิสยาห์ที่สอง” นี้เอง การพิจารณาในมุมมองนี้ชวนให้นักวิชาการหลายคนมีแนวโน้มคิดว่า “ผู้รับใช้” นี้คือประกาศก “อิสยาห์ที่สอง” นั่นเอง และยังคิดต่อไปว่าบทเพลงบทที่สี่ถูกเพิ่มเติมเข้ามาหลังจากที่เขาสิ้นชีวิตแล้ว ทฤษฎีที่สามรวมเอาความเข้าใจทั้งสองแบบนี้เข้าด้วยกันโดยคิดว่า “ผู้รับใช้” เป็นปัจเจกบุคคลที่รับเอาชะตากรรมของประชากรมาเป็นชะตากรรมของตนในแง่หนึ่งก็ได้

             แต่ไม่ว่า “ผู้รับใช้” ผู้นี้จะเป็นผู้ใด ดูเหมือนจะไม่เพียงพอที่เราจะจำกัดการอธิบายความหมายของข้อความเหล่านี้ไว้เพียงกับอดีตหรือกับศตวรรษที่ 6 ก่อน ค.ศ.เท่านั้น “ผู้รับใช้” ผู้นี้เป็นคนกลางที่จะนำความรอดพ้นมาให้หลายคนในอนาคต การที่ธรรมประเพณีของชาวยิวสายหนึ่งอธิบายว่า ข้อความเหล่านี้มีความหมายเกี่ยวกับพระเมสสิยาห์จึงเป็นคำอธิบายที่พอจะยอมรับได้ แต่ธรรมประเพณีสายนี้ไม่ยอมรับเรื่องการทนทรมานเลย ตรงกันข้าม ข้อความที่กล่าวถึงการรับทรมานของผู้รับใช้และการชดเชยความผิดแทนผู้อื่นนั้น เป็นข้อความที่พระเยซูเจ้าทรงเน้นย้ำและทรงใช้กับพระองค์และกับพันธกิจของพระองค์ด้วย (มก 10:45; ลก 22:19-20, 37) และการเทศน์สอนของบรรดาคริสตชนในสมัยแรกจึงกล่าวว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็น “ผู้รับใช้” ที่ประกาศกอิสยาห์ที่สองกล่าวถึงนี้อย่างสมบูรณ์ที่สุด (มธ 12:17-21; ยน 1:29)

             10. ครั้งหนึ่งเคยมีผู้คิดว่าส่วนสุดท้ายของหนังสืออิสยาห์ (บทที่ 56-66) เป็นผลงานของประกาศกอีกท่านหนึ่งที่มักจะเรียกกันเพื่อความสะดวกว่า “อิสยาห์ที่สาม” (“Trito-Isaiah”) แต่ในปัจจุบันนักวิชาการโดยทั่วไปคิดกันว่าเป็นการรวบรวมข้อความจากหลายแหล่ง เพลงสดุดีใน 63:7-64:11 ดูเหมือนจะเขียนขึ้นก่อนที่การเนรเทศที่กรุงบาบิโลนจะสิ้นสุด ส่วนข้อความใน 66:1-4 เขียนขึ้นร่วมสมัยกับการก่อสร้างพระวิหารหลังที่สองในปี 520 ก่อน ค.ศ. แต่ข้อความในบทที่ 60-62 มีความใกล้ชิดมากกับประกาศกอิสยาห์ที่สอง ทั้งในด้านความคิดและลีลาการเขียน กล่าวโดยทั่วไป บทที่ 56-59 น่าจะเขียนขึ้นในศตวรรษที่ 5 ก่อน ค.ศ. และบทที่ 65-66 (ยกเว้น 66:1-4) ซึ่งมีลักษณะของวรรณกรรม “วิวรณ์” อย่างมากนั้น ผู้อธิบายพระคัมภีร์บางคนคิดว่าเขียนขึ้นในสมัยชาวกรีก ปกครอง แต่บางคนคิดว่าข้อความตอนนี้เขียนขึ้นไม่นานหลังจากที่ชาวยิวกลับมาจากการเนรเทศ เมื่อกล่าวโดยรวมแล้ว ส่วนสุดท้ายของหนังสือนี้น่าจะเป็นผลงานของบรรดาศิษย์ของประกาศกอิสยาห์ที่สอง นักวิชาการบางคนยังคิดด้วยว่าเนื้อหาส่วนนี้เป็นการจงใจอธิบายเพิ่มเติมผลงานของประกาศกอิสยาห์ที่สอง และเขียนขึ้นไม่นานหลังกลับมาจากการเนรเทศ กล่าวโดยสรุปแล้ว ข้อความตอนนี้เป็นผลงานภาคสุดท้ายของ “ธรรมประเพณี” ของประกาศกอิสยาห์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญอยู่ในกระแสสังคมของชาวอิสราเอลตลอดมาตั้งแต่ช่วงเวลาของประกาศกผู้ยิ่งใหญ่ในศตวรรษที่ 8 ก่อน ค.ศ. นั่นเอง

         ได้มีการค้นพบเอกสารคัดลอกของหนังสืออิสยาห์ทั้งเล่มเมื่อไม่นานมานี้ ในถ้ำที่กุมราน (Qumran) ริมทะเลตาย เอกสารนี้น่าจะเขียนขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 2 ก่อน ค.ศ. ตัวบทในเอกสารฉบับนี้แตกต่างกับตัวบท Masoretic ในเรื่องตัวสะกดและข้อความไม่เหมือนกันจำนวนหนึ่ง ข้อความที่แตกต่างไปนี้บางข้อความถูกนำมาใช้ในการกำหนดตัวบทในพระคัมภีร์ฉบับนี้ (NJB) และจะมีอักษรย่อกำกับไว้ในเชิงอรรถว่า 1QIsa

11. ประกาศกเยเรมีย์

11. ประกาศกเยเรมีย์

              ประกาศกเยเรมีย์เกิดราวปี 646 ก่อน ค.ศ. ในตระกูลสมณะซึ่งอาศัยอยู่ใกล้ๆ กรุงเยรูซาเล็ม คือราวกว่าหนึ่งร้อยปีหลังจากอิสยาห์ จากข้อความกล่าวถึงชีวประวัติของเขาที่กระจายอยู่ทั่วไปในหนังสือ เรารู้จักชีวิตและลักษณะของประกาศกผู้นี้มากกว่าประกาศกคนอื่นๆ เหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตของประกาศกที่มีบันทึกไว้ในหนังสือน่าจะเกิดขึ้นตามลำดับเวลาดังนี้ - 19:1-20:6; 26; 36; 45; 28-29; 51:59-64; 34:8-22; 37-44 ท่านประกาศกเองน่าจะเป็นผู้เขียน “คำสารภาพของเยเรมีย์” (“Confessions of Jeremiah”= “คำตัดพ้อ(?)ของเยเรมีย์”) ใน 11:18-12:6; 15:10-21; 17:14-18; 18:18-23; 20:7-18 ข้อความเหล่านี้ไม่ใช่ “อัตชีวประวัติ” แต่ก็เป็นพยานยืนยันแสดงให้เรารู้ถึงประสบการณ์ส่วนตัวในใจของท่านประกาศก เป็นการบรรยายในรูปแบบของ “เพลงสดุดีประเภทคำอ้อนวอน” ประกาศกเยเรมีย์ได้รับเรียกจากพระเจ้าขณะที่ยังเป็นหนุ่มในราวปี 626-627 ก่อน ค.ศ. ซึ่งเป็นปีที่ 13 ในรัชสมัยของกษัตริย์โยสิยาห์ (1:2) และมีชีวิตอยู่ตลอดช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากก่อนและหลังการล่มสลายของอาณาจักรยูดาห์ การปฏิรูปทางศาสนาและการรวมพลังของชนในชาติที่กษัตริย์โยสิยาห์ทรงเริ่มขึ้นทำให้หลายคนมีความหวัง แต่ความหวังนี้ก็ต้องสลายลงเมื่อกษัตริย์สิ้นพระชนม์ในสมรภูมิใกล้เมืองเมกิดโดในปี 609 ก่อน ค.ศ. และเมื่อดุลอานุภาพของมหาอำนาจในโลกโบราณขณะนั้นต้องล่มสลายลงพร้อมกับการทำลายกรุงนีนะเวห์ในปี 612 ก่อน ค.ศ. ทำให้จักรวรรดิเคลเดียขยายอำนาจได้มากขึ้น นับตั้งแต่ปี 605 ก่อน ค.ศ. เป็นต้นไป กษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์ทรงเข้ายึดครองดินแดนปาเลสไตน์ อาณาจักรยูดาห์เป็นกบฏเพราะได้รับการสนับสนุนจากอียิปต์ กษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์ทรงยึดกรุงเยรูซาเล็มได้ในปี 597 ก่อน ค.ศ. และกวาดต้อนชาวเมืองส่วนหนึ่งเป็นเชลยไปกรุงบาบิโลน การเป็นกบฏอีกครั้งหนึ่งทำให้กองทัพชาวเคลเดียต้องยกกลับมาอีก และในปี 587 ก่อน ค.ศ. กรุงเยรูซาเล็มก็ถูกยึดได้อีกครั้งหนึ่ง พระวิหารถูกเผาทำลายและประชาชนถูกจับเป็นเชลยไปอีกมากกว่าครั้งก่อน ประกาศกเยเรมีย์มีชีวิตอยู่ตลอดเวลาของเหตุการณ์ร้ายๆ เหล่านี้ทั้งหมด เขาเทศน์สอน ปรามประชาชน พยากรณ์ถึงภัยพิบัติที่กำลังจะมาถึง ทูลเตือนกษัตริย์ไร้ความสามารถแห่งราชวงศ์ดาวิดองค์แล้วองค์เล่า แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เขาถูกบรรดาผู้กระหายสงครามกล่าวหาว่าเป็นผู้ยอมแพ้ เขาถูกเบียดเบียนและถูกจองจำ เมื่อกรุงเยรูซาเล็มถูกทำลาย ประกาศกเยเรมีย์ยังคงอยู่ในดินแดนปาเลสไตน์ต่อไปพร้อมกับเกดาลิยาห์ เพื่อนที่ชาวเคลเดียแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองชาวยิวที่เหลืออยู่ ถึงกระนั้นท่านประกาศกก็มีความคิดว่า ความหวังทั้งหมดสำหรับอนาคตของอิสราเอลนั้น อยู่กับผู้ที่ถูกกวาดต้อนเป็นเชลยไปที่กรุงบาบิโลน เมื่อเกดาลิยาห์ถูกฆ่า ชาวยิวกลุ่มหนึ่งกลัวจะถูกชาวเคลเดียลงโทษ จึงหนีไปอียิปต์และบังคับให้เยเรมีย์หนีไปกับตนด้วย ท่านประกาศกคงจะสิ้นชีวิตที่นั่นในเวลาต่อมา

             ความรู้สึกขัดแย้งภายในของประกาศกเยเรมีย์ดูจะตื่นเต้น น่าเร้าใจไม่น้อยไปกว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เขามีบทบาทร่วมอยู่ด้วย แม้เขาจะมีอุปนิสัยอ่อนโยน มีความรักใคร่ต่อทุกคน พระเจ้าก็ทรงเรียกเขา “เพื่อถอนราก และทำให้พังทลาย เพื่อทำลายและรื้อลง” (1:10) และคำสอนของเขามี “หายนะ” เป็นความคิดหลัก (20:8) ชายที่ใฝ่สันติผู้นี้ต้องต่อสู้อยู่ตลอดเวลากับญาติมิตรของตนกับบรรดากษัตริย์ สมณะ ประกาศกเทียม และกับชนทั้งชาติ กลายเป็นผู้ที่ “เป็นเหตุให้ผู้คนทั่วแผ่นดินต้องแตกแยกและทะเลาะวิวาทกัน” (15:10) เขาต้องถูกทรมานเพราะหน้าที่ที่เขาจำใจต้องปฏิบัติโดยไม่อาจปฏิเสธได้ (20:9) ในการอธิษฐานภาวนา เขากล่าวย้ำถึงความทุกข์ของตนเองบ่อยๆ “ทำไมความทุกข์ทรมานของข้าพเจ้าจึงไม่รู้จักจบ” (15:18) (ดู 20:14ฯ ซึ่งเป็นข้อความคล้ายๆ กันกับที่โยบ “สาปแช่งวันที่ตนเกิดมา”)

             ความทุกข์ทรมานทั้งหมดนี้ชำระจิตใจของเยเรมีย์ ให้หลุดพ้นจากทุกสิ่งที่ไม่เหมาะสม และทำให้เขาเปิดใจต่อพระเจ้า ก่อนที่เขาจะประกาศพระวาจากล่าวถึงพันธสัญญาใหม่ (31:31-34) ประกาศกเยเรมีย์ก็ปฏิบัติศาสนกิจภายในจากใจจริงอยู่แล้ว การปฏิบัติเช่นนี้ทำให้เขาอยู่ใกล้ชิดและเป็นที่รักของบรรดาคริสตชน ความสัมพันธ์เป็นการส่วนตัวกับพระเจ้าทำให้เขาคิดทบทวนคำสั่งสอนที่เคยสอนต่อๆ กันมา คือคำสอนที่ว่าพระเจ้าทรงทดสอบจิตใจ (11:20) และประทานรางวัลให้แต่ละคนตามกิจการของเขา (31:29-30) มิตรภาพกับพระเจ้า (2:2) ถูกทำลายโดยบาปซึ่งเป็นผลจากจิตใจที่ชั่วร้าย (4:4; 17:9; 18:12) การถือศาสนาจากใจจริงเช่นนี้ทำให้เยเรมีย์มีลักษณะไม่ต่างจากประกาศกโฮเชยา ซึ่งมีอิทธิพลต่อเขาอย่างมาก ความคิดของเขาที่ว่า “ธรรมบัญญัติ” คือพลัง “ภายใน” การที่เขาให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติความรักในการนับถือศาสนาอย่างแท้จริง ความสนใจที่เขามีต่อทุกคนในฐานะ “ปัจเจกบุคคล” ทำให้คำสอนของเขาคล้ายกับคำสอนของหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ แน่นอนทีเดียว ประกาศกเยเรมีย์เห็นด้วยกับการปฏิรูปทางศาสนาที่ได้รับพลังบันดาลใจจากหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ ดังที่กษัตริย์โยสิยาห์ทรงเริ่ม แต่เขาก็ต้องประสบกับความผิดหวังอย่างมากที่การปฏิรูปเหล่านี้ไม่ประสบผลสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงชีวิตทางศีลธรรมและศาสนาของประชาชนในชาติให้ดีขึ้น

           ประกาศกเยเรมีย์ต้องประสบความล้มเหลวในช่วงเวลาที่เขามีชีวิตอยู่ แต่ความสำคัญของเขาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่เขาสิ้นชีวิตไปแล้ว คำสอนของเขาเรื่องพันธสัญญาใหม่ที่ “เขียนไว้ในจิตใจ” ทำให้เขาเป็นบิดาของเรื่องต่างๆ ที่ดีที่สุดในศาสนายูดาย เราเห็นอิทธิพลของเขาได้ในข้อเขียนของประกาศกเอเสเคียล อิสยาห์ที่สอง และในบทเพลงสดุดีหลายบท ในสมัยพวกมัคคาบี เขาได้รับความนับถือเป็นผู้ปกป้องของชาติ (2 มคบ 2:1-8; 15:12-16) การที่ประกาศกเยเรมีย์ให้ความสำคัญแก่เรื่องของจิตใจเหนือสิ่งอื่นใด และการที่เขาแสดงให้เห็นว่ามนุษย์อาจมีความสัมพันธ์กับพระเจ้าได้อย่างใกล้ชิดเพียงใดนั้น นับเป็นการเบิกทางให้แก่พันธสัญญาใหม่ในยุคสมัยของพระคริสตเจ้า ชีวิตการเสียสละและความทุกข์ทรมานในการรับใช้พระเจ้า ซึ่งอาจนับได้ว่าเป็นคุณลักษณะของ “ผู้รับใช้พระยาห์เวห์” ใน อสย 53 ทำให้ประกาศกเยเรมีย์เป็นต้นแบบของพระคริสตเจ้า

             การที่ประกาศกเยเรมีย์ยังคงมีอิทธิพลสืบมาอย่างต่อเนื่องนั้นแสดงว่า ถ้อยคำของเขาต้องได้รับการศึกษา ไตร่ตรอง และตีความอธิบายหลายต่อหลายครั้ง เราเห็นผลงานเพิ่มเติมจากบรรดาศิษย์ซึ่งเป็นเสมือน “บุตรทางจิตใจ” ของประกาศกได้จากโครงสร้างของหนังสือ ซึ่งปรากฏชัดว่าไม่ได้เขียนขึ้นทั้งหมดในคราวเดียวกันอย่างแน่นอน นอกจากคำประกาศพระวาจาซึ่งเป็นคำประพันธ์และข้อความที่กล่าวถึงชีวประวัติของท่านประกาศกแล้ว หนังสือเยเรมีย์ยังมีบทเทศน์แบบร้อยแก้วที่มีลีลาเหมือนกันอย่างมากกับหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ บรรดานักวิชาการยังถกเถียงกันว่าข้อความเหล่านี้เป็นของท่านประกาศกจริงหรือไม่ หลายคนคิดว่าข้อความเหล่านี้เป็นผลงานของผู้เรียบเรียงหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ ในสมัยหลังกลับจากการเนรเทศแล้ว ถึงกระนั้นตามความจริง ลีลาการเขียนของข้อความเหล่านี้ก็เป็นลีลาการเขียนร้อยแก้วตามแบบของชาวแคว้นยูดาห์ในศตวรรษที่ 7 และต้นศตวรรษที่ 6 ก่อน ค.ศ. และความคิดทางเทววิทยาก็มีลักษณะเหมือนกับของขบวนการศาสนา ที่มีทั้งหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติและข้อเขียนของประกาศกเยเรมีย์รวมอยู่ด้วย ข้อเขียนเหล่านี้สะท้อนการเทศน์สอนแท้ของประกาศกเยเรมีย์ ซึ่งผู้ที่นิยมท่านประกาศกได้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรรวบรวมไว้ ข้อเขียนทั้งหมดเหล่านี้ไม่ได้ตกทอดมาถึงเราในรูปแบบเพียงรูปแบบเดียว สำนวนแปลภาษากรีกมีความยาวน้อยกว่าตัวบท Massoretic ในภาษาฮีบรูมากพอใช้ทีเดียว คือน้อยกว่าราวหนึ่งในแปดส่วน และหลายครั้งยังมีรายละเอียดแตกต่างกันด้วย การค้นพบเอกสารโบราณที่ถ้ำ Qumran แสดงว่าตัวบทเดิมในภาษาฮีบรูก็มีอยู่แล้วทั้งสองแบบด้วย ยิ่งกว่านั้น สำนวนแปลฉบับภาษากรีกยังจัดคำประกาศพระวาจากล่าวโทษนานาชาติไว้หลังจาก 25:13 และเรียงลำดับแตกต่างจากลำดับในฉบับภาษาฮีบรู ซึ่งจัดข้อความเหล่านี้ไว้ในตอนสุดท้ายของหนังสือ (บทที่ 46-51) บางทีแต่เดิมคำประกาศพระวาจาเหล่านี้อาจรวบรวมไว้ด้วยกันต่างหากแยกจากหนังสือตอนอื่นๆ เพราะไม่ใช่ผลงานของประกาศกเยเรมีย์หมดทุกตอน แม้ว่าคำประกาศพระวาจาเหล่านี้อาจเป็นของเยเรมีย์จริงๆ คำกล่าวโทษชาวโมอับและชาวเอโดมก็ได้ถูกเขียนใหม่เกือบทั้งหมด ถ้อยคำกล่าวโทษกรุงบาบิโลนอย่างยืดยาวในบทที่ 50-51 ก็เขียนขึ้นตอนปลายของช่วงเวลาการเนรเทศ บทที่ 52 ถูกรวมเข้ามาเป็นภาคผนวกเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ มีเนื้อหาคล้ายกับข้อความใน 2 พกษ 24:18-25:30 ยังมีข้อความเพิ่มเติมสั้นๆ อีกหลายตอนถูกแทรกเข้ามาในหนังสือ ข้อความที่เพิ่มเติมเข้ามาเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าทั้งชาวยิวซึ่งถูกเนรเทศอยู่ที่กรุงบาบิโลน และชุมชนชาวยิวที่กลับมาจากการเนรเทศแล้ว ต่างก็ได้ใช้ข้อความเหล่านี้และให้ความเคารพนับถือแก่ข้อความเหล่านี้ด้วย ข้อความที่ซ้ำกันหลายตอนยังเป็นข้อพิสูจน์ด้วยว่าหนังสือเยเรมีย์ได้รับการเรียบเรียงปรับปรุงหลายครั้ง ท้ายสุด ข้อความที่บอกวันเดือนปีก็ไม่ต่อเนื่องกันตามลำดับเวลา หนังสือเยเรมีย์อย่างที่เรามีในปัจจุบันนี้จึงอยู่ในสภาพสับสน ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้เวลายาวนานในการเรียบเรียง และเราไม่อาจชี้ชัดลงไปได้ว่าการเรียบเรียงนี้มีขั้นตอนต่างๆ อย่างไรบ้าง                      

            ถึงกระนั้น บทที่ 36 ก็บอกเวลาที่เป็นประโยชน์อย่างมาก ในปี 605 ก่อน ค.ศ. ประกาศกเยเรมีย์สั่งให้บารุคเขียนตามคำบอกที่เขากล่าว (36:2) นับตั้งแต่ที่เขาเริ่มภารกิจประกาศกของตนในปี 626 ก่อน ค.ศ. กษัตริย์เยโฮยาคิมทรงเผาม้วนหนังสือม้วนนี้ แต่ประกาศกก็สั่งให้บารุคเขียนขึ้นใหม่ตามคำบอกและเพิ่มเติมข้อความอื่นลงไปอีกด้วย (36:32) ในขณะนี้เราเดาไม่ได้เลยว่าม้วนหนังสือดังกล่าวมีคำเทศน์สอนอะไรบ้าง ดูเหมือนว่าจะมี 25:1-12 เป็นอารัมภบท แล้วรวบรวมคำสอนที่ประกาศกประกาศสอนก่อนปี 605 ก่อน ค.ศ. ซึ่งในปัจจุบันนี้อยู่ในบทที่ 1-18 แต่ตามข้อมูลใน 36:2 หนังสือม้วนนี้ยังมีคำประกาศพระวาจาโบราณบางตอนที่กล่าวประณามชนต่างชาติตามที่มีกล่าวพาดพิงถึงอยู่ใน 25:13-38 ต่อมาหนังสือภาคเดียวกันนี้ยังมีข้อความจากช่วงเวลาภายหลังปี 605 ก่อน ค.ศ. ถูกเพิ่มเข้ามาอีกด้วย รวมทั้งคำกล่าวอื่นๆ ที่กล่าวประณามนานาชาติด้วย ข้อความตอนที่ได้ชื่อว่า “คำสารภาพ” หรือ “คำตัดพ้อ” (ดังที่ได้กล่าวถึงมาแล้วก่อนหน้านี้) ก็ถูกเพิ่มเข้าไปในม้วนหนังสือม้วนนี้ด้วย ข้อความสั้นๆ 2 ตอนยังถูกเพิ่มเข้ามาอีก ตอนหนึ่งกล่าวถึงบรรดากษัตริย์ (21:11-23:8) ส่วนอีกตอนหนึ่งกล่าวถึงบรรดาประกาศก (23:9-40) ข้อความทั้งสองตอนนี้แต่เดิมคงอยู่แยกจากกัน

             โดยวิธีนี้เราจึงกล่าวได้อย่างชัดเจนว่าสองภาคของหนังสือเยเรมีย์คืออะไรบ้าง ภาคแรกมีเนื้อหาเป็นการคาดโทษต่อแคว้นยูดาห์และกรุงเยรูซาเล็ม (1:1-25:13) ส่วนภาคที่สอง เป็นการประกาศพระวาจากล่าวโทษนานาชาติ (25:13-48 และบทที่ 46-51) ส่วนบทที่ 26-35 คือ ภาคที่สาม ซึ่งไม่ต่อเนื่องกัน รวบรวมข้อความที่ค่อนข้างจะน่ายินดีมากกว่า ข้อความเหล่านี้เกือบทั้งหมดเป็นร้อยแก้ว และส่วนมากคัดมาจาก “ชีวประวัติของเยเรมีย์” ซึ่งคิดกันว่าเป็นผลงานของบารุค แต่ก็ต้องยกเว้นบทที่ 30-31 ซึ่งเป็นตอนสั้นๆ ที่เป็นคำปลอบโยนเขียนในรูปคำประพันธ์ ส่วนภาคที่สี่ (บทที่ 36-44) เขียนเป็นร้อยแก้ว เล่าประวัติของประกาศกเยเรมีย์ต่อ และบรรยายถึงความทุกข์ยากของเขา ขณะที่กรุงเยรูซาเล็มถูกล้อมและในช่วงเวลาหลังจากนั้น ภาคนี้จบลงที่ 45:1-5 ซึ่งอาจจัดได้ว่าเป็นคำลงนามสรุปของบารุค (เลขานุการของประกาศกเยเรมีย์)

12. เพลงคร่ำครวญ

12. เพลงคร่ำครวญ

           พระคัมภีร์ภาษาฮีบรูจัดหนังสือสั้นๆ ฉบับนี้ไว้ในหมวด “ข้อเขียน” ('Writings' หรือ 'Hagiographa') และนับเป็นเล่มหนึ่งของ “ม้วนหนังสือ 5 ม้วน” ที่มีชื่อเรียกเป็นภาษาฮีบรูว่า “meghillot” ซึ่งใช้อ่านในวันฉลองใหญ่ๆ 5 วัน (ได้แก่ พซม อ่านในวันฉลองปัสกา - นรธ อ่านในวันฉลองเปนเตกอสเต - พคค อ่านในวันฉลองระลึกถึงการทำลายกรุงเยรูซาเล็ม - ปญจ อ่านในเทศกาลอยู่เพิง - และ อสธ อ่านในวันฉลอง “ปูริม”) ในพระคัมภีร์ฉบับภาษากรีกและ Vulgate ภาษาละติน หนังสือฉบับนี้จัดไว้ให้อยู่หลังหนังสือเยเรมีย์ และมีชื่อเรียกว่า “เพลงคร่ำครวญของประกาศกเยเรมีย์” ความเชื่อถือที่ว่าเยเรมีย์เป็นผู้ประพันธ์หนังสือฉบับนี้ได้มาจากข้อความใน 2 พศด 35:25 และได้รับแรงสนับสนุนจากบทประพันธ์เหล่านี้ด้วย ซึ่งก็มีเนื้อหาสะท้อนช่วงเวลาสมัยของท่านประกาศก อย่างไรก็ตาม เราไม่น่าจะคิดว่าประกาศกเยเรมีย์เป็นผู้ประพันธ์หนังสือฉบับนี้ ประกาศกเยเรมีย์ที่เรารู้จักดีจากคำเทศน์สอนแท้ๆ ของเขาคงจะไม่กล่าวข้อความใน 2:9 ที่ว่า “บรรดาประกาศกแห่งศิโยนไม่ได้รับนิมิตจากพระยาห์เวห์อีกแล้ว” และเขาคงไม่กล่าวชมเชยกษัตริย์เศเดคียาห์ดังข้อความใน 4:20 หรือกล่าวแสดงความหวังว่าชาวอียิปต์จะมาช่วยเหลือ เช่นใน 4:17 เขาไม่น่าจะแสดงอารมณ์ความรู้สึกออกมาจากใจจริงอาศัยคำประพันธ์ “กลบทอักษร” (alphabetical poems) เหล่านี้ ในสี่บทแรกคำประพันธ์แต่ละ “บท” เริ่มด้วยอักษรเรียงตามลำดับติดต่อกันทีละตัว ส่วนบทที่ 5 อักษรแต่ละตัวเริ่มคำประพันธ์แต่ละ “บาท” (2 บรรทัด)

             บทที่ 1, 2 และ 4 เขียนขึ้นในรูปคำคร่ำครวญร่ำไห้ถึงผู้ตาย บทที่ 3 อยู่ในรูป “คำอ้อนวอนส่วนตัว” และบทที่ 5 (ซึ่งพระคัมภีร์ภาษาละตินฉบับ Vulgate เรียกว่า “คำอธิษฐานภาวนาของเยเรมีย์”) อยู่ในรูป “คำอ้อนวอนส่วนรวม” บทประพันธ์เหล่านี้น่าจะเขียนขึ้นในแผ่นดินปาเลสไตน์หลังจากกรุงเยรูซาเล็มล่มสลายแล้วในปี 587 ก่อน ค.ศ. และดูเหมือนจะเป็นผลงานของบุคคลเพียงคนเดียว ซึ่งใช้อารมณ์โศกเศร้าอย่างที่สุดบรรยายถึงความทุกข์ของกรุงเยรูซาเล็มและของประชากร แต่แม้ในความรู้สึกที่มืดมิดนี้ก็ยังมีแสงแห่งความวางใจในพระเจ้าอย่างที่ไม่มีวันจะถูกขจัดไปได้ ฉายออกมาพร้อมกับความทุกข์กลับใจอย่างแท้จริง ลักษณะเหล่านี้ทำให้หนังสือสั้นๆ ฉบับนี้มีคุณค่าอย่างถาวร ชาวยิวขับร้องคำประพันธ์เหล่านี้ในวันจำศีลอดอาหารเป็นพิเศษระลึกถึงการที่พระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มถูกทำลาย

13. บารุค

13. บารุค

             หนังสือบารุคอยู่ในกลุ่มหนังสือ “สารบบที่สอง” ไม่พบในพระคัมภีร์ฉบับภาษาฮีบรู พระคัมภีร์ฉบับภาษากรีกจัดหนังสือฉบับนี้ไว้ระหว่างหนังสือ
ประกาศกเยเรมีย์ และเพลงคร่ำครวญ ส่วนพระคัมภีร์ภาษาละตินฉบับ Vulgata จัดหนังสือฉบับนี้ไว้ทันที หลัง “เพลงคร่ำครวญ” เรารู้จากอารัมภบท (1:1-14) ของหนังสือนี้ว่าบารุค ซึ่งเป็นเลขานุการของประกาศกเยเรมีย์ เขียนหนังสือฉบับนี้ที่กรุงบาบิโลนหลังจากที่ชาวยิวถูกจับเป็นเชลยไปที่นั่น และส่งหนังสือนี้มาถึงชาวยิวที่กรุงเยรูซาเล็มสำหรับอ่านในการประชุมประกอบพิธีกรรม หนังสือนี้มีเนื้อหาดังนี้ [1] บทอธิษฐานภาวนาสารภาพความผิดที่ได้ทำ แต่ก็แสดงความหวัง (1:1 -3:8) [2] บทประพันธ์เกี่ยวกับ “ปรีชาญาณ” (3:9-4:4) กล่าวว่า “ธรรมบัญญัติ” (Torah) คือปรีชาญาณ [3] คำพยากรณ์ (4:5-5:9) ซึ่งกรุงเยรูซาเล็มกล่าวกับชาวยิวในถิ่นเนรเทศ และประกาศกปลอบโยนเขาทั้งหลายให้มีความหวังในพระเมสสิยาห์

            อารัมภบทเขียนเป็นภาษากรีก ส่วนบทอธิษฐานภาวนาใน 1:15-3:8 นั้นเห็นได้ชัดว่ามีต้นฉบับเป็นภาษาฮีบรูเช่นเดียวกับข้อความในภาคที่ [2] และ [3] ผลงานชิ้นนี้น่าจะเขียนขึ้นราวกลางศตวรรษแรกก่อนคริสตกาลแน่ๆ

            ในพระคัมภีร์ฉบับภาษากรีก หนังสือเพลงคร่ำครวญแยก “จดหมายของประกาศกเยเรมีย์” ออกจากหนังสือบารุค แต่พระคัมภีร์ภาษาละตินฉบับ Vulgata รวมจดหมายนี้ (โดยมีชื่อต่างหาก) ไว้กับหนังสือบารุค นับเป็นบทที่ 6 “จดหมาย” นี้เป็นข้อความต่อต้านการนับถือรูปเคารพ โดยพิสูจน์ให้เห็นว่าการกระทำเช่นนี้เป็นเรื่องไร้เหตุผล ลีลาการเขียนไม่มีอะไรเด่นเป็นพิเศษ เป็นการขยายความคิดที่มีอยู่แล้วใน อสย 44:9-20; ยรม 10:1-16 การนับถือรูปเคารพที่ถูกต่อต้านเป็นการปฏิบัติของชาวบาบิโลนในสมัยหลัง จดหมายฉบับนี้น่าจะเขียนเป็นภาษาฮีบรูตั้งแต่แรก แต่ก็เป็นผลงานในสมัยชาวกรีกปกครอง แม้จะเจาะจงให้ชัดลงไปไม่ได้ว่าเขียนขึ้นเมื่อไร ก็ดูเหมือนว่า 2 มคบ 2:1-3 กล่าวพาดพิงถึง “จดหมาย” ฉบับนี้

             นักวิชาการใช้หลักฐานทางโบราณคดีบอกได้ว่า ชิ้นส่วนเล็กๆ ชิ้นหนึ่งของตัวบทภาษากรีกซึ่งพบได้ที่ถ้ำกุมรานมีอายุตั้งแต่ราวปี 100 ก่อน ค.ศ.

             ข้อเขียนทั้งหมดนี้ซึ่งถูกรวบรวมไว้ในชื่อของ “บารุค” ให้ข้อมูลที่มีค่าเกี่ยวกับชุมชนชาวยิวซึ่งอยู่นอกแผ่นดินปาเลสไตน์ (Diaspora) ว่าเขามีวิธีการอย่างไรเพื่อรักษาความเชื่อทางศาสนาของตนไว้ ได้แก่การมีความสัมพันธ์กับกรุงเยรูซาเล็ม การอธิษฐานภาวนา ความเลื่อมใสต่อธรรมบัญญัติ ความกระหายอยากได้รับรางวัลตอบแทนจากพระเจ้า ความหวังในพระเมสสิยาห์ หนังสือบารุค เช่นเดียวกับหนังสือเพลงคร่ำครวญ เป็นพยานแสดงให้เห็นว่าชาวยิวยังมีความเคารพนับถืออย่างมั่นคงต่อประกาศกเยเรมีย์ หนังสือสั้นๆ ทั้งสองฉบับนี้อ้างว่าเป็นผลงานของท่านประกาศกและของศิษย์ของท่าน ชาวยิวยังให้ความเคารพต่อบารุคยิ่งขึ้นต่อๆ มา ตั้งแต่ศตวรรษที่สอง ก่อน ค.ศ. มีหนังสือประเภท “วิวรณ์” นอกสารบบพระคัมภีร์ 2 ฉบับมีชื่อของเขา ฉบับหนึ่งพบได้ในภาษากรีก อีกฉบับหนึ่งพบได้ในภาษาซีเรียค (เรายังมีชิ้นส่วนคำแปลภาษากรีกของฉบับนี้อยู่บ้างอีกด้วย)

14. ประกาศกเอเสเคียล

14. ประกาศกเอเสเคียล

             หนังสือประกาศกเอเสเคียลแตกต่างจากหนังสือประกาศกเยเรมีย์ เพราะเนื้อหาในหนังสือมีโครงสร้างของอย่างชัดเจน หลังจากบทที่ 1-3 ซึ่งเป็นเสมือน “อารัมภบท” ที่กล่าวถึงเรื่องประกาศกได้รับมอบหมายภารกิจจากพระเจ้าแล้ว เนื้อหาของหนังสือแบ่งได้อย่างชัดเจนเป็น 4 ภาค คือ ภาคที่หนึ่ง (บทที่ 4-24) เกือบทั้งหมดประกอบด้วยคำตำหนิและคาดโทษต่อชาวอิสราเอลก่อนที่กรุงเยรูซาเล็มจะถูกล้อม ภาคที่สอง (บทที่ 25-32) เป็นการกล่าวประณามนานาชาติ ซึ่งประกาศกขยายคำตำหนิและคาดโทษให้กว้างออกไปครอบคลุมผู้ที่มีอิทธิพลต่อชาวอิสราเอลผู้ไร้สัจจะ และสนับสนุนให้ชาวอิสราเอลเป็นเช่นนั้นต่อไป ภาคที่สาม (บทที่ 33-39) เป็นถ้อยคำปลอบโยนชาวอิสราเอลในช่วงเวลาที่กรุงเยรูซาเล็มถูกล้อมและหลังจากการทำลายกรุงเยรูซาเล็ม โดยสัญญาถึงอนาคตที่สดใส ภาคที่สี่ (บทที่ 40-48) เป็นการวางแผนสำหรับการก่อตั้งชุมชนอิสราเอลในอนาคตทั้งในด้านการเมืองและด้านศาสนา เมื่อชุมชนใหม่นี้จะตั้งขึ้นอีกครั้งหนึ่งในแผ่นดินปาเลสไตน์

             ถึงกระนั้น ภายใต้การจัดระเบียบอย่างเป็นระบบเช่นนี้ ก็ยังมีความสับสนที่น่าสังเกตอยู่ด้วย ตัวอย่างเช่น มีข้อความหลายตอนที่ซ้ำกัน เช่น 3:17-21 = 33:7-9; 18:25-29 = 33:17-20 การกล่าวพาดพิงว่าพระเจ้าทรงบันดาลให้เอเสเคียลเป็นใบ้ใน 3:26; 24:27; 33:22 เชิงอรรถ g มีข้อความปราศรัยยืดยาวมาแทรกไว้ในแต่ละตอน นิมิตเรื่อง “พระราชรถของพระเจ้า” ใน 1:4-3:15 ก็มีนิมิตเรื่องหนังสือมาคั่นไว้ที่ 2:1-3:9 ในทำนองเดียวกัน การบรรยายถึงบาปของกรุงเยรูซาเล็มใน 11:1-21 ก็เป็นข้อความที่ต่อมาจากบทที่ 8 และแทรกเข้ามาในเรื่องที่เล่าถึงพระราชรถออกจากกรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งเริ่มที่ 10:18-22 และดำเนินต่อไปใน 11:22 เหตุการณ์ในบทที่ 26-33 ก็มิได้เล่าต่อเนื่องกันตามลำดับเวลา ความสับสนเช่นนี้คงไม่เกิดขึ้นถ้าหนังสือนี้มีผู้เขียนเพียงคนเดียวรับผิดชอบในเรื่องความต่อเนื่องของเนื้อหาในหนังสือ จึงอาจเป็นไปได้อย่างมากว่า หนังสือเอเสเคียลเป็นผลงานของบรรดาศิษย์ซึ่งรวบรวมเอกสารต่างๆ ที่มีรวมกันอยู่ก่อนบ้างแล้วมาเรียบเรียงและนำเอกสารอื่นๆ ที่ตนมีอยู่ในมือมาเพิ่มเติมเข้าไปอีก ดังนั้น หนังสือเอเสเคียลจึงได้ผ่านขั้นตอนการเรียบเรียงไม่มากก็น้อย เช่นเดียวกับหนังสือฉบับอื่นๆ ของประกาศก อย่างไรก็ตาม ความคงที่ของลีลาการเขียนและคำสอนในหนังสือนี้ก็พิสูจน์ได้ว่าบรรดาศิษย์ของประกาศกได้พยายามรักษาความคิด รวมทั้งถ้อยคำดั้งเดิมเกือบทั้งหมดของประกาศกไว้อย่างซื่อสัตย์ เราสังเกตเห็นผลงานการเรียบเรียงของบรรดาศิษย์ได้ชัดในภาคสุดท้ายของหนังสือ (บทที่ 40-48) แต่เนื้อหาสาระที่พบในตอนนี้ก็ยังเป็นเรื่องราวที่มาจากเอเสเคียลโดยตรงอยู่ดี

             ถึงกระนั้น ก็ยังมีคำถามว่างานเรียบเรียงของบรรดาศิษย์ได้เปลี่ยนมุมมองของหนังสือในเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งไปหรือไม่ จากเรื่องราวในหนังสือ เรารู้ว่าเอเสเคียลปฏิบัติภารกิจทั้งหมดของตนในหมู่ชาวยิวในถิ่นเนรเทศที่กรุงบาบิโลนในช่วงเวลาตั้งแต่ปี 593 ถึง 571 ก่อน ค.ศ. ตามวันเดือนปีที่บอกไว้ครั้งแรกใน 1:2 และครั้งสุดท้ายใน 29:17 ในสภาพการณ์เช่นนี้จึงน่าแปลกที่ดูเหมือนว่า ประกาศกกล่าวคำประกาศพระวาจาในภาคแรกกับประชาชนซึ่งอาศัยอยู่ที่กรุงเยรูซาเล็ม และคล้ายกับว่าบางครั้งเอเสเคียลได้กลับมาอยู่ที่กรุงเยรูซาเล็มจริงๆ (ดู โดยเฉพาะ 11:13) เพราะฉะนั้น จึงมีทฤษฎีว่าประกาศกเอเสเคียลปฏิบัติภารกิจทั้งในปาเลสไตน์และที่กรุงบาบิโลน เขายังอยู่ในปาเลสไตน์และเทศน์สอนจนถึงเวลาที่กรุงเยรูซาเล็มถูกทำลายในปี 587 ก่อน ค.ศ. แล้วจึงไปอยู่ร่วมกับชาวยิวในถิ่นเนรเทศที่กรุงบาบิโลนหลังจากนั้น นิมิตเรื่อง “ม้วนหนังสือ” ใน 2:1-3:9 น่าจะบอกว่าท่านประกาศกได้รับเรียกให้เป็นประกาศกในแผ่นดินปาเลสไตน์ และนิมิตเรื่องพระราชรถใน 1:4-28 และ 3:10-15 น่าจะบอกว่าเขามาอยู่กับชาวยิวในถิ่นเนรเทศแล้วด้วย มีผู้เสนอความคิดว่าการย้ายนิมิตเรื่องพระราชรถจากภาคที่สามมาอยู่ในภาคแรกของหนังสือจึงเป็นการเปลี่ยนจุดเน้นทั้งหมด สมมติฐานเช่นนี้ช่วยแก้ปัญหาได้บางข้อ แต่ก็สร้างปัญหาเพิ่มขึ้นอีกหลายประการ เช่น  เรียกร้องให้จัดลำดับตัวบทส่วนใหญ่เสียใหม่ ทฤษฎีนี้ยังเรียกร้องให้คิดว่าแม้ในระหว่างที่เอเสเคียลปฏิบัติภารกิจ “ในปาเลสไตน์” นั้น โดยปกติเขาก็ยังพำนักอยู่นอกกรุงเยรูซาเล็ม เพราะเขา “ถูกนำไป” ที่นั่นใน 8:3 ยิ่งกว่านั้น ต้องนับว่าแปลกประหลาดมากที่ทั้งเอเสเคียล ทั้งเยเรมีย์มิได้กล่าวถึงภารกิจของกันและกันที่กรุงเยรูซาเล็มเลย ถ้าประกาศกทั้งสองท่านปฏิบัติภารกิจอยู่ที่นั่นในช่วงเวลาเดียวกัน ยิ่งกว่านั้น เราก็ต้องไม่ให้น้ำหนักมากนักแก่เหตุผลที่มักถูกยกมาโต้แย้งความเห็นที่เคยถือกันมา (คือความเห็นที่ว่าเอเสเคียลปฏิบัติภารกิจของเขาตลอดเวลาในถิ่นเนรเทศเท่านั้น) คำตำหนิติเตียนความผิดที่ประกาศกดูเหมือนกล่าวประณามชาวกรุงเยรูซาเล็มนั้น ก็มีประโยชน์ต่อชาวยิวในถิ่นเนรเทศด้วย และการที่ประกาศกเอเสเคียลดูเหมือนว่ามาพำนักที่กรุงเยรูซาเล็มนั้นเป็นเพียงว่าเขา “ถูกนำ” มาที่นั่น “ในนิมิต” เท่านั้น ดังที่ตัวบทก็กล่าวไว้อย่างชัดเจน (8:3) แล้วเขาก็ถูกนำกลับมาจากกรุงเยรูซาเล็ม “ในนิมิต” ด้วยเช่นเดียวกัน (11:24) สมมติฐานที่ว่าท่านประกาศกปฏิบัติภารกิจในที่สองแห่งจึงไม่มีนักวิชาการสนับสนุนอีกต่อไป

            ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับทฤษฎีใด ภาพของบุคคลยิ่งใหญ่ผู้หนึ่งก็ปรากฏออกมาจากหนังสืออย่างชัดเจน เอเสเคียลเป็นสมณะ (1:3) พระวิหารจึงเป็นจุดสนใจอย่างยิ่งของเขา ไม่ว่าเมื่อชาวอิสราเอลจะประกอบพิธีคารวะรูปเคารพทำให้พระวิหารในปัจจุบันต้องมีมลทิน (บทที่ 8) จนพระสิริรุ่งโรจน์ของพระยาห์เวห์ต้องละทิ้งพระวิหารไป (บทที่ 10) หรือพระวิหารในอนาคตที่เขาบรรยายถึงแผนก่อสร้างโดยละเอียดในบทที่ 40-42 และที่เขาได้เห็นพระเจ้าเสด็จกลับมาประทับอยู่ในบทที่ 43 ประกาศกให้ความเคารพนับถืออย่างมากต่อธรรมบัญญัติ และการกล่าวประณามผู้ที่ “ฝ่าฝืนวันสับบาโต” ปรากฏอยู่บ่อยๆ ในการกล่าวประณามความผิดของชาวอิสราเอล (บทที่ 20) เขารังเกียจทุกสิ่งที่เป็นมลทิน (4:14; 44:7) และเอาใจใส่อย่างเคร่งครัดในการแยกแยะสิ่งศักดิ์สิทธิ์จากสิ่งของสามัญทั่วๆ ไป (45:1-6; 48:9ฯ) ในฐานะที่เป็นสมณะ เขามีหน้าที่ตัดสินเรื่องธรรมบัญญัติและศีลธรรม เพราะฉะนั้นคำสอนของเขาจึงมีแนวโน้มที่จะตัดสินว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ (บทที่ 18) มุมมองและถ้อยคำที่ใช้จึงคล้ายกับ “กฎหมายเรื่องความศักดิ์สิทธิ์” ใน ลนต 17-26 แต่ไม่มีหลักฐานใดแสดงว่าท่านประกาศกได้รับแรงบันดาลใจจาก “กฎหมายเรื่องความศักดิ์สิทธิ์” นี้ หรือ “กฎหมาย” นี้มาจากคำสอนของเขาเลย ความละม้ายคล้ายกันที่มีอยู่ในข้อความเหล่านี้น่าจะเป็นผลงานของผู้เรียบเรียงเท่านั้น เรากล่าวได้แต่เพียงว่า ผลงานทั้งสองชิ้นนี้ตกทอดมาถึงเราผ่านทางบุคคลที่มีความสนใจคล้ายๆ กัน งานของประกาศกเอเสเคียลมาจากธรรมประเพณีของสมณะ ในทำนองเดียวกับที่งานของประกาศกเยเรมีย์มาจากธรรมประเพณี “เฉลยธรรมบัญญัติ”

              แต่สมณะผู้นี้ (ประกาศกเอเสเคียล) ยังเป็นประกาศกที่ทำกิจการด้วย เขาประกอบกิจการที่เป็นสัญลักษณ์มากกว่าคนอื่นๆ เขาแสดงท่าทางถึงเรื่องการล้อมกรุงเยรูซาเล็มใน 4:1-5:4 แสดงการจากไปของผู้ถูกเนรเทศใน 12:1-7 แสดงถึงกษัตริย์แห่งบาบิโลนทรงอยู่ที่ทางสองแพร่งใน 21:23ฯ แสดงถึงการรวมอาณาจักรยูดาห์เข้ากับอาณาจักรอิสราเอลใน 37:15ฯ แม้แต่เมื่อพระเจ้าทรงส่งความทุกข์มาให้เขาโดยเฉพาะ เอเสเคียลก็ยังเป็น “เครื่องหมาย” สำหรับอิสราเอลด้วย (24:24) เช่นเดียวกับที่ประกาศกโฮเชยา อิสยาห์ และเยเรมีย์เคยเป็น แต่ทว่ากิจการที่เป็นสัญลักษณ์ที่เอเสเคียลทำนั้นมีความซับซ้อน ตรงข้ามกับความเรียบง่ายของกิจการสัญลักษณ์ของบรรดาประกาศกก่อนหน้านั้นอย่างเห็นได้ชัด

              ลักษณะของประกาศกเอเสเคียลอีกประการหนึ่งคือเขาเป็นผู้เห็นนิมิตบ่อยๆ หนังสือของเขามีเรื่องนิมิตจริงๆ เพียงสี่ครั้ง แต่นิมิตเหล่านี้ก็กินเนื้อที่ส่วนสำคัญของหนังสือ คือ บทที่ 1-3, 8-11, 37 และบทที่ 40-48 นิมิตเหล่านี้นำเราเข้าไปในโลกที่พิสดารมากๆ คือนิมิตเรื่องสิ่งมีชีวิตสี่ตนที่แบกพระราชรถของพระยาห์เวห์ นิมิตเห็นการปฏิบัติศาสนกิจน่ารังเกียจในพระวิหารซึ่งมีสัตว์ร้ายและรูปเคารพมากมาย นิมิตเรื่องกระดูกแห้งที่กลับมีชีวิตขึ้นมาอีก และแผนของพระวิหารในอนาคตที่จะมีแม่น้ำไหลออกมาทำให้แผ่นดินอุดมสมบูรณ์อย่างเหลือเชื่อ เขายังใช้จินตนาการที่มีอย่างเหลือเฟือเมื่อเล่าอุปมานิทัศน์ (allegories) เรื่องโอโฮลาห์และโอโฮลีบาห์ ในบทที่ 23 เรื่องหายนะของเรือแห่งเมืองไทระ ในบทที่ 27 เรื่องกษัตริย์ฟาโรห์ซึ่งเป็นเสมือนจระเข้ ในบทที่ 29 และ 32 เรื่องต้นไม้ใหญ่ ในบทที่ 31 เรื่องการลงไปในแดนมรณะ ในบทที่ 32

              แม้เอเสเคียลจะได้รับพรสวรรค์ ให้มีจินตนาการในการบรรยายให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจน ลีลาการเขียนของเขากลับซ้ำซากไม่มีสีสัน เย็นชืดไม่มีพลังเร้าใจเสียเลย คล้ายกับว่าสายตาของเขาได้ขโมยพลังทางคำพูดไปเสียหมด ลีลาการเขียนของเขามีมาตรฐานต่ำมากเมื่อเทียบกับประกาศกท่านอื่นที่ทุกคนรู้จักดี ประกาศกอิสยาห์มีลีลาไม่ซับซ้อนแต่ทรงพลัง ส่วนลีลาของประกาศกเยเรมีย์ชวนให้ผู้อ่านมีอารมณ์ร่วมด้วย ศิลปะของเอเสเคียลเหนือกว่าประกาศกท่านอื่นที่รู้จักเน้นความยิ่งใหญ่และความลึกซึ้ง ทำให้ผู้อ่านมีความรู้สึกยำเกรงเมื่ออยู่เฉพาะหน้าความลึกลับของพระเจ้า

              ประกาศกเอเสเคียลจึงนับได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกแนวความคิดใหม่ๆ แม้ความคิดส่วนมากของเขาจะคล้ายกับของบรรดาประกาศกที่มาก่อนหน้านั้น แต่คำสอนของเขาก็มีอะไรใหม่ๆ ด้วยเช่นเดียวกัน เขาไม่อ้างถึงประวัติศาสตร์ในอดีตของประชากร เขากล่าวถึงพระสัญญาที่พระเจ้าประทานแก่บรรพบุรุษและพันธสัญญาที่ภูเขาซีนายบ้างเป็นบางครั้ง แต่ก็ดูเหมือนว่าพระเจ้าทรงปกป้องชนชาติอิสราเอลซึ่งมีมลทินมาตั้งแต่เกิดแล้ว (16:3ฯ) ที่ทรงกระทำเช่นนี้มิใช่เพื่อให้พระสัญญาเป็นความจริง แต่เพื่อปกป้องศักดิ์ศรีแห่งพระนามของพระองค์ (บทที่ 20) ในทำนองเดียวกัน เขาบรรยายถึงการนำพันธสัญญานิรันดรเข้ามาแทนที่พันธสัญญาเดิม (16:60; 37:26ฯ) ว่ามิได้เป็นรางวัลของการที่ประชากรอิสราเอล “กลับมาหา” พระเจ้า แต่ในฐานะที่เป็นการกระทำซึ่งมาจากพระทัยกรุณาล้วนๆ การกลับใจของประชากรมาภายหลังพระทัยกรุณานี้เท่านั้น ไม่ใช่มาก่อน (16:62-63) เอเสเคียลกล่าวถึงพระเมสสิยาห์น้อยมาก และพระเมสสิยาห์พระองค์นี้ก็ไม่ใช่พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระสิริรุ่งโรจน์อีกต่อไป จริงอยู่ที่พระเมสสิยาห์จะต้องเป็น “กษัตริย์ดาวิดพระองค์ใหม่” แต่ในฐานะที่ทรงเป็นเพียง “ผู้เลี้ยงดู” ประชากรของพระองค์เท่านั้น (34:24; 37:24) ทรงเป็นเพียง “เจ้านาย” (34:24) และไม่ใช่ “กษัตริย์” อีก ในนิมิตของเอเสเคียลที่เห็นอนาคตซึ่งมีพระเจ้าทรงเป็นกษัตริย์นั้น (45:7ฯ) ไม่มีที่สำหรับกษัตริย์พระองค์ใดอีกต่อไป ประกาศกเอเสเคียลยังมีความคิดแตกต่างจากธรรมประเพณีที่เคยมีมาด้วย เมื่อเขายืนยันถึงหลักการว่าแต่ละคน ไม่ใช่สังคมส่วนรวม ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตน (บทที่ 18 - ดู บทที่ 33 ด้วย) การแก้ปัญหาทางเทววิทยาเช่นนี้ในเรื่องบาปจะคงอยู่ได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น และต่อมาก็จะต้องยอมจำนนต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และจะค่อยๆ นำไปถึงความคิดเรื่องการให้รางวัลความดีและลงโทษความชั่วในโลกหน้า เอเสเคียลมีความคิดแหวกแนวเช่นเดียวกับเยเรมีย์ จากความคิดที่เคยเชื่อถือกันมาว่าพระเจ้าทรงแยกจากพระวิหารไม่ได้ ทั้งๆ ที่เอเสเคียลก็เป็นสมณะและมีความรักต่อพระวิหาร ความเป็นสมณะและประกาศก ซึ่งมักจะแยกกันในอิสราเอล รวมอยู่ด้วยกันในตัวประกาศกเอเสเคียล จารีตพิธีกรรมต่างๆ ยังคงอยู่ แต่จะมีคุณค่าก็จากสภาพจิตใจของผู้มาร่วมประกอบพิธีเท่านั้น คำสั่งสอนทั้งหมดของเอเสเคียลรวมอยู่ที่การกลับใจภายใน มนุษย์ต้องมีจิตใหม่ใจใหม่ (18:31) หรือที่ถูกกว่านั้น พระเจ้าเองจะต้องประทานใจ “ใหม่อีกดวงหนึ่ง” ให้ และหลั่ง “จิตใหม่” ลงในใจนี้ด้วย (11:19; 36:26) ในเรื่องนี้ เช่นเดียวกับในเรื่องพระพรที่พระเจ้าประทานให้เปล่าๆ ก่อนที่มนุษย์จะเป็นทุกข์กลับใจนั้น เราอยู่ใกล้มากๆ กับเทววิทยาเรื่องพระหรรษทานซึ่งนักบุญยอห์นและนักบุญเปาโลจะอธิบายขยายความต่อไปในภายหลัง

             ดังนั้น องค์ประกอบทุกๆ ด้านทางศาสนาของชาวอิสราเอลจึงได้รับยกขึ้นให้อยู่ในระดับจิตที่สูงส่ง และนี่คือผลงานยิ่งใหญ่ของเอเสเคียล เขาได้รับสมญาว่า “บิดาของศาสนายูดาย” แต่หลายๆ ครั้งเพียงเพราะว่าเขาแยกเรื่องศักดิ์สิทธิ์ออกจากเรื่องธรรมดาสามัญ และมีความสนใจเกี่ยวกับการไม่มีมลทินด้านพิธีกรรมหรือเกี่ยวกับรายละเอียดเรื่องพิธีกรรม ซึ่งเป็นการนำร่องให้ชาวฟาริสีปฏิบัติในภายหลัง แต่การกล่าวเช่นนี้ดูจะไม่ให้ความยุติธรรมแก่ท่านประกาศกเลย  ประกาศกเอเสเคียล เช่นเดียวกับประกาศกเยเรมีย์ แต่ด้วยวิธีการเฉพาะของตน คือผู้ริเริ่มธรรมประเพณีในด้านชีวิตจิตไม่เกี่ยวกับเรื่องทางโลก ซึ่งจะคงอยู่ต่อไปในศาสนายูดาย และจะปรากฏเด่นชัดในพันธสัญญาใหม่ พระเยซูเจ้าคือ “ผู้เลี้ยงแกะที่ดี” ซึ่งประกาศกเอเสเคียลกล่าวพยากรณ์ไว้แล้ว และจะทรงสถาปนาการนมัสการพระเจ้า “ด้วยจิต” ดังที่ประกาศกเอเสเคียลเคยเทศน์สอนไว้แล้วด้วย

              ประกาศกเอเสเคียลยังมีอีกอารมณ์หนึ่ง จึงเป็นผู้ให้กำเนิดแก่ธรรมประเพณีประเภท “วิวรณ์” (apocalyptic) นิมิตสลับซับซ้อนที่เขาเห็นเตรียมเราไว้สำหรับนิมิตของดาเนียล และเราไม่ต้องแปลกใจที่เรารู้สึกว่าหนังสือวิวรณ์ได้รับอิทธิพลบ่อยจากประกาศกเอเสเคียล

15. ดาเนียล

15. ดาเนียล

เนื้อหาของหนังสือดาเนียลแบ่งได้เป็น 2 ภาค

                ภาคแรก คือ บทที่ 1-6 เป็นเรื่องเล่าต่อไปนี้ (บทที่ 1) ดาเนียลและเพื่อนทั้งสามคนเข้ารับราชการในราชสำนักของกษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์ (บทที่ 2) พระสุบินของกษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์เรื่องรูปปั้นทำด้วยวัสดุหลายชนิด (บทที่ 3) พระบัญชาให้นมัสการพระรูปทองคำ เพื่อนทั้งสามคนของดาเนียลถูกโยนเข้ากองเพลิง (บทที่ 4) กษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์ทรงเสียสติ (บทที่ 5) งานเลี้ยงของกษัตริย์เบลชัสซาร์ (บทที่ 6) ดาเนียลในถ้ำสิงโต  พระเจ้าทรงช่วยเหลือดาเนียลและเพื่อนทั้งสามคนให้รอดพ้นจากอันตรายทั้งหมดนี้ ซึ่งคุกคามชื่อเสียงและชีวิตของเขา เขากลับเป็นผู้ชนะ และผู้นับถือรูปเคารพต้องยอมถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าที่ทรงช่วยเขาเหล่านี้ให้พ้นภัย เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นที่กรุงบาบิโลนในรัชสมัยของกษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์ เบลชัสซาร์ “พระโอรส” และรัชสมัยของ “กษัตริย์ดารีอัสชาวมีเดีย” ผู้ทรงครองราชย์ต่อจากกษัตริย์เบลชัสซาร์

                 ส่วนภาคหลัง คือบทที่ 7-12 เป็นนิมิตที่พระเจ้าโปรดให้ดาเนียลแลเห็น (บทที่ 7) สัตว์ร้ายสี่ตัว (บทที่ 8) แพะและแกะเพศผู้ (บทที่ 9) เวลาเจ็ดสิบสัปดาห์ (บทที่ 10-12) นิมิตยิ่งใหญ่เกี่ยวกับเวลาตัดสินลงโทษและอันตกาล เรื่องราวทั้งหมดนี้ถูกจัดให้เกิดขึ้นในรัชสมัยของกษัตริย์เบลชัสซาร์ กษัตริย์ดารีอัสชาวมีเดียและกษัตริย์ไซรัสชาวเปอร์เซีย และเกิดขึ้นที่กรุงบาบิโลน

                 การที่หนังสือดาเนียลมีสองภาคเช่นนี้ทำให้นักวิชาการหลายคนสรุปว่า แต่เดิมมีเอกสารต่างกันสองฉบับที่เขียนขึ้นต่างสมัยกัน แล้วมีผู้เรียบเรียงนำมารวมไว้ด้วยกัน แต่ก็มีรายละเอียดบางประการที่ชวนให้คิดว่าหนังสือนี้เป็นผลงานชิ้นเดียวมาตั้งแต่ต้น เรื่องเล่าเขียนในบุรุษที่สาม ส่วนนิมิตนั้นเขียนในบุรุษที่หนึ่ง คือดาเนียลเล่าว่าตนได้แลเห็นนิมิตเหล่านั้นด้วยตนเอง แต่นิมิตในบทที่ 7 มีคำนำและข้อสรุปในบุรุษที่สาม ตอนเริ่มต้นของหนังสือเขียนเป็นภาษาฮีบรู แต่ใน 2:4 กลับเปลี่ยนอย่างกะทันหันเป็นภาษาอาราเมอิก แล้วเป็นภาษานี้ต่อไปจนจบบทที่ 7 ซึ่งเป็นตอนที่กล่าวถึงนิมิตต่างๆ ส่วนบทที่เหลือต่อจากนั้นกลับมาเป็นภาษาฮีบรูอีก มีผู้อธิบายเหตุผลเรื่องสองภาษานี้หลายแบบด้วยกัน แต่ก็ไม่มีคำอธิบายแบบใดเป็นแบบที่ทุกคนยอมรับเป็นเอกฉันท์ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีความสอดคล้องกันไม่ว่าในเรื่องเนื้อหาซึ่งมีทั้งเรื่องเล่าและนิมิต ในเรื่องลีลาการเขียนซึ่งเขียนทั้งในบุรุษที่หนึ่งและบุรุษที่สาม หรือในเรื่องภาษาซึ่งมีทั้งภาษาฮีบรูและภาษาอาราเมอิก แต่ในอีกด้านหนึ่งเรื่องราวในบทที่ 7 มีคำอธิบายอยู่ในบทที่ 8 ซึ่งก็คล้ายกันกับบทที่ 2 ภาษาอาราเมอิกของบทที่ 7 มีลักษณะเดียวกันกับในบทที่ 2-4 แต่มีลีลาการเขียนบางประการคล้ายกับลีลาในบทที่ 8-12 ซึ่งเป็นภาษาฮีบรู บทที่ 7 นี้จึงเป็นตัวเชื่อมทั้งสองภาคของหนังสือนี้ และยังเป็นองค์ประกอบที่ทำให้หนังสือนี้เป็นผลงานเขียนที่สมบูรณ์ กษัตริย์เบลชัสซาร์และกษัตริย์ดารีอัสชาวมีเดีย ทรงปรากฏอยู่ทั้งสองพระองค์ในแต่ละภาคของหนังสือ เพราะฉะนั้นจึงมีปัญหาทางประวัติศาสตร์เท่าๆ กันในทั้งสองภาค ประการสุดท้าย หนังสือนี้มีเทคนิคการเขียนและแนวความคิดเป็นแบบเดียวกันตลอดทั้งเล่ม ลักษณะประการนี้จึงเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักที่สุดเพื่อพิสูจน์เอกภาพของหนังสือฉบับนี้

                ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทที่ 11 เป็นตัวชี้ชัดว่าหนังสือนี้แต่งขึ้นเมื่อไร ผู้แต่งเล่าถึงสงครามระหว่างราชวงศ์เซเลวซิดกับราชวงศ์โทเลมี และเหตุการณ์ในส่วนหนึ่งของรัชสมัยกษัตริย์อันทิโอคัส เอปีฟาเนสอย่างละเอียดเกินความจำเป็นสำหรับจุดประสงค์ของเรื่อง การเล่าเรื่องแบบนี้มีลักษณะคล้ายกับคำทำนายของประกาศกในพันธสัญญาเดิม และแม้จะมีลักษณะเป็นคำทำนายถึงอนาคต แต่ที่จริงกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต ลีลาการเขียนเปลี่ยนไปตั้งแต่ 11:40 กลายเป็นคำทำนายถึง “เวลาในยุคสุดท้าย” คล้ายกันกับวิธีเขียนของประกาศกอื่นๆ ดังนั้น หนังสือนี้ต้องเขียนขึ้นในช่วงเวลาการเบียดเบียนชาวยิวในรัชสมัยของกษัตริย์อันทิโอคัส เอปีฟาเนสก่อนที่พระองค์จะสิ้นพระชนม์ และบางทีก่อนที่การกบฏของพวกมัคคาบีจะประสบความสำเร็จด้วย นั่นคือเขียนในช่วงเวลาระหว่างปี 167 และ 164 ก่อน ค.ศ.

                 ไม่มีอะไรในส่วนที่เหลือของหนังสือที่ขัดกับการกำหนดช่วงเวลาเช่นนี้ ผู้เขียนจัดให้เรื่องเล่าในภาคแรกเกิดขึ้นในสมัยของชาวเคลเดีย แต่ก็มีข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่าเขาเขียนเรื่องหลังจากเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วเป็นเวลานาน เบลชัสซาร์เป็นพระโอรสของกษัตริย์นาโบนีดัส ไม่ใช่พระโอรสของกษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์อย่างที่กล่าวไว้ในหนังสือ และไม่ได้ครองราชย์เป็นกษัตริย์ด้วย นักประวัติศาสตร์ไม่รู้จักกษัตริย์ดารีอัสชาวมีเดีย และไม่มีช่วงเวลาสำหรับกษัตริย์ดารีอัสชาวมีเดียหรือกษัตริย์องค์อื่นเลย ที่จะแทรกเข้ามาได้ระหว่างกษัตริย์ชาวเคลเดียองค์สุดท้ายกับกษัตริย์ไซรัสชาวเปอร์เซียซึ่งทรงปราบชาวมีเดียลงได้ก่อนหน้านั้นแล้ว ผู้แต่งกล่าวถึงภูมิหลังของอาณาจักรบาบิโลนใหม่โดยใช้ถ้อยคำที่มีรากศัพท์จากภาษาเปอร์เซีย ชื่อเครื่องดนตรีที่บรรเลงในรัชสมัยของกษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์เป็นชื่อภาษากรีก วันเดือนปีที่กล่าวถึงในหนังสือขัดแย้งกันเอง และขัดแย้งกับประวัติศาสตร์ที่เรารู้จัก และดูเหมือนจะถูกนำมาใส่ไว้ที่ต้นบทโดยไม่ได้คำนึงถึงลำดับเหตุการณ์เลยแม้แต่น้อย ผู้แต่งใช้ธรรมประเพณีที่เล่าต่อๆ กันมารวมทั้งธรรมประเพณีที่มีเขียนอยู่แล้วในสมัยของตน ในเอกสารที่พบได้ตามถ้ำใกล้กับทะเลตายมีเศษเรื่องเล่าเกี่ยวกับดาเนียลคล้ายกับในพระคัมภีร์ โดยเฉพาะคำอธิษฐานภาวนาของกษัตริย์นาโบนีดัสคล้ายกับข้อความใน ดนล 3:31-4:34 ในเอกสารนี้ใช้ชื่อ “เนบูคัดเนสซาร์” แทนชื่อ “นาโบนีดัส” ผู้แต่งหรือเอกสารที่เขาใช้เป็นข้อมูล เล่าว่าตัวเอกของเรื่องชวนศรัทธานี้คือ “ดาเนียล” หรือ “ดาเนล” ที่มีกล่าวถึงใน อสค 14:14-20; 28:3 ว่าเป็นผู้ชอบธรรมและผู้มีปรีชาในสมัยโบราณ ชื่อ “ดาเนล” ยังปรากฏในบทประพันธ์โบราณซึ่งพบได้ที่ราส-ชัมราในประเทศซีเรียปัจจุบัน บทประพันธ์นี้น่าจะเขียนขึ้นราวสิบสี่ศตวรรษก่อนคริสตกาล

                 การที่หนังสือดาเนียลเขียนขึ้นในสมัยหลังทำให้เราเข้าใจว่า ทำไมพระคัมภีร์ภาษาฮีบรูจึงจัดให้หนังสือนี้อยู่ในภาคสุดท้ายที่เรียกว่า “ข้อเขียน” หนังสือนี้ได้รับการรับรองเป็นพระคัมภีร์หลังจากที่สารบบหนังสือประกาศกถูกกำหนดเสร็จแล้ว หนังสือดาเนียลถูกจัดไว้ระหว่างหนังสือเอสเธอร์และหนังสือเอสราในภาค “ข้อเขียน” ซึ่งเป็นภาคสุดท้ายของพระคัมภีร์ภาษาฮีบรู ส่วนพระคัมภีร์ฉบับภาษากรีกและละตินจัดหนังสือดาเนียลไว้ในหมวดประกาศก และยังเพิ่มข้อความตอนที่เป็นสารบบที่สองเข้าไปด้วย ได้แก่เพลงสดุดีของอาซาริยาห์ และบทเพลงของหนุ่มสามคน (3:24-90) เรื่องนางสุสันนา ซึ่งแสดงความเฉลียวฉลาดของหนุ่มดาเนียล (บทที่ 13) เรื่องเบลกับนาคราช ซึ่งล้อเลียนการนับถือรูปเคารพ (บทที่ 14) สำนวนแปลภาษากรีกของฉบับ LXX แตกต่างกันมากกับสำนวนแปลของเทโอโดซีโอน ซึ่งใกล้เคียงมากกว่ากับต้นฉบับภาษาฮีบรูฉบับ Masoretic (MT)

               เจตนาของหนังสือคือต้องการส่งเสริมความเชื่อและความหวังของชาวยิว ซึ่งถูกกษัตริย์อันทิโอคัสเอปีฟาเนสเบียดเบียน ดาเนียลและเพื่อนก็เคยถูกชักชวนให้ละทิ้งธรรมบัญญัติ (บทที่ 1) ไปกราบไหว้รูปเคารพ (บทที่ 3 และ 6) แต่เขาก็เอาชนะการทดลอง เหล่านี้ได้ ผู้ที่เบียดเบียนเขาจำเป็นต้องยอมรับพระอานุภาพของพระเจ้าเที่ยงแท้ หนังสือดาเนียลวาดภาพของผู้เบียดเบียนร่วมสมัยให้มีความร้ายกาจมากกว่า แต่เมื่อพระพิโรธของพระเจ้าทรงลงโทษเขาเหล่านี้แล้ว (8:19; 11:36) วาระสุดท้ายจะมาถึง (8:17; 11:40) ผู้เบียดเบียนจะถูกทำลาย (8:25; 11:45) ซึ่งหมายความว่าความทุกข์โศกและบาปจะสิ้นสุด และอาณาจักรของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ซึ่ง “บุตรแห่งมนุษย์” เป็นผู้ปกครองจะมาถึง และอาณาจักรนี้จะคงอยู่ตลอดไป (บทที่ 7)

              การรอคอยวาระสุดท้ายและความหวังถึงอาณาจักรนี้ มีกล่าวถึงอยู่ทั่วไปในหนังสือ 2:44; 3:100 (33); 4:31; 7:14 พระเจ้าจะทรงบันดาลให้เป็นจริงหลังจากเวลาที่ทรงกำหนดไว้มาถึงแล้ว เวลาดังกล่าวนานพอที่จะครอบคลุมประวัติศาสตร์ทั้งหมดของ มนุษยชาติ ขั้นตอนต่างๆ ของประวัติศาสตร์ของโลกกลายเป็นขั้นตอนต่างๆ ของพระราชกิจของพระเจ้า พระราชกิจเหล่านี้มีจุดประสงค์นิรันดร ดังนั้น ยุคสมัยต่างๆ ของโลก ทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต จึงเป็นการแสดงพระประสงค์ของพระเจ้าด้วย เพราะพระเจ้า “ผู้ทรงปกครองเวลาและฤดูกาลทั้งปวง” (2:21) ทรงกำหนดไว้ ความลับประการนี้ซึ่งพระเจ้าเท่านั้นทรงทราบ (2:18 ฯลฯ; 4:6) มีคนกลางลึกลับเป็นผู้เปิดเผย คนกลางเหล่านี้คือผู้ถือสารและผู้แทนของพระเจ้าสูงสุด หนังสือดาเนียลยืนยันคำสอนเรื่องทูตสวรรค์ เช่นเดียวกับหนังสือเอเสเคียลและโดยเฉพาะหนังสือโทบิต การเปิดเผยเป็นเรื่องเกี่ยวกับแผนการที่ซ่อนเร้นของพระเจ้า สำหรับประชากรของพระองค์และสำหรับนานาชาติ แผนการนี้เกี่ยวข้องทั้งกับประชาชนทั้งชาติและกับปัจเจกบุคคล ดนล 12:2 เป็นข้อความสำคัญตอนหนึ่งเกี่ยวกับการกลับคืนชีพ ประกาศว่าผู้ตายจะกลับคืนชีพมารับชีวิตนิรันดรหรือมารับโทษนิรันดร พระอาณาจักรที่ทุกคนรอคอยจะครอบคลุมชนทุกชาติ (7:14) และจะไม่สิ้นสุด อาณาจักรนี้จะเป็นอาณาจักรของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ (7:18) จะเป็นอาณาจักรของพระเจ้า (3:100 (33); 4:31) จะเป็นอาณาจักรของ “บุตรแห่งมนุษย์” ซึ่งจะได้รับมอบอำนาจอาชญาสิทธิ์ทั้งมวลจากพระเจ้า (7:13-14)

              “บุตรแห่งมนุษย์” บุคคลลึกลับผู้นี้ซึ่ง ดนล 7:18, 21-27 อธิบายว่าหมายถึงชุมชนผู้ศักดิ์สิทธิ์ ยังเป็นหัวหน้าของชุมชนนี้และเป็นผู้ปกครองอาณาจักรแห่งอันตกาลด้วย แต่เขาไม่ใช่พระเมสสิยาห์ในตระกูลดาวิด ในเวลาต่อมาธรรมประเพณีของชาวยิวจะคิดว่า “บุตรแห่งมนุษย์” เป็นบุคคลจริงๆ ไม่ใช่เป็นการสมมติให้ชุมชนหรือประชาชนเป็นปัจเจกบุคคล และผู้นิพนธ์พันธสัญญาใหม่จะนำตำแหน่งนี้มาใช้กับพระเยซูเจ้า บางทีเพื่อเน้นว่าพระองค์ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ในด้านโลกุตระและทางจิตใจเท่านั้น (มธ 8:20 เชิงอรรถ h)

               หนังสือดาเนียลไม่ใช่ส่วนหนึ่งในธรรมประเพณีของบรรดาประกาศกอีกต่อไป เพราะไม่มีเนื้อหาเป็นการเทศน์สอนของประกาศก ซึ่งได้รับมอบหมายจากพระเจ้าให้มาสั่งสอนตักเตือนประชาชนร่วมสมัย แต่เป็นหนังสือที่แต่งขึ้นและผู้เขียนใช้นามแฝงเพื่อไม่เปิดเผยว่าตนเป็นใคร เช่นเดียวกับในกรณีของหนังสือโยนาห์ก่อนหน้านั้น เรื่องที่เป็นตัวอย่างเตือนใจในภาคแรกของหนังสือดาเนียลมีลักษณะใกล้เคียงกับ วรรณกรรมประเภทปรีชาญาณ ซึ่งมีเรื่องของโยเซฟในหนังสือปฐมกาลเป็นต้นแบบ และในสมัยต่อมาก็มีหนังสือโทบิตซึ่งแต่งขึ้นก่อนหนังสือดาเนียลไม่นานนัก ส่วน “นิมิต” ในภาคสองของหนังสือเป็นการเปิดเผยความลับของพระเจ้า มีทูตสวรรค์เป็นผู้อธิบายความหมายเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอนาคต ซึ่งจงใจกล่าวไว้เป็นปริศนา หนังสือ “ซึ่งมีตราผนึกอยู่” นี้ (12:4) เป็นหนังสือเล่มแรกแบบ “วิวรณ์” (Apocalypse) ซึ่งพัฒนาเต็มที่แล้ว วรรณกรรมแบบนี้เริ่มพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ในหนังสือเอเสเคียล และต่อมาจะเป็นที่นิยมกันมากในวรรณกรรมของชาวยิว ในพันธสัญญาใหม่ หนังสือซึ่งมีลักษณะเดียวกันกับหนังสือดาเนียลก็คือ “หนังสือวิวรณ์” แต่ในหนังสือฉบับหลังนี้ “ดวงตราที่ผนึก” หนังสือถูก “เปิดออก” (วว 5-6) ถ้อยคำในหนังสือจึงไม่เป็น “ความลับ” อีกต่อไป เพราะ “เวลาใกล้มาถึงแล้ว” (วว 22:10) และเรากำลังรอคอยการเสด็จมาขององค์พระผู้เป็นเจ้า (1 คร 16:22; วว 22:20)

16. ประกาศกน้อยสิบสององค์

16. ประกาศกน้อยสิบสององค์

         หนังสือฉบับสุดท้ายของหมวด “ประกาศก” ในพระคัมภีร์ภาษาฮีบรูมีชื่อสั้นๆ ว่า “สิบสอง” เป็นหนังสือรวบรวมหนังสือสั้นๆ ที่มีชื่อเป็นของประกาศกหลายองค์ ชื่อหนังสือในภาษากรีกคือ “Dodekapropheton” (= [หนังสือ]ของประกาศกสิบสององค์) พระศาสนจักรรู้จักหนังสือฉบับนี้ในนามของ “ประกาศกน้อย” ไม่ใช่เพราะรวบรวมหนังสือที่มีความสำคัญน้อยกว่า “ประกาศกใหญ่” แต่เพียงเพราะว่าหนังสือเหล่านี้มีความยาวน้อยกว่าเท่านั้น หนังสือเหล่านี้รวมไว้เป็นชุดแล้วในสมัยที่เยซู “บุตรสิรา” เขียนหนังสือของตน (บสร 49:10) พระคัมภีร์ภาษาละตินฉบับ Vulgata เรียงหนังสือเหล่านี้ไว้ตามลำดับเหมือนกับในพระคัมภีร์ภาษาฮีบรู ซึ่งเป็นลำดับที่ถือเป็นธรรมประเพณีสืบต่อๆ กันมา พระคัมภีร์ฉบับภาษากรีกมีลำดับแตกต่างออกไปเล็กน้อย ยิ่งกว่านั้นยังจัดหนังสือเหล่านี้ไว้ก่อน “ประกาศกใหญ่” อีกด้วย

             ในพระคัมภีร์ฉบับนี้ หนังสือประกาศกน้อยทั้งสิบสองฉบับจัดลำดับตามที่เคยปฏิบัติกันมาเหมือนในฉบับภาษาฮีบรู แต่ใน “ความรู้ทั่วไป” นี้ เราจะอธิบายถึงประกาศก (น้อย) แต่ละคนตามลำดับเวลาก่อนหลังที่น่าจะถูกต้องตามประวัติศาสตร์

17. ประกาศกอาโมส

17. ประกาศกอาโมส

                อาโมสมีอาชีพเลี้ยงแกะที่เมืองเทโคอา ซึ่งอยู่ริมถิ่นทุรกันดารของแคว้นยูเดีย (อมส 1:1) ไม่ได้สังกัดอยู่กับ “กลุ่มประกาศก” กลุ่มใด พระยาห์เวห์ทรงเรียกเขาจากฝูงแกะและทรงส่งเขาไปประกาศพระวาจาในอาณาจักรอิสราเอล (7:14) หลังจากที่ได้ปฏิบัติภารกิจในช่วงเวลาสั้นๆ ที่สักการสถานของอาณาจักรเหนือที่เมืองเบธเอล (7:10-15) หรืออาจที่กรุงสะมาเรียด้วย (ดู 3:9; 4:1; 6:1) เขาก็ถูกขับไล่จากอาณาจักรอิสราเอลให้กลับไปทำอาชีพเลี้ยงแกะดังเดิม

               ประกาศกอาโมสเทศน์สอนประชาชนในรัชสมัยของกษัตริย์เยโรโบอัมที่ 2 (783-743 ก่อน ค.ศ.) ซึ่งถ้าจะพิจารณาถึงความเจริญด้านวัตถุ เป็นช่วงเวลารุ่งเรืองของอาณาจักรเหนือที่ขยายอาณาเขตอย่าง กว้างขวางและร่ำรวยมาก ในขณะที่คนร่ำรวยเอาเปรียบคนยากจนและใช้พิธีทางศาสนาที่สง่างามปกปิดความไม่จริงใจในการถือศาสนาอย่างถูกต้อง ในฐานะที่ประกาศกอาโมสเป็นชาวชนบทแท้จริง เขาพูดจาโผงผาง ตรงไปตรงมา ไม่หวั่นเกรงผู้ใด ใช้ภาพพจน์ต่างๆ จากชีวิตชาวชนบทประกาศสอนในพระนามพระเจ้า ประณามความชั่วร้ายในชีวิตของชาวเมือง ตำหนิความอยุติธรรมในสังคมและการหลอกตนเองให้มีความสบายใจโดยการปฏิบัติศาสนกิจที่ไม่จริงใจ (5:21-22) พระยาห์เวห์ผู้ปกครองจักรวาลทรงลงโทษนานาชาติ (บทที่ 1-2) จะทรงลงโทษอิสราเอลอย่างรุนแรงด้วย อิสราเอลในฐานะประชากรที่ทรงเลือกสรรน่าจะปฏิบัติความยุติธรรมอย่างเคร่งครัดมากกว่าชนชาติอื่น (3:2) “วันของพระยาห์เวห์” (วลีนี้ปรากฏเป็นครั้งแรกในพระคัมภีร์ที่ตรงนี้) จะเป็นวันแห่งความมืด ไม่ใช่วันแห่งความสว่าง (5:18-20) เป็นวันที่พระเจ้าจะทรงลงโทษอย่างน่ากลัว (6:8ฯฯ) พระเจ้าจะทรงเรียกชนชาติหนึ่ง (6:14) มาลงโทษประชากรของพระองค์ นั่นคือชาวอัสซีเรีย ซึ่งแม้ประกาศกจะไม่ออกนามเลย แต่ชื่อนี้อยู่ในความคิดของประกาศกตลอดเวลา กระนั้นก็ดี ประกาศกอาโมสก็ยังจุดประกายความหวัง เขามองไปข้างหน้าถึงความรอดพ้นของพงศ์พันธุ์ยาโคบ (9:8) กล่าวว่าจะมี “ผู้รอดชีวิต” (the ramnant) เหลืออยู่จากตระกูลโยเซฟ (5:15) [อาโมสจะเป็นประกาศกคนแรกที่ใช้วลีนี้] เขาจะเป็นผู้กล่าวอย่างชัดเจนโดยไม่ลังเลใจแม้แต่น้อยถึงคำสอนลึกซึ้งเรื่องพระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพ ผู้ทรงเป็นเจ้านายแห่งสากลจักรวาล ทรงความยุติธรรมนิรันดร ประกาศกไม่แสดงให้เห็นเลยว่าคำสอนเหล่านี้เป็นคำสอนใหม่ เอกลักษณ์ของเขาอยู่ที่การกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่าศาสนาแท้จริงของพระยาห์เวห์นั้นเรียกร้องอะไรบ้าง

                หนังสืออาโมสมีความสับสนอยู่บ้างเมื่อตกมาถึงเรา ข้อความร้อยแก้วใน 7:10-17 โดยเฉพาะ แยกนิมิตสองเรื่องออกจากกัน ข้อความตอนนี้น่าจะอยู่ตอนปลายของคำประกาศพระวาจาของประกาศก ข้อความสั้นๆ บางตอนทำให้เราสงสัยว่าใครเป็นผู้กล่าวข้อความดังกล่าว ข้อความยอพระเกียรติใน 4:13; 5:8-9; 9:5-6 อาจเป็นข้อความที่เพิ่มเติมเข้ามาเพื่อใช้ในพิธีกรรม คำกล่าวสั้นๆ ประณามเมืองไทระ เอโดม ใน 1:9-12 และกล่าวประณามยูดาห์ใน 2:4-5 น่าจะมาจากสมัยเนรเทศ ข้อความใน 9:8ข-10 และโดยเฉพาะ 9:11-15 ก็ชวนให้สงสัยเช่นเดียวกัน เราไม่มีเหตุผลหนักแน่นพอให้สงสัยว่าข้อความแรก (9:8ข-10) ไม่ใช่ถ้อยคำของประกาศก และเป็นไปได้มากว่าข้อความใน 9:11-15 เป็นข้อความที่เพิ่มเติมเข้ามาในภายหลัง ไม่มีเหตุผลสนับสนุนว่าคำสัญญาถึงความรอดพ้นในอนาคตที่กล่าวไว้ใน 9:11-15 มาจากประกาศกอาโมส เพราะว่าคำสัญญาทำนองนี้มีลักษณะของคำเทศน์สอนของบรรดาประกาศกตลอดมาตั้งแต่โบราณแล้ว (ดู คำสอนของอาโมส ใน 5:15 และคำสอนของประกาศกโฮเชยาร่วมสมัยด้วย) แต่ถ้อยคำที่กล่าวพาดพิงถึง “กระท่อมที่ล้มลงแล้ว” ของดาวิด กล่าวถึงการลงโทษชาวเอโดมและกล่าวถึงการกลับมาและการสถาปนาอิสราเอลขึ้นใหม่ ล้วนชวนให้คิดถึงช่วงเวลาแห่งการเนรเทศที่กรุงบาบิโลน ข้อความเหล่านี้อาจเป็นผลงานของผู้เรียบเรียงหนังสือประกาศกอาโมสในภายหลัง ซึ่งได้ดัดแปลงข้อความบางตอนของประกาศกให้สอดคล้องกับความคิดตามแนวหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติด้วย (คือหลักการที่ว่า “ความซื่อสัตย์ต่อพันธสัญญาจะนำพระพรมาให้ แต่การละเมิดพันธสัญญาจะนำหายนะมาสู่ประเทศชาติ)

18. ประกาศกโฮเชยา

18. ประกาศกโฮเชยา

              ประกาศกโฮเชยาเป็นชาวอาณาจักรเหนือ มีชีวิตร่วมสมัยกับประกาศกอาโมส เพราะงานของเขาเริ่มในรัชสมัยกษัตริย์เยโรโบอัมที่ 2 และดำเนินต่อในรัชกาลต่อๆ มาหลายรัชกาล แต่ดูเหมือนว่าโฮเชยามิได้มีชีวิตอยู่จนถึงการล่มสลายของกรุงสะมาเรียในปี 721 ก่อน ค.ศ. ช่วงเวลาทำงานของประกาศกโฮเชยาเป็นช่วงเสื่อมของอาณาจักรอิสราเอล กองทัพอัสซีเรียยก มาได้ชัยชนะในปี 734-732 ก่อน ค.ศ. ภายในประเทศก็มีการกบฏ กษัตริย์สี่พระองค์ถูกปลงพระชนม์ในช่วงเวลา 15 ปี ความเสื่อมทรามทางศีลธรรมและทางศาสนาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

              เราไม่รู้เรื่องราวอะไรเกี่ยวกับชีวิตของประกาศกโฮเชยาในช่วงเวลานี้เลย นอกจากปัญหาในครอบครัวที่เล่าไว้ในบทที่ 1-3 แต่ปัญหาเหล่านี้จะต้องเป็นเงื่อนไขการงานของเขาในฐานะประกาศก นักวิชาการยังมีความเห็นแตกต่างกันมากในการอธิบายความหมายของบทเริ่มต้นทั้ง 3 บทนี้ แต่คำอธิบายที่น่าจะเป็นไปได้มากกว่าหมดเห็นจะเป็นคำอธิบายต่อไปนี้ คือ โฮเชยาได้แต่งงานกับภรรยาซึ่งเขารักมาก แต่นางก็ละทิ้งเขาไป ถึงกระนั้นเขาก็ยังคงรักนางอยู่เช่นเดิม และหลังจากได้ทดสอบนางแล้วก็นำนางกลับมาอยู่ด้วย ประสบการณ์ขมขื่นเช่นนี้ของประกาศกนับเป็นสัญลักษณ์ของการที่พระยาห์เวห์ทรงปฏิบัติต่อประชากรของพระองค์ การที่ประกาศกโฮเชยาเข้าใจสัญลักษณ์นี้น่าจะมีอิทธิพลต่อการนำเสนอเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บทที่ 2 เสนอความหมายในการปฏิบัติตน และในขณะเดียวกันก็เป็นกุญแจไขความหมายของหนังสือทั้งเล่มด้วย ประชากรอิสราเอลในฐานะ “คู่สมรส” ของพระเจ้า ได้กลายเป็นหญิงแพศยาไร้สัตย์ ได้ทำให้พระยาห์เวห์ซึ่งเป็นเสมือนพระสวามีทรงพิโรธและทรงไม่ยอมให้มีคู่แข่ง ความรักของพระเจ้ายังมั่นคงอยู่ พระองค์จะทรงลงโทษอิสราเอล แต่เพื่อจะนำประชากร-คู่สมรสของพระองค์กลับมา และทำให้นางมีความยินดีอีกครั้งหนึ่งเหมือนเมื่อเริ่มรักกันครั้งแรก

               เป็นครั้งแรกที่พระคัมภีร์กล่าวถึงความสัมพันธ์ของพระเจ้ากับอิสราเอล ว่าเป็นเสมือนการสมรส นับเป็นภาพพจน์ที่ประกาศกกล้าเลือกอย่างสุดๆ และแสดงออกด้วยอารมณ์รุนแรงและด้วยความรักที่ลึกซึ้งพร้อมกันไปด้วย คำเทศน์เหล่านี้ต้องการสื่อให้ประชาชนได้เข้าใจอย่างถูกต้องว่าพระเจ้าทรงรักพวกเขามากเพียงไร ประกาศกเข้าใจว่าช่วงเวลาการอพยพจากอียิปต์ และเดินทางในถิ่นทุรกันดาร เป็นเสมือนช่วงเวลา “วิเศษสุด” แห่งความรักที่พระเจ้าทรงมีต่อประชากร แต่เมื่อช่วงเวลาสั้นๆ นี้ผ่านไปแล้ว ประชากรอิสราเอลก็ไม่ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าซึ่งยังทรงรักเขาอยู่ ประกาศกโฮเชยาใช้ถ้อยคำรุนแรงประณามบรรดาผู้ปกครองประชากร ซึ่งได้แก่ บรรดากษัตริย์ที่ได้รับตำแหน่งมาโดยที่พระเจ้าไม่ทรงประสงค์ ใช้การเมืองเป็นเครื่องเล่นทำให้ประชากรของพระเจ้าตกต่ำ มาอยู่ในระดับเดียวกับชนชาติอื่นๆ ทั่วไป บรรดาสมณะก็ขาดความรู้ มีแต่ความโลภ นำประชากรไปสู่หายนะ ประกาศกโฮเชยาเช่นเดียวกับอาโมส กล่าวโจมตีความอยุติธรรมและการใช้ความรุนแรง แต่เขาเน้นเป็นพิเศษเรื่องการละทิ้งพระยาห์เวห์ไปนับถือเทพเจ้าต่างๆ ทำให้คารวกิจต่อพระยาห์เวห์ในสักการสถานที่เมืองเบธเอลกลายเป็นการเคารพนับถือรูปเคารพไปด้วย ประชาชนคิดว่าพระยาห์เวห์ทรงเป็นเหมือนกับพระบาอัลและเทพีอัชทาร์เต ซึ่งประชาชนใช้พิธีกรรมที่มีเพศสัมพันธ์เป็นองค์ประกอบเพื่อถวายคารวะแด่เทพเจ้าตามสักการสถานบนเนินสูง แต่พระยาห์เวห์ทรงเป็นพระเจ้าที่ไม่ทรงยอมให้มีคู่แข่ง พระองค์ทรงเรียกร้องประชาชนให้มีจิตใจไม่แบ่งแยกในการถวายคารวะแด่พระองค์ “เราต้องการความรักมั่นคง ไม่ประสงค์การถวายบูชา เราต้องการการรู้จักพระเจ้า มากกว่าเครื่องเผาบูชา” (6:6) เพราะฉะนั้น การลงโทษจะมาถึงในไม่ช้า แต่พระเจ้าทรงลงโทษก็เพื่อจะทรงช่วยให้รอดพ้น เมื่ออิสราเอลต้องสูญเสียทุกสิ่ง มีความอับอายเสมือนถูกเปลือยเปล่าแล้ว ก็จะระลึกได้อีกถึงวันในอดีตที่พวกเขายังซื่อสัตย์ต่อพระองค์ พระยาห์เวห์จะทรงรับประชากรที่เป็นทุกข์กลับใจกลับมาเป็นประชากรของพระองค์อีกครั้งหนึ่ง ความสุขและสันติภาพก็จะกลับคืนมาด้วย

               บรรดานักวิชาการเคยคิดกันว่า คำประกาศพระวาจาทั้งหลายในหนังสือประกาศกโฮเชยาที่กล่าวถึงความสุขและกล่าวถึงอาณาจักรยูดาห์ ล้วนเป็นข้อความที่เพิ่มเติมเข้ามาในภายหลัง แต่ในปัจจุบัน ข้อสรุปเช่นนี้มีความสมดุลมากขึ้น เราคงจะเข้าใจคำสอนของประกาศกโฮเชยาผิดเพี้ยนไปหมด ถ้าคิดว่าเขาเป็นประกาศกที่กล่าวถึงแต่หายนะเท่านั้น การที่ประกาศกจะสนใจคิดถึงอาณาจักรยูดาห์ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกันด้วยนั้นต้องนับว่าเป็นเรื่องธรรมดา ถึงกระนั้นเราก็ต้องยอมรับว่าคำประกาศพระวาจาของประกาศกโฮเชยา ซึ่งมีผู้รวบรวมไว้ในอาณาจักรอิสราเอลนั้น ต่อมาก็ได้รับการเรียบเรียงอีกหนึ่งหรือสองครั้งในอาณาจักรยูดาห์ จนมีรูปแบบสุดท้ายเหมือนที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน ร่องรอยของการเรียบเรียงเช่นนี้ปรากฏให้เห็นในชื่อหนังสือ (1:1) และในตัวบทด้วย (เช่นใน 1:7; 5:5; 6:11; 12:3) ข้อความสุดท้ายของหนังสือ (14:10) เป็นความคิดคำนึงของผู้มีปรีชาในสมัยเนรเทศไปกรุงบาบิโลน หรือสมัยหลังการเนรเทศ ซึ่งสรุปคติสอนใจของหนังสือ ปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับการตีความอธิบายหนังสือประกาศกโฮเชยานี้มีมากยิ่งขึ้นเพราะตัวบทภาษาฮีบรูอยู่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์และสับสน เป็นตัวบทที่เก็บรักษาไว้อย่างไม่ดีเลย จะว่าถูกเก็บรักษาไว้อย่างเลวที่สุดในพันธสัญญาเดิมก็ได้

               หนังสือประกาศกโฮเชยามีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อพันธสัญญาเดิม คำตักเตือนของบรรดาประกาศกในสมัยหลังมักสะท้อนคำสอนของประกาศกโฮเชยา ในเรื่องการถือศาสนาจากใจจริงโดยมีความรักของพระเจ้าเป็นแรงบันดาลใจ  ประกาศกเยเรมีย์ได้รับอิทธิพล อย่างลึกซึ้งจากประกาศกโฮเชยา เราจึงไม่ต้องแปลกใจที่พันธสัญญาใหม่อ้างถึงข้อความจากประกาศกโฮเชยา หรืออย่างน้อยกล่าวพาดพิงถึงอยู่บ่อยๆ ประกาศกเยเรมีย์ เอเสเคียล และอิสยาห์ที่สองยังยืมภาพพจน์เรื่องการแต่งงานมากล่าวพาดพิงถึงความรักที่พระเจ้าทรงมีต่อประชากรของพระองค์ พันธสัญญาใหม่และชุมชนคริสตชนในสมัยแรกมักใช้ภาพพจน์นี้เมื่อกล่าวถึงความสัมพันธ์ของพระคริสตเจ้ากับพระศาสนจักร บรรดาชาวคริสต์ผู้บำเพ็ญณานยังใช้ภาพพจน์นี้กับวิญญาณของปัจเจกบุคคลด้วย

19. ประกาศกมีคาห์

19. ประกาศกมีคาห์

              ประกาศกมีคาห์ (อย่าไปปนกับประกาศกมีคายาห์บุตรอิมลาห์ ซึ่งมีชีวิตอยู่ในรัชสมัยของกษัตริย์อาคับ 1 พกษ 22) เป็นชาวอาณาจักรยูดาห์
จากเมืองโมเรเชททางตะวันตกของเมืองเฮโบรน เขาปฏิบัติภารกิจในรัชสมัยกษัตริย์อาคัสและเฮเซคียาห์ คือก่อนและหลังการล่มสลายของกรุงสะมาเรียในปี 721 ก่อน ค.ศ. และอาจประกาศพระวาจาอยู่จนถึงการรุกรานของกษัตริย์เซนนาเคริบแห่งอัสซีเรียในปี 701 ก่อน ค.ศ. เพราะฉะนั้นเขาจึงอยู่ร่วมสมัยกับประกาศกโฮเชยา และร่วมสมัยนานกว่ากับประกาศกอิสยาห์ด้วย มีคาห์มีภูมิหลังเป็นชาวชนบทจึงมีลักษณะบางประการเหมือนๆ กับประกาศกอาโมส คือมีความหวาดระแวงต่อสังคมเมือง พูดจาตรงไปตรงมา ไม่ระวังการใช้ภาษานัก มีรสนิยมในการใช้ภาพพจน์ต่อเนื่องกันเร็วๆ และชอบเล่นคำ

              หนังสือของประกาศกมีคาห์แบ่งได้เป็น 4 ภาค คือ ภาคที่ 1 การคาดโทษและคำสัญญา (1:2-3:12) ภาคที่ 2 การกล่าวหาประชากรอิสราเอล (4:1-5:14) ภาคที่ 3 พระสัญญาต่อศิโยน (6:1-7:7) ภาคที่ 4 การกล่าวหาอิสราเอลอีกครั้งหนึ่ง และความหวังในอนาคต (7:8-20) พระสัญญาต่อศิโยนมีความขัดแย้งกันอย่างมากกับคำคาดโทษที่นำหน้าหรือตามมา การจัดข้อความให้มีสมดุลเช่นนี้ต้องเป็นผลงานของผู้เรียบเรียงแน่ ๆ เป็นการยากจะกำหนดลงไปว่าผู้เรียบเรียงได้ปรับข้อความของประกาศกมากน้อยเพียงไร ผู้เรียบเรียงเหล่านี้ล้วนเคารพรักต่อประกาศกเป็นอย่างมาก นักวิชาการหลายคนเห็นพ้องต้องกันว่าข้อความใน 7:8-20 มาจากช่วงเวลาหลังกลับจากการเนรเทศแล้วอย่างแน่นอน คำประกาศพระวาจาใน 2:12-13 ก็น่าจะมาจากช่วงเวลานี้ด้วย เพราะไม่น่าจะรวมอยู่กับคำคาดโทษและคำประกาศพระวาจาใน 4:6-7 และ 5:6-7 แต่ข้อความใน 4:1-5 นั้นเกือบจะเหมือนกันกับข้อความใน อสย 2:2-5 และดูเหมือนว่าจะไม่อยู่ในบริบทดั้งเดิมของหนังสือทั้งสองฉบับ กระนั้นก็ดี ข้อความที่เพิ่มเติมเข้ามาในภายหลังเหล่านี้ไม่ใช่เหตุผลเพียงพอที่ทำให้เราต้องตัดคำสัญญาถึงอนาคตออกไป เพราะไม่ใช่คำสอนของประกาศกมีคาห์จริงๆ คำประกาศพระวาจาซึ่งอยู่ในบทที่ 4-5 ได้รับการรวบรวมเข้าไว้ด้วยกันในสมัยเนรเทศหรือหลังกลับจากการเนรเทศก็จริง แต่ก็เป็นการรวบรวมถ้อยคำที่ประกาศกเคยกล่าวไว้จริงๆ ยิ่งกว่านั้น ยังไม่มีเหตุผลที่มีน้ำหนักพอจะทำให้เราปฏิเสธว่าคำทำนายเกี่ยวกับพระเมสสิยาห์ใน 5:1-5 ไม่เป็นถ้อยคำของประกาศกมีคาห์ เพราะถ้อยคำเหล่านี้เข้ากันได้ดีกับความคาดหวังของประกาศกอิสยาห์ซึ่งอยู่ร่วมสมัยเดียวกัน (อสย 9:1ฯ; 11:1ฯ)

               เราแทบไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับชีวิตของประกาศกมีคาห์ และไม่รู้ด้วยว่าพระเจ้าทรงเรียกเขาในโอกาสใด ถึงกระนั้นเขาก็มีความมั่นใจอย่างมากว่า พระเจ้าทรงเรียกตนให้มาเป็นประกาศก ทำให้เขาไม่กลัวสิ่งใดเมื่อกล่าวทำนายถึงหายนะที่จะเกิดขึ้น ตรงข้ามกับประกาศกเทียมซึ่งมักจะไม่กล้าทำเช่นนี้ (2:6-11; 3:5-8) เขาเป็นผู้นำข่าวสารจากพระเจ้ามาประกาศแก่ประชากร ข่าวสารนี้ก่อนอื่นหมดเป็นการกล่าวถึงการตัดสินลงโทษ พระยาห์เวห์ทรงสอบสวนประชากรของพระองค์ (1:2; 6:1ฯ) และทรงพบว่าประชากรมีความผิด การนับถือศาสนาของประชากร และโดยเฉพาะความประพฤติของเขาทั้งหลาย ไม่เป็นอย่างที่ควรเป็น ประกาศกมีคาห์กล่าวประณามพวกนายทุนที่เห็นแก่เงิน พวกที่ให้กู้เงินโดยคิดดอกเบี้ยสูง พวกพ่อค้าที่คดโกง ครอบครัวที่ทะเลาะเบาะแว้งแตกแยกกัน บรรดาสมณะ ประกาศก ผู้มีอำนาจที่มีความโลภ และบรรดาผู้พิพากษาที่กินสินบน ลักษณะทั้งหมดนี้ตรงกันข้ามกับอุดมการณ์ที่พระเจ้าทรงเรียกร้องคือ  “ให้ท่านปฏิบัติความยุติธรรมและรักความดีงาม และดำเนินชีวิตอย่างถ่อมตนกับพระเจ้าของท่าน” (6:8) สูตรน่าฟังนี้สรุปข้อเรียกร้องทางจิตใจที่บรรดาประกาศกย้ำเตือนเสมอๆ โดยเฉพาะประกาศกโฮเชยา พระเจ้าทรงกำหนดการลงโทษไว้แล้ว พระองค์จะเสด็จมาพิพากษาและลงอาญาประชากรของพระองค์ด้วยภัยพิบัติทางธรรมชาติ (1:3-4) กรุงสะมาเรียจะถูกทำลาย (1:6-7) รวมทั้งเมืองต่างๆ แถบชายทะเลที่มีคาห์อาศัยอยู่ (1:8-15) แม้แต่กรุงเยรูซาเล็มก็จะกลายเป็นกองสิ่งปรักหักพังด้วย (3:12)

             แต่ประกาศกก็ยังให้ความหวังอยู่อีก (7:7) เขาขยายความคำสอนของประกาศกอาโมสเรื่อง “ผู้รอดชีวิตอยู่” และกล่าวทำนายถึงการประสูติของ “สันติราชา” ที่เมืองเอฟราธาห์ พระองค์จะทรงอภิบาลเลี้ยงดูฝูงแกะของพระองค์ (5:1-5)

              ประกาศกมีคาห์มีอิทธิพลอย่างมั่นคงต่อประชากร ประชาชนในสมัยประกาศกเยเรมีย์รู้และยกข้อความที่ประกาศกมีคาห์เคยกล่าวประณามกรุงเยรูซาเล็มไว้ (ยรม 26:18) พันธสัญญาใหม่ให้ความสำคัญพิเศษโดยเฉพาะแก่ข้อความของประกาศกมีคาห์ที่กล่าวว่า พระเมสสิยาห์จะประสูติที่เมืองเบธเลเฮม-เอฟราธาห์ (มธ 2:6; ยน 7:42)

20. ประกาศกเศฟันยาห์

20. ประกาศกเศฟันยาห์

           จากข้อความที่เป็นชื่อของหนังสือ เรารู้ว่าประกาศกเศฟันยาห์ปฏิบัติภารกิจในรัชสมัยของกษัตริย์โยสิยาห์ (640-609 ก่อน ค.ศ.) เขากล่าวโจมตีการปฏิบัติตามอย่างคนต่างชาติ (1:8) การที่ประชาชนนับถือรูปเคารพของบรรดาเทพเจ้า (1:4-5) และกล่าวตำหนิบรรดาข้าราชสำนัก (1:8) แต่มิได้กล่าวอะไรถึงกษัตริย์โยสิยาห์ เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ชวนให้เราคิดไปถึงช่วงเวลาก่อนที่กษัตริย์โยสิยาห์จะทรงปฏิรูปทางศาสนา ซึ่งน่าจะอยู่ในช่วงเวลาที่ยังทรงพระเยาว์อยู่ คือช่วงเวลาระหว่างปี 640 ถึง 630 ก่อน ค.ศ. ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่ประกาศกเยเรมีย์จะเริ่มปฏิบัติภารกิจของตนเพียงเล็กน้อย ก่อนหน้านั้นกษัตริย์เซนนาเคริบแห่งอัสซีเรียได้ทรงยึดดินแดนส่วนหนึ่งของอาณาจักรยูดาห์ไป อาณาจักรยูดาห์เป็นประเทศราชของอัสซีเรีย ในขณะที่กษัตริย์มนัสเสห์และอาโมนไม่สนใจเรื่องศาสนาทำให้ประชาชนมีความสับสนในเรื่องนี้ แต่ต่อมาอำนาจของจักรวรรดิอัสซีเรียกำลังเสื่อมถอย จึงทำให้ชาวอิสราเอลมีความหวังในการกอบกู้เอกราชและปฏิรูปทางศาสนาได้อีก

              หนังสือเศฟันยาห์แบ่งได้เป็น 4 ภาคดังนี้  ภาคที่หนึ่ง กล่าวถึง “วันของพระยาห์เวห์” (1:2-2:3) ภาคที่สองเป็นการประกาศพระวาจาประณามนานาชาติ (2:4-15) ภาคที่สามกล่าวประณามกรุงเยรูซาเล็ม (3:1-8) และภาคที่สี่เป็นพระสัญญาจากพระเจ้า (3:9-20) ดูจะไม่มีเหตุผลเพียงพอ ที่นักวิชาการบางคนพยายามจะตัดคำประณามนานาชาติบางข้อและพระสัญญาในภาคที่สี่ออกไปว่าไม่ใช่ผลงานของประกาศก กระนั้นก็ดี เราต้องยอมรับว่าหนังสือเศฟันยาห์คงได้รับการ ปรับปรุง เรียบเรียง หรือเพิ่มเติมข้อความที่โน่นบ้างที่นี่บ้าง เช่นเดียวกับหนังสือของประกาศกคนอื่น ๆ แต่ในกรณีของหนังสือเศฟันยาห์นี้คงมีน้อยแห่ง ที่น่าสังเกตได้แก่คำทำนายถึงการกลับใจของนานาชาติ (2:11 และ 3:9-10) ข้อความทั้งสองตอนนี้อยู่นอกบริบทและได้รับอิทธิพลจากประกาศกอิสยาห์ “ที่สอง” (Deutero-Isaiah) นักวิชาการยังมีความเห็นไม่ตรงกันอีกว่า “เพลงสดุดี” สั้นๆ ใน 3:14-15 และ 16-18ก จะเป็นผลงานแท้ของประกาศกหรือไม่ นักวิชาการส่วนมากมีความเห็นพ้องกันว่าข้อความสรุปใน 3:18ข-20 เป็นข้อความจากสมัยเนรเทศที่กรุงบาบิโลน

             กล่าวโดยย่อ ประกาศกเศฟันยาห์ประกาศพระวาจาเกี่ยวกับ “วันของพระยาห์เวห์” (เทียบ ประกาศกอาโมส) ซึ่งจะนำหายนะมาให้ไม่เพียงแก่อาณาจักรยูดาห์เท่านั้น แต่จะนำมาให้นานาชาติด้วย อาณาจักรยูดาห์ถูกตัดสินลงโทษเพราะความผิดทางศีลธรรมและศาสนกิจซึ่งเกิดมาจากความหยิ่งจองหองและเป็นกบฏต่อพระเจ้า ประกาศกเศฟันยาห์มีความเข้าใจถึงบาปเป็นอย่างดี (ก่อนหน้าประกาศกเยเรมีย์) ว่าบาปคือการทำผิดต่อพระบุคคลของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต โทษที่นานาชาติได้รับต้องเป็นการเตือนประชากรของพระเจ้า (3:7) ให้มีความเชื่อฟังและถ่อมตน (2:3) พระเจ้าทรงสัญญาจะประทานความรอดพ้นให้แก่ “ประชาชนที่รอดชีวิตอยู่” (the ramnant) ซึ่งถ่อมตนและเชื่อฟังพระเจ้าเท่านั้น (3:12-13) คำสอนของประกาศกเศฟันยาห์เกี่ยวกับพระเมสสิยาห์ไปไกลถึงเพียงนี้เท่านั้น แต่ก็เพียงพอที่จะเปิดเผยให้เห็นว่าพระสัญญาที่ว่านี้มีลักษณะเป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตใจโดยตรง

             หนังสือสั้นๆ ของประกาศกเศฟันยาห์มีอิทธิพลไม่มากนัก และพันธสัญญาใหม่กล่าวถึงเพียงครั้งเดียวเท่านั้นใน มธ 13:41 แต่การบรรยายถึง “วันของพระยาห์เวห์” ใน 1:14-18 นั้นมีอิทธิพลต่อประกาศกโยเอลเมื่อกล่าวถึง “วันของพระเจ้า” และในสมัยกลาง ข้อความนี้จะเป็นคำเริ่มต้นของบทเพลง “Dies Irae” ในพิธีกรรมด้วย

21. ประกาศกนาฮูม

21. ประกาศกนาฮูม

             หนังสือประกาศกนาฮูมเริ่มด้วยเพลงสดุดีที่กล่าวว่า พระยาห์เวห์ทรงลงโทษความผิดของคนชั่วร้าย และคำประกาศพระวาจาสั้นๆ ที่กล่าวถึงการลงโทษชาวอัสซีเรีย แต่ทรงนำความรอดพ้นมาให้อาณาจักรยูดาห์ (1:2-2:3) แต่ความคิดหลักของหนังสือมีกล่าวไว้ในข้อแรก คือเรื่องการทำลายกรุงนีนะเวห์ ประกาศกนาฮูมกล่าวพยากรณ์ล่วงหน้าและบรรยายถึงการ ทำลายกรุงนีนะเวห์นี้ไว้อย่างขึงขังจริงจัง แสดงให้เห็นว่าท่านเป็นกวียิ่งใหญ่คนหนึ่งของอิสราเอล (2:4-3:19) จึงไม่มีผู้ใดสงสัยว่าเพลงสดุดีและคำประกาศพระวาจาเริ่มต้น ซึ่งเป็นบทนำที่ดีเลิศของภาพการทำลายที่น่ากลัวซึ่งจะตามมานี้ เป็นผลงานของท่านประกาศกอย่างแน่นอน มีผู้คิดว่า “คำนำ” นี้ (หรือหนังสือทั้งฉบับ) เกิดมาจากพิธีกรรม หรืออย่างน้อยเคยใช้ในพิธีกรรมในพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม แต่ความเห็นนี้ไม่มีเหตุผลพิสูจน์ที่มีน้ำหนักพอให้เชื่อถือได้

              ประกาศกนาฮูมประกาศพระวาจาเหล่านี้ไม่นานนักก่อนที่กรุงนีนะเวห์จะถูกทำลายในปี 612 ก่อน ค.ศ. เป็นคำประกาศพระวาจาที่สะท้อนความเกลียดชังที่ชาวอิสราเอลมีต่อชาวอัสซีเรีย ซึ่งเป็นศัตรูร้ายกาจตลอดมา แต่คำประกาศพระวาจาก็ยังเต็มไปด้วยความหวังที่ความล่มจมของจักรวรรดิอัสซีเรียจะนำมาให้อีกด้วย ความรู้สึกชาตินิยมที่รุนแรงนี้ เราต้องไม่คิดล่วงหน้าถึงคำสอนของพระวรสาร หรือแม้แต่มีมุมมองโลกในแบบสากลของประกาศกอิสยาห์ที่สอง ย้ำถึงอุดมการณ์เรื่องความยุติธรรมและความเชื่อที่ว่า การล่มสลายของกรุงนีนะเวห์เป็นการลงโทษจากพระเจ้า พระองค์ทรงลงโทษผู้ที่ต่อสู้กับพระประสงค์ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ (1:11; 2:1) ทรงลงโทษผู้ที่เบียดเบียนข่มเหงชาวอิสราเอล (1:12-13) และทรงลงโทษนานาชาติที่ทำผิด (3:1-7)

              หนังสือของประกาศกนาฮูมคงต้องทำให้ชาวอิสราเอลมีความหวังขึ้นมาอีกในปี 612 ก่อน ค.ศ. ตามประสามนุษย์ แต่ความยินดีเช่นนี้ก็คงอยู่ได้ไม่นาน กรุงเยรูซาเล็มเองก็จะล่มสลายด้วยไม่นานหลังจากกรุงนีนะเวห์ หลังจากนี้ คำสอนของประกาศกจะมีมุมมองที่กว้างและลึกมากขึ้น อสย 52:7 จะยืมภาพพจน์ของ นฮม 2:1 มาใช้กล่าวถึงความรอดพ้นทางจิตใจของมวลมนุษย์ ชิ้นส่วนจากอรรถาธิบายหนังสือนาฮูม ซึ่งพบได้ที่กุมราน นำข้อความของประกาศกมาใช้อย่างอิสระกับศัตรูของชุมชนที่กุมรานว่าบรรดาศัตรูเหล่านี้จะถูกพระเจ้าทรงลงโทษด้วย

22. ประกาศกฮาบากุก

22. ประกาศกฮาบากุก

               หนังสือฉบับสั้นๆ ของประกาศกฮาบากุกมีโครงสร้างดีมาก เริ่มด้วยคำสนทนาโต้ตอบของประกาศกกับพระเจ้า ท่านประกาศกตัดพ้อต่อว่าถึงสองครั้งขอให้พระเจ้าทรงตอบ (1:2-2:4) คำประกาศพระวาจาครั้งที่สองขอร้องถึงห้าครั้งให้พระเจ้าทรงสาปแช่งผู้เบียดเบียนที่ชั่วร้าย (2:5-20) ต่อจากนั้นท่านประกาศกกล่าวบทเพลงสดุดียกย่องชัยชนะของพระเจ้าในวาระสุดท้าย (บทที่ 3) บรรดานักวิชาการยังมีความเห็นไม่ตรงกันว่าใครเป็นผู้แต่งบทสุดท้ายนี้ แต่ถ้าเราตัดบทสุดท้ายนี้ออกไป หนังสือของประกาศกก็คงจะขาดความสมดุล ข้อความนำหน้าถึงทำนองดนตรีที่ต้องใช้ขับร้องเพลงสดุดีบทนี้เป็นข้อพิสูจน์ว่าข้อความนี้เคยใช้ในพิธีกรรม แต่ก็เป็นที่น่าสงสัยว่าหนังสือฮาบากุกทั้งฉบับเคยใช้ในพิธีกรรมเช่นเดียวกันด้วยหรือไม่ ลักษณะลีลาทางพิธีกรรมของหนังสือฉบับนี้อาจเป็นเพียงการลอกเลียนแบบ มากกว่าจะเป็นการใช้งานจริงๆ ดังนั้น เหตุผลที่พยายามพิสูจน์ว่าฮาบากุกเป็นประกาศกที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรม หรือเป็นบุคลากรในพระวิหาร จึงไม่มีน้ำหนักพอจะเป็นที่ยอมรับได้ อรรถาธิบายหนังสือฮาบากุกซึ่งพบได้ที่กุมรานจบลงที่บทที่ 2 เท่านั้น แต่นี่ก็ไม่เป็นข้อพิสูจน์ได้ว่าบทที่ 3 เป็นผลงานของประกาศกจริงหรือไม่

                เราไม่รู้อะไรแน่ชัดถึงภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของคำประกาศพระวาจา หรือรู้ว่าผู้เบียดเบียนข่มเหงประชากรคือใคร มีผู้เสนอความเห็นว่าอาจเป็นชาวอัสซีเรีย ชาวเคลเดีย หรืออาจเป็นกษัตริย์เยโฮยาคิมแห่งยูดาห์ก็ได้ นักวิชาการส่วนมากไม่ยอมรับสมมติฐานสุดท้าย (กษัตริย์เยโฮยาคิม) แต่สมมติฐานอีกสองข้อนั้นมีผู้เห็นด้วยกับข้อใดข้อหนึ่ง ถ้าผู้เบียดเบียนคือชาวอัสซีเรีย เครื่องมือที่พระเจ้าทรงใช้ต่อสู้พวกนี้น่าจะเป็นชาวเคลเดีย (1:5-11) และการประกาศพระวาจานี้คงมีขึ้นก่อนที่กรุงนีนะเวห์จะถูกทำลายในปี 612 ก่อน ค.ศ. แต่ถ้าหนังสือฉบับนี้ทั้งเล่มกล่าวถึงชาวเคลเดียตามที่ออกชื่อไว้ใน 1:6 ก็หมายความว่าพระเจ้าทรงใช้ชาวเคลเดียนี้เพื่อลงโทษประชากรของพระองค์ แต่ชาวเคลเดียก็ จะถูกลงโทษด้วยเพราะใช้ความโหดร้ายมากเกินไป เนื่องจากว่าพระยาห์เวห์กำลังจะเสด็จมาช่วยประชากรของพระองค์ให้รอดพ้น ประกาศกจึงรอคอยการเสด็จมาช่วยเหลือนี้ด้วยความกระวนกระวาย และในที่สุดก็จะได้รับความยินดีมาแทนที่ ถ้าคำอธิบายเช่นนี้ถูกต้อง หนังสือฉบับนี้น่าจะเขียนขึ้นในช่วงเวลาระหว่างการรบที่คาร์เคมิชในปี 605 ก่อน ค.ศ. (การรบครั้งนี้ทำให้กษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์เป็นเจ้าปกครองดินแดนในตะวันออกกลางได้ทั้งหมด) กับการล้อมกรุงเยรูซาเล็มครั้งแรกในปี 597 ก่อน ค.ศ. และดังนี้ฮาบากุกก็จะปฏิบัติภารกิจภายหลังประกาศกนาฮูมไม่นาน และยังเป็นบุคคลร่วมสมัยกับประกาศกเยเรมีย์อีกด้วย

               ประกาศกฮาบากุกนำความคิดใหม่ข้อหนึ่งเข้ามาในคำสอนของบรรดาประกาศก เขาบังอาจถามพระเจ้าว่าทรงจัดระเบียบปกครองโลกอย่างไร ยูดาห์ได้ทำบาป แต่ทำไมพระเจ้าผู้ทรงความศักดิ์สิทธิ์ (1:12) ทรงมีพระเนตรบริสุทธิ์จนไม่อาจทอดพระเนตรเห็นความชั่วร้ายได้ (1:13) จึงทรงเลือกชาวเคลเดียที่โหดร้ายให้มาลงโทษประชากรของพระองค์ ทำไมคนชั่วจึงต้องได้รับโทษจากคนที่ชั่วร้ายกว่าตน ทำไมพระองค์จึงทรงดูเหมือนว่าทำให้ความอยุติธรรมมีพลังเพิ่มขึ้น นี่คือปัญหาเรื่องความชั่วร้ายในระดับนานาชาติและมนุษย์ทุกวันนี้หลายคนก็รู้สึกผิดหวังเช่นเดียวกับประกาศกฮาบากุก แต่เขาเหล่านี้ก็ได้รับคำตอบจากพระเจ้าเช่นเดียวกับประกาศกว่า พระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพทรงเตรียมชัยชนะในวาระสุดท้ายไว้ให้ผู้ชอบธรรม ด้วยวิธีการที่ดูจะขัดกับเหตุผล ชีวิตของผู้ชอบธรรม จะมีความปลอดภัยได้ก็โดยวางใจในพระเจ้าเท่านั้น (ดู 2:4) นักบุญเปาโลจะนำหลักการทรงค่ายิ่งข้อนี้ของประกาศกฮาบากุกเข้ามารวมไว้ในคำสอนของท่านเรื่องความเชื่อ (รม 1:17; กท 3:11; ฮบ 10:38)

23. ประกาศกฮักกัย

23. ประกาศกฮักกัย

               ระยะเวลาของประกาศกช่วงสุดท้าย คือสมัยหลังกลับจากการเนรเทศที่กรุงบาบิโลน จะเริ่มด้วยประกาศกฮักกัย เราจะสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน ในช่วงเวลาก่อนการเนรเทศไปกรุงบาบิโลน บรรดาประกาศกมักจะกล่าวถึงการลงโทษจากพระเจ้า ในระหว่างช่วงเวลาการเนรเทศ ถ้อยคำของบรรดาประกาศกจะเป็นคำปลอบโยนให้กำลังใจ บัดนี้ถึงเวลาการฟื้นฟูบูรณะอีกครั้งหนึ่ง ประกาศกฮักกัยปรากฏมาในช่วงเวลาวิกฤติของวิวัฒนาการแห่งศาสนายูดาย คือการสร้างสังคมชาวยิวขึ้นใหม่ในดินแดนปาเลสไตน์ ประกาศกกล่าวคำตักเตือนสั้นๆ ของตนพอดีในช่วงเวลาตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมถึงกลางเดือนธันวาคมของปี 520 ก่อน ค.ศ. ชาวยิวกลุ่มแรกที่กลับมาจากกรุงบาบิโลนเพื่อสร้างพระวิหารขึ้นใหม่ พากันหมดกำลังใจลงภายในระยะเวลาสั้นๆ ประกาศกฮักกัยและเศคาริยาห์จึงปลุกใจเขาให้มีความพยายามขึ้นมาใหม่ เตือนเศรุบบาเบลผู้ว่าราชการและเตือนโยชูวามหาสมณะให้เริ่มงานก่อสร้างพระวิหารอีกครั้งหนึ่ง งานนี้จึงเริ่มขึ้นในเดือนกันยายนปี 520 ก่อน ค.ศ. (1:15; ดู อสร 5:1)

              คำปราศรัยสั้นๆ 4 บทซึ่งประกอบขึ้นเป็นหนังสือฮักกัยนี้ล้วนกล่าวถึงเรื่องการสร้างพระวิหารทั้งสิ้น เขาบอกประชาชนว่าการที่พระวิหารยังคงอยู่ในสภาพปรักหักพังและไม่มีผู้ใดสนใจ ทำให้พระยาห์เวห์ทรงบันดาลให้ความพยายามของบรรดากสิกรไม่บังเกิดผลิตผล แต่การเริ่มสร้างพระวิหารขึ้นใหม่จะเป็นการเบิกยุคแห่งความเจริญรุ่งเรือง แม้ว่าพระวิหารหลังใหม่นี้จะไม่ใหญ่โตเหมือนพระวิหารหลังแรก แต่ก็จะมีความรุ่งเรืองเหนือกว่ามาก ประกาศกยังสัญญาว่าเศรุบบาเบลจะมีอำนาจในฐานะผู้แทนของพระเจ้าที่พระองค์ทรงเลือกสรรไว้

              ประกาศกกล่าวว่าการสร้างพระวิหารขึ้นใหม่นี้เป็นเงื่อนไขของการที่พระเจ้าจะเสด็จมา พระองค์จะทรงสถาปนาพระอาณาจักรของพระองค์ขึ้นอีก เวลาของความรอดพ้นในยุคสุดท้ายกำลังจะเริ่มขึ้น ประกาศกเศคาริยาห์จะกล่าวอย่างชัดเจนยิ่งขึ้นว่าพระวิหารและราชวงศ์ของกษัตริย์ดาวิดจะเป็นศูนย์กลางของความหวังถึงองค์พระเมสสิยาห์

24. ประกาศกเศคาริยาห์

24. ประกาศกเศคาริยาห์

               หนังสือประกาศกเศคาริยาห์ประกอบด้วยเนื้อหาสองภาคที่แยกกันเด็ดขาด คือ บทที่ 1-8 กับบทที่ 9-14 คำนำบอกเวลาเขียนไว้ว่าเขียนขึ้นในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ปี 520 ก่อน ค.ศ. หรือ 2 เดือนหลังจากคำประกาศพระวาจาครั้งแรกของประกาศกฮักกัย เนื้อหาในภาคแรกของหนังสือเป็น “นิมิต” 8 ครั้งของประกาศกซึ่งเริ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 519 ก่อน ค.ศ. (1:7-6:8) ตามด้วยเรื่องการสวมมงกุฎเศรุบบาเบลเป็นสัญลักษณ์ (6:9-14) [ต่อมาผู้เรียบเรียงได้นำชื่อของโยชูวามหาสมณะมาเขียนแทน ในเมื่อความหวังที่ประชาชนเคยมีต่อเศรุบบาเบลจางหายไป และอำนาจทางการเมืองของชาวยิวตกมาอยู่กับบรรดาสมณะแทน] บทที่ 7 เป็นการกล่าวสรุปถึงประวัติศาสตร์ของอิสราเอล และบทที่ 8 มองไปในอนาคตถึงยุคพระ
เมสสิยาห์ เรื่องทั้งสองนี้เกิดขึ้นจากคำถามในเดือนพฤศจิกายน ปี 518 ก่อน ค.ศ. เกี่ยวกับหน้าที่เรื่องการจำศีลอดอาหาร

               เนื้อหาในภาคแรกซึ่งมีวันเดือนปีกำกับไว้ชัดเจน และมีความคิดต่อเนื่องนี้เป็นผลงานของประกาศกเศคาริยาห์จริง ๆ แต่ก็มีเครื่องหมายแสดงว่าได้รับการเรียบเรียงใหม่อยู่ด้วยเหมือนกัน ผู้เรียบเรียงอาจเป็นประกาศกหรือศิษย์ของเขา ตัวอย่างเช่น คำประกาศพระวาจาที่กล่าวถึงนานาชาติใน 8:20-23 ถูกผนวกเข้ามาต่อจาก 8:18-19 ซึ่งแต่เดิมเป็นข้อความสรุป

               ประกาศกเศคาริยาห์มีความกังวลใจเช่นเดียวกับประกาศกฮักกัย ถึงเรื่องการสร้างพระวิหารหลังใหม่ เขายังเน้นอีกว่าการสร้างพระวิหารหลังใหม่เรียกร้องมากกว่าให้มีการฟื้นฟูชาติและแก้ไขความประพฤติผิดศีลธรรมที่น่าตำหนิเท่านั้น แต่ยังรอคอยว่ายุคสุดท้ายจะมาถึงในไม่ช้าด้วย เขาคอยท่าว่าการฟื้นฟูชาติคือการเริ่มต้นยุคพระเมสสิยาห์ที่ตำแหน่งสมณะซึ่งมีโยชูวาเป็นผู้แทนนั้น จะได้รับเกียรติสูงส่ง (3:1-7) แต่อำนาจปกครองสูงสุดจะตกอยู่กับ “หน่อ” (3:8) ซึ่งเป็นนามตำแหน่งของพระเมสสิยาห์ ที่ 6:12 ใช้กับเศรุบบาเบล “ผู้รับเจิม” ทั้งสองคนนี้ (4:14) จะปกครองประชากรโดยประสานงานกันอย่างสมบูรณ์ (6:13) ด้วยวิธีนี้เศคาริยาห์จึงรื้อฟื้นความคิดเรื่องพระเมสสิยาห์-กษัตริย์ซึ่งเคยมีในอดีตขึ้นใหม่ แต่นำความคิดนี้มารวมเข้ากับความสนใจต่อตำแหน่งสมณะอย่างที่ปรากฏในคำสอนของประกาศกเอเสเคียล ซึ่งเราจะสังเกตเห็นอิทธิพลของประกาศกท่านนี้ได้ในอีกหลายวิธี เช่นความสำคัญพิเศษของ “นิมิต” ต่างๆ แนวความคิดเรื่อง “วิวรณ์” (apocalyptic) ถึงยุคสุดท้าย การให้ความสำคัญแก่เรื่อง “ความไม่มีมลทิน” เรื่องต่างๆ เหล่านี้ รวมทั้งเรื่องการที่ทูตสวรรค์เข้ามาเกี่ยวข้อง นับได้ว่าเป็นการเกริ่นล่วงหน้าถึงหนังสือดาเนียล

              ภาคที่สองของหนังสือในบทที่ 9-14 ซึ่งก็มีหัวเรื่องใหม่นำอยู่แล้วด้วยนั้น (9:1) มีความแตกต่างกับภาคแรกอย่างชัดเจน เนื้อหาส่วนต่างๆ ในภาคหลังนี้ไม่มีวันเดือนปีหรือนามใดบอกไว้ เราไม่ได้ยินการกล่าวถึงเศคาริยาห์  โยชูวา เศรุบบาเบล หรือกล่าวถึงการสร้างพระวิหารอีก ลีลาการเขียนก็แตกต่างออกไป และบ่อยๆ จะมีการยกข้อความมาจากหนังสืออื่นๆ ก่อนหน้านั้น โดยเฉพาะหนังสือเยเรมีย์และเอเสเคียล ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของภาคหลังนี้ก็ยังแตกต่างไปด้วย มีชื่ออัสซีเรียและอียิปต์ปรากฏมาในฐานะสัญลักษณ์ของผู้กดขี่

               เราเชื่อเกือบแน่ว่าข้อความในบทสุดท้าย (บทที่ 9-14) นี้เขียนขึ้นในทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษที่ 4 ก่อน ค.ศ. หลังจากที่กษัตริย์อเล็กซานเดอร์มหาราชทรงยึดครองดินแดนทางตะวันออกกลางได้แล้ว แม้ว่าในระยะหลังนี้มีผู้พยายามพิสูจน์ว่าบทที่ 9-14 นี้มีลักษณะเดียวกันโดยตลอด แต่ในปัจจุบันเราต้องยอมรับว่ามิได้เป็นเช่นนั้น เราอาจแยกบทที่ 9-14 นี้ออกได้เป็น 2 ตอน ซึ่งแต่ละตอนก็มีหัวเรื่องของตน คือ บทที่ 9-11 และบทที่ 12-14 ตอนแรกเขียนเป็นคำประพันธ์เกือบทั้งหมด ส่วนตอนที่สองเขียนเป็นร้อยแก้วเกือบทั้งหมดเช่นเดียวกัน มีผู้เสนอให้เรียกข้อความสองตอนนี้ว่า “เศคาริยาห์ที่สอง” (Deutero-Zechariah) และ “เศคาริยาห์ที่สาม” (Trito-Zechariah) แต่ในความเป็นจริง เนื้อหาในสองตอนนี้ก็มีความหลากหลายในตัวเองอยู่แล้ว

              เนื้อหาตอนแรกอาจใช้คำประพันธ์โบราณบางชิ้นจากสมัยก่อนการเนรเทศและกล่าวพาดพิงถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ซึ่งยากที่จะบอกได้ว่าเป็นเหตุการณ์ใด (การที่บางคนเข้าใจว่าข้อความใน 9:1-8 กล่าวพาดพิงถึงชัยชนะของกษัตริย์อเล็กซานเดอร์มหาราชเป็นความเห็นน่าเชื่อได้มากที่สุด) ส่วนเนื้อหาตอนที่สองในบทที่ 12-14 นั้นใช้ถ้อยคำจากวรรณกรรมแบบวิวรณ์ (apocalyptic) บรรยายถึงภัยพิบัติซึ่งเป็นการทดสอบอย่างร้ายแรงและบรรยายถึงชัยชนะของ กรุงเยรูซาเล็มในยุคสุดท้าย แต่เรายังพบการกล่าวถึงยุคสุดท้ายในตอนแรกด้วยเหมือนกัน และยังพบความคิดหลักบางประการในข้อความทั้งสองตอนอีกด้วย เช่นความคิดเรื่อง “ผู้เลี้ยงแกะ” (shepherds) ของประชากร ใน 10:2-3; 11:4-14; 13:7-9

             ภาคที่สองของหนังสือนี้ (บทที่ 9-14) น่าสนใจเป็นพิเศษในเรื่องคำสอนเกี่ยวกับพระเมสสิยาห์ ถึงกระนั้นเรื่องนี้ก็ไม่ได้รับการกล่าวไว้อย่างเป็นระบบ มีการกล่าวถึงการรื้อฟื้นของราชวงศ์กษัตริย์ดาวิดกระจัดกระจายอยู่ในบทที่ 12 มีการกล่าวถึง “พระเมสสิยาห์-กษัตริย์” ผู้ต่ำต้อยและใฝ่สันติใน 9:9-10 แต่ก็ยังมีคำพยากรณ์ที่คลุมเครือถึงใครคนหนึ่งซึ่ง “ถูกแทง” ใน 12:10 และเรื่องการที่พระเจ้าทรงใช้กำลังทัพมา ปกครองใน 10:3-11:3 ซึ่งก็เป็นชุมชนที่เคารพนับถือพระเจ้าเช่นเดียวกับในประกาศกเอเสเคียล ลักษณะองค์ประกอบเหล่านี้เข้ากันได้ดีกับพระบุคคลของพระ คริสตเจ้า และพันธสัญญาใหม่มักจะอ้างข้อความในบทสุดท้ายเหล่านี้ของหนังสือเศคาริยาห์ หรืออย่างน้อยกล่าวพาดพิงถึง เช่นใน มธ 21:4-5; 27:9 (กล่าวรวมข้อความของเศคาริยาห์กับข้อความของเยเรมีย์) มธ 26:31= มก 14:27; ยน 19:37

25. ประกาศกมาลาคี

25. ประกาศกมาลาคี

                 หนังสือฉบับนี้น่าจะเป็นผลงานของประกาศก “นิรนาม” เพราะคำว่า “มาลาคี” มีความหมายว่า “ผู้ส่งข่าวของฉัน” (“ของเรา” ถ้าพระเจ้าตรัส) และดูเหมือนจะถูกนำมาจาก มลค 3:1 หนังสือฉบับนี้ประกอบด้วยข้อความที่มีโครงสร้างเหมือนกัน 6 ตอน คือ พระยาห์เวห์ หรือประกาศกของพระองค์ กล่าวข้อความข้อหนึ่ง แล้วบรรดาสมณะหรือประชาชนก็ถกเถียงเกี่ยวกับข้อความนี้ ซึ่งก็พัฒนาขึ้นเป็นคำปราศรัยที่มีคำคาดโทษและคำสัญญาถึงความรอดพ้นอยู่เคียงคู่กัน หนังสือฉบับนี้มีความคิดหลักอยู่สองประการ ประการแรกคือความบกพร่องของบรรดาสมณะ (1:6-2:9) และของประชาชน (3:6-12) ในการปฏิบัติศาสนกิจ รวมทั้งความผิดเรื่องการแต่งงานกับคนต่างชาติและการหย่าร้าง (2:10-16) ความคิดหลักประการที่สองคือการที่ประกาศกกล่าวพยากรณ์ถึง “วันของพระยาห์เวห์” ซึ่งจะมาชำระบรรดาสมณะ เผาผลาญคนอธรรม และนำชัยชนะรุ่งเรืองมาให้ผู้ชอบธรรม (3:1-5, 13-21 ข้อ 22-23 ของบทที่ 3 เป็นข้อความที่เพิ่มเติมเข้ามาในภายหลัง ซึ่งอาจรวมไปถึง มลค 2:11ข-13ก ด้วย)

                เนื้อหาของหนังสือฉบับนี้ทำให้เรากำหนดได้ว่าเขียนขึ้นเมื่อใด คือต้องเขียนขึ้นภายหลังการฟื้นฟู คารวกิจในพระวิหารที่สร้างขึ้นใหม่เสร็จในปี 516 ก่อน ค.ศ. และเขียนขึ้นก่อนที่จะมีการห้ามแต่งงานกับคนต่างชาติในสมัยของเนหะมีย์ ปี 445 ก่อน ค.ศ. น่าจะเป็นเวลาใกล้เคียงกับเหตุการณ์หลังนี้มากกว่า ความกระตือรือร้นของประชากรที่ประกาศกฮักกัยและเศคาริยาห์เคยปลุกขึ้นนั้นได้เย็นเฉยลงแล้ว และชุมชนชาวยิวปล่อยตัวตามสบาย ท่านประกาศกได้รับพลังบันดาลใจจากหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติและจากประกาศกเอเสเคียล กำลังรอคอยให้ “ทูตสวรรค์แห่งพันธสัญญา” (Angel of the Covenant) มาถึงโดยมี “ผู้นำข่าว” ลึกลับคนหนึ่งล่วงหน้ามาก่อน (3:1) มก 1:2 (เทียบ มธ 11:10; ลก 7:27) เห็นว่า “ผู้นำข่าว” ลึกลับคนนี้ก็คือท่านยอห์นผู้ทำพิธีล้าง ซึ่งนำหน้าพระคริสตเจ้า ในสมัยของพระเมสสิยาห์นี้ ระเบียบทางศีลธรรมจะได้รับการรื้อฟื้น (3:5) รวมทั้งการนับถือศาสนาจากใจจริงด้วย (3:4) การที่นานาชาติจะถวายบูชาอย่างสมบูรณ์จะเป็นความบริบูรณ์สูงสุดของการนับถือศาสนาจากใจจริงที่กล่าวนี้ (1:11)

26. ประกาศกโอบาดีย์

26. ประกาศกโอบาดีย์

               หนังสือประกาศกซึ่งสั้นที่สุด (มีเพียง 21 ข้อ) ฉบับนี้มีปัญหาอยู่มากมาย บรรดานักวิชาการถกเถียงกันว่าหนังสือฉบับนี้มีเอกภาพหรือไม่ มีลักษณะทางวรรณกรรมแบบใด เขียนขึ้นเมื่อไร (บางคนคิดว่าเขียนขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 ก่อน ค.ศ. ส่วนอีกบางคนคิดว่าเขียนขึ้นในสมัยชาวกรีกปกครอง) ปัญหายิ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเกือบครึ่งหนึ่งของหนังสือ (คือ ข้อ 2-10) ซ้ำกับข้อความใน ยรม 49:7-22 แต่เรียงลำดับไม่เหมือนกัน และเป็นเหมือนกับข้อความเพิ่มเติมของคำกล่าวของประกาศก ซึ่งก็ยังถกเถียงกันว่าเป็นของประกาศกเยเรมีย์หรือเปล่าด้วย คำประกาศพระวาจาของโอบาดีย์มีความคิดหลักอยู่ 2 ข้อ คือการกล่าวล่วงหน้าถึงการลงโทษชาวเอโดมเป็นข้อความสั้นๆ หลายข้อ (ข้อ 1ก-14 และมีข้อ 15ข เป็นข้อสรุป) ความคิดหลักอีกข้อหนึ่งคือเรื่อง “วันของพระยาห์เวห์” เมื่ออิสราเอลจะแก้แค้นเอโดมได้ (ข้อ 15ก,16-18 ซึ่งมีข้อความสรุปว่า “เพราะพระยาห์เวห์ตรัส”) คำสัญญาเกี่ยวกับอันตวิทยาในข้อ 19-21 เป็นข้อความที่เพิ่มเติมเข้ามาภายหลัง หนังสือฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระแสการต่อต้านชาวเอโดมภายหลังเหตุการณ์ในปี 587 ก่อน ค.ศ. (เทียบ สดด 137:7; ยรม 49:7ฯ ดังที่กล่าวแล้ว พคค 4:21-22; อสค 25:12ฯ; 35:1ฯ; มลค 1:2ฯ) ชาวเอโดมได้ฉวยโอกาสที่กรุงเยรูซาเล็มถูกทำลายเข้ามาบุกรุกดินแดนทางภาคใต้ของแคว้นยูเดีย ชาวยิวยังคงจำเหตุการณ์เหล่านี้ได้ดี และคำประกาศพระวาจาของโอบาดีย์ดูเหมือนจะประพันธ์ขึ้นในแคว้นยูดาห์ ก่อนที่ชาวยิวจะกลับมาจากการถูกเนรเทศไปที่กรุงบาบิโลนเสียด้วย ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะกล่าวว่าข้อความเกี่ยวกับ “วันของพระยาห์เวห์” ต้องเขียนขึ้นในภายหลังหรือโดยผู้ประพันธ์คนอื่น (ไม่ใช่ประกาศกโอบาดีย์) ดูเหมือนว่ามีแต่ข้อความตอนสุดท้ายเท่านั้น (ข้อ 19-21) เป็นข้อความที่ถูกเพิ่มเข้ามาในสมัยหลังการเนรเทศ

              การปลุกเร้าใจชนทั้งชาติเรียกร้องให้แก้แค้นศัตรูเช่นนี้ ขัดแย้งโดยตรงกับคำสอนในพระคัมภีร์ เช่นในภาคที่สองของหนังสือประกาศกอิสยาห์ที่สอนว่าพระยาห์เวห์ทรงเป็นพระผู้สร้างและพระผู้กอบกู้ชนทุกชาติ แต่ข้อความเช่นนี้ก็ยังยกย่องพระยุติธรรมและพระอานุภาพน่าเกรงขามของพระยาห์เวห์ผู้ทรงปกป้องความถูกต้องอีกด้วย และเราต้องไม่แยกความคิดเช่นนี้ออกมาต่างหากจากคำสอนต่างๆ ของขบวนการประกาศกโดยรวม เพราะความคิดเช่นนี้สะท้อนเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ในขบวนการนี้เท่านั้น

27. ประกาศกโยเอล

27. ประกาศกโยเอล

               หนังสือประกาศกโยเอลแบ่งได้เป็น 2 ภาค ภาคแรกกล่าวถึงการที่ฝูงตั๊กแตนมาทำลายแคว้นยูดาห์ หายนะประการนี้เรียกร้องให้มีพิธีทางศาสนาแสดงความทุกข์ใจเพื่ออธิษฐานภาวนาอ้อนวอนพระเจ้า พระยาห์เวห์ทรงตอบในพิธีนี้โดยทรงสัญญาจะให้หายนะนี้สิ้นสุด กลับมีความอุดมสมบูรณ์ดังเดิม (1:2-2:27) ภาคที่สองใช้ภาษาแบบวิวรณ์บรรยายถึงการพิพากษานานาชาติและชัยชนะยิ่งใหญ่ในที่สุดของพระยาห์เวห์และของชาติอิสราเอล (บทที่ 3-4) เนื้อหาของทั้งสองภาคนี้มีความต่อเนื่องเป็นเอกภาพจากข้อความที่กล่าวถึง “วันของพระยาห์เวห์” ซึ่งเป็นความคิดหลักของบทที่ 3-4 แต่ก็มีกล่าวถึงแล้วใน 1:15; 2:1-2, 10-11 ตั๊กแตนเป็นกองทัพของพระยาห์เวห์ที่พระองค์ทรงส่งมาปฏิบัติตามพระวินิจฉัยของพระองค์ เป็น “วันของพระยาห์เวห์” ที่การกลับใจและคำอธิษฐานภาวนาคือวิธีการที่ทรงช่วยให้รอดพ้น ภัยพิบัติกลายเป็นภาพของการพิพากษายิ่งใหญ่ครั้งสุดท้าย เป็น “วันของพระยาห์เวห์” ที่นำหน้า “ยุคสุดท้าย” เข้ามา ไม่มีข้อมูลใดชวนให้คิดว่า หนังสือฉบับนี้เป็นผลงานของผู้แต่งสองคน หรือมาจากช่วงเวลาต่างกันสองช่วง นักวิชาการสมัยใหม่บางคนมีความเห็นว่าหนังสือฉบับนี้เขียนขึ้นในระยะสุดท้ายของสมัยที่อิสราเอลมีกษัตริย์ปกครอง แต่นักวิชาการส่วนใหญ่มีความเห็นว่าหนังสือฉบับนี้มาจากสมัยหลังการเนรเทศเพราะเหตุผลต่อไปนี้ คือไม่มีการกล่าวถึงกษัตริย์พระองค์ใดเลย มีการกล่าวพาดพิงถึงการเนรเทศ และยังกล่าวถึงพระวิหารว่าได้สร้างขึ้นใหม่แล้ว นอกจากนั้นยังมีสำนวนและลีลาคล้ายกับหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ และประกาศกในสมัยหลัง เช่นเอเสเคียล เศฟันยาห์ มาลาคี และโอบาดีย์ ซึ่งมีข้อความที่ถูกยกมาที่ 3:5 อีกด้วย หนังสือโยเอลนี้น่าจะเขียนขึ้นราวปี 400 ก่อน ค.ศ.

              ข้อความในหนังสือฉบับนี้เกี่ยวข้องกับศาสนพิธีของประชาชนอย่างชัดเจน ข้อความในบทที่ 1-2 มีลักษณะของพิธีกรรมชดเชยใช้โทษบาป จบลงด้วยคำสัญญาจากประกาศกว่าพระเจ้าทรงอภัยบาปให้แล้ว เพราะเหตุนี้ จึงมีผู้เสนอทฤษฎีว่าโยเอลเป็นประกาศกที่เกี่ยวข้องกับศาสนพิธี สังกัดอยู่กับหน้าที่ในพระวิหาร ถึงกระนั้น ลักษณะดังกล่าวอาจเป็นเพียงวิธีเขียนเลียนแบบภาษาของศาสนพิธีเท่านั้นก็ได้ หนังสือนี้ไม่ใช่การคัดลอกบทเทศน์ในพระวิหาร แต่เป็นข้อความที่เขียนขึ้นมาให้อ่านต่อหน้าประชาชน หนังสือฉบับนี้จึงหมายถึงการสิ้นสุดของขบวนการประกาศก

             การหลั่งจิตแห่งการประกาศพระวาจาลงเหนือประชากรทุกคนของพระเจ้าในยุคสุดท้าย (3:1-5) นับเป็นคำตอบต่อคำอธิษฐานของโมเสสใน กดว 11:29 พันธสัญญาใหม่คิดว่าคำพยากรณ์นี้สำเร็จเป็นจริงเมื่อพระจิตเจ้าเสด็จลงมาเหนือบรรดาอัครสาวกของพระคริสตเจ้า และนักบุญเปโตรจะยกข้อความตอนนี้ทั้งหมดใน กจ 2:16-21 โยเอลจึงเป็น “ประกาศกของวันเปนเตกอสเต” (เรื่องการประทานพระจิตเจ้า) เขายังเป็นประกาศกที่สอนเรื่องการเป็นทุกข์กลับใจ และคำสอนของเขาเรื่องการจำศีลอดอาหารและการอธิษฐานภาวนา ไม่ว่าเขาจะยืมเรื่องนี้มาจากพิธีกรรมในพระวิหาร หรือเพียงกล่าวลอกเลียนแบบ ในเวลาต่อมาจะพบว่าข้อความเหล่านี้เหมาะอย่างยิ่งที่จะอยู่ในพิธีกรรมเทศกาลมหาพรตของพระศาสนจักร

28. ประกาศกโยนาห์

28. ประกาศกโยนาห์

               หนังสือสั้นๆ ฉบับนี้มีลักษณะแตกต่างจากหนังสือประกาศกฉบับอื่นๆ ทุกฉบับ คือเป็นเรื่องเล่าทั้งหมด เล่าเรื่องประกาศกคนหนึ่งที่ไม่เชื่อฟัง และในตอนต้นพยายามหลบหนีไม่ยอมปฏิบัติตามพระบัญชาของพระเจ้า แต่ในที่สุดยังบ่นต่อพระเจ้าที่งานนี้ประสบผลสำเร็จขัดกับความคาดหวังของตน ตัวเอกของเรื่องผจญภัยน่าขบขันเรื่องนี้คือประกาศกที่มีชื่อกล่าวถึงใน 2 พกษ 14:25 และมีชีวิตอยู่ในรัชสมัยของกษัตริย์เยโรโบอัมที่ 2 ถึงกระนั้น หนังสือฉบับนี้มิได้อ้างว่าเป็นผลงานของเขาและไม่อาจเป็นเช่นนั้นได้ด้วย กรุงนีนะเวห์ “นครยิ่งใหญ่” ซึ่งถูกทำลายลงในปี 612 ก่อน ค.ศ. เป็นเพียงความทรงจำในอดีต ส่วนความคิดและข้อความต่างๆ ของหนังสือถูกยืมมาจากหนังสือของประกาศกเยเรมีย์และเอเสเคียล ภาษาที่ใช้ก็มาจากสมัยหลัง ข้อมูลต่างๆ ล้วนชวนให้คิดว่าหนังสือฉบับนี้เขียนขึ้นในสมัยหลังการเนรเทศ ภายในช่วงเวลาศตวรรษที่ 4 ก่อน ค.ศ. เพลงสดุดีใน 2:3-10 ซึ่งอยู่ในแบบวรรณกรรมอีกแบบหนึ่งและไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยทั้งกับการอ้อนวอนของโยนาห์หรือกับคำสอนของหนังสือ เป็นส่วนที่ถูกเพิ่มเข้ามาในภายหลัง

               การที่หนังสือฉบับนี้เขียนขึ้นในสมัยหลังก็เพียงพอแล้วที่จะเตือนว่า เราจะต้องไม่เข้าใจหนังสือฉบับนี้ว่าเป็นเรื่องจริงในประวัติศาสตร์ ยังมีเหตุผลอื่นสนับสนุนความคิดนี้อีกด้วย ในเอกสารของชาวอัสซีเรีย หรือในพระคัมภีร์ ไม่เคยมีหลักฐานใดๆ เลยว่ากษัตริย์แห่งกรุงนีนะเวห์ได้กลับใจพร้อมกับประชาชนของพระองค์มาเคารพนับถือพระเจ้าของอิสราเอล และแม้ว่าพระเจ้าทรงเป็นเจ้านายปกครองสิ่งสร้างทั้งหลายจริงๆ การอัศจรรย์ที่มีเล่าต่อมาก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่พระเจ้าทรงเล่นตลกกับประกาศก เช่นเรื่องการเกิดพายุโดยฉับพลัน เรื่องการที่สลากมาตกกับโยนาห์ เรื่องปลาใหญ่ที่กลืนเขา เรื่องต้นไม้ที่เติบโตขึ้นภายในคืนเดียวและเหี่ยวเฉาไปภายในชั่วโมงเดียว ในเมื่อเรื่องที่เล่าทั้งหมดเป็นการประชดประชันอย่างเห็นได้ชัด การเขียนแบบนี้จึงแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับวิธีเขียนประวัติศาสตร์

              หนังสือฉบับนี้เขียนขึ้นเป็นเรื่องตลกเพื่อสอนใจ เป็นนิยายเพื่อใช้สอน และคำสอนของหนังสือนับเป็นจุดยอดจุดหนึ่งของพันธสัญญาเดิม ไม่ยอมรับการอธิบายพระวาจาของพระเจ้าอย่างเคร่งครัด แต่สอนว่าแม้คำคาดโทษอย่างรุนแรงที่สุดก็ยังเป็นเครื่องหมายแสดงพระเมตตากรุณาของพระเจ้า พระองค์ประทานอภัยทันทีที่คนบาปแสดงเครื่องหมายว่าได้เป็นทุกข์กลับใจแล้ว ถ้าคำประกาศพระวาจาของโยนาห์ไม่เป็นความจริง ก็เป็นเพราะว่าพระประสงค์ของพระเจ้าที่จะทรงทำลายนั้นมีเงื่อนไขเสมอ สิ่งที่พระเจ้าทรงประสงค์คือการเป็นทุกข์กลับใจ ถ้าการเป็นทุกข์กลับใจนี้เกิดขึ้น ภารกิจของประกาศกก็ประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ (เทียบ ยรม 18:7-8)

             หลังกลับมาจากการเนรเทศที่กรุงบาบิโลนแล้ว ชุมชนชาวยิวมีแนวโน้มจะแยกตนจากชนต่างชาติ หนังสือโยนาห์ไม่ยอมรับความคิดชาตินิยมแคบๆ นี้และประกาศได้อย่างน่าพิศวงว่าพระเจ้าทรงพระกรุณาต่อชนทุกชาติ ลักษณะของทุกคนที่เกี่ยวข้องในเรื่องมีความเป็นไปได้ทั้งสิ้น กะลาสีต่างชาติ กษัตริย์ ประชาชน แม้กระทั่งสัตว์เลี้ยงของกรุงนีนะเวห์ ทุกคนยกเว้นชาวอิสราเอลเพียงคนเดียวในเรื่อง ซึ่งยังเป็นประกาศกอีกด้วย พระเจ้าไม่พอพระทัยต่อประกาศกดื้อด้านไม่ยอมเชื่อฟังผู้นี้ แต่สิ่งที่น่าสังเกตกว่านี้คือพระกรุณาของพระองค์แผ่ไปถึงศัตรูที่ชาวอิสราเอลรังเกียจมากที่สุด

                เรากำลังจะก้าวข้ามมายังพันธสัญญาใหม่ พระเจ้าไม่ทรงเป็นพระเจ้าของชาวยิวเท่านั้น พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าของชนต่างชาติด้วย เพราะมีพระเจ้าเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น (รม 3:29-30) ใน มธ 12:41 และ ลก 11:29-32 พระเยซูเจ้าทรงกล่าวถึงการกลับใจของชาวนีนะเวห์เป็นตัวอย่างของการเป็นทุกข์กลับใจ และ มธ 12:40 เห็นการที่โยนาห์อยู่ในท้องปลาใหญ่เป็นการกล่าวล่วงหน้าถึงพระคริสตเจ้าทรงอยู่ในพระคูหาฝังพระศพ เราจะนำการอ้างถึงเรื่องโยนาห์เช่นนี้มาพิสูจน์ว่าเรื่องโยนาห์เกิดขึ้นจริงๆ ไม่ได้ พระเยซูเจ้าทรงใช้เรื่องในพันธสัญญาเดิมเช่นเดียวกับที่นักเทศน์ชาวคริสต์ใช้เรื่องอุปมาจากพันธสัญญาใหม่ในบทเทศน์ เจตนาในการใช้เช่นนี้เหมือนกัน คือเพื่อสอนโดยใช้ตัวอย่างที่ทุกคนรู้จักดีโดยไม่แสดงความเห็นว่าเรื่องที่เล่านั้นเกิดขึ้นจริงๆ หรือไม่