“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

คำแนะนำและข้อเสนอแนะเพื่อปลุกการมีส่วนร่วมมากขึ้นในพิธีกรรม

64.      หลังจากที่ได้พิจารณาถึงองค์ประกอบสำคัญของความสัมพันธ์ ระหว่างพิธีกรรมกับพระวาจาของพระเจ้าแล้ว บัดนี้ข้าพเจ้าใคร่จะกล่าวโดยสรุปและประเมินข้อเสนอและคำแนะนำที่บรรดาพระสังฆราชแห่งสมัชชาได้ให้ไว้ เพื่อช่วยให้ประชากรของพระเจ้ามีความคุ้นเคยมากขึ้นกับพระวาจาของพระเจ้าในบริบทการประกอบพิธีกรรมหรือกิจกรรมอื่นๆที่เกี่ยวข้องด้วย

ก) การเฉลิมฉลองพระวาจา

65.      บรรดาพระสังฆราชแห่งสมัชชาเตือนผู้อภิบาลทุกคน ได้ช่วยส่งเสริมให้มีเวลาเฉลิมฉลองพระวาจา[1]มากยิ่งขึ้นในชุมชนที่ตนต้องรับผิดชอบ กิจกรรมนี้เป็นโอกาสพิเศษเพื่อจะพบองค์พระผู้เป็นเจ้า กิจกรรมเช่นนี้จะต้องมีประโยชน์อย่างมากแก่บรรดาสัตบุรุษ และต้องนับว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการอภิบาลเกี่ยวกับพิธีกรรม การเฉลิมฉลองเช่นนี้มีความหมายอย่างยิ่งเพื่อเตรียมพิธีบูชาขอบพระคุณในวันอาทิตย์ เพื่อให้บรรดาผู้มีความเชื่อได้เข้าใจลึกซึ้งถึงขุมทรัพย์ในหนังสือบทอ่าน จะได้รำพึงและภาวนาพร้อมกับพระคัมภีร์ โดยเฉพาะในเทศกาลสำคัญทางพิธีกรรม คือเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้าและเทศกาลพระคริสตสมภพ เทศกาลมหาพรตและเทศกาลปัสกา น่าส่งเสริมให้มีการเฉลิมฉลองพระวาจาเช่นนี้ในชุมชนที่ไม่อาจมีพิธีถวายบูชาขอบพระคุณได้ในวันฉลองบังคับเพราะมีพระสงฆ์จำนวนน้อย เมื่อคำนึงถึงคำแนะนำที่เคยให้ไว้ในพระสมณลิขิตเตือนหลังสมัชชา Sacramentum caritatis เรื่องการเฉลิมฉลองวันอาทิตย์เมื่อไม่มีพระสงฆ์[2] ข้าพเจ้าได้บอกให้ผู้มีอำนาจเกี่ยวข้องได้ออกคำแนะนำเกี่ยวกับพิธีโดยคำนึงถึงประสบการณ์ของพระศาสนจักรท้องถิ่นแต่ละแห่ง วิธีและสถานการณ์เช่นนี้จะต้องส่งเสริมให้มีการเฉลิมฉลองพระวาจา ซึ่งจะช่วยหล่อเลี้ยงความเชื่อของบรรดาสัตบุรุษ กระนั้นก็ดี จะต้องระวังอย่าให้เกิดความสับสนคิดว่าการเฉลิมฉลองพระวาจาเช่นนี้เป็นพิธีบูชาขอบพระคุณ "ตรงกันข้าม โอกาสเช่นนี้ต้องเป็นโอกาสพิเศษที่จะวอนขอพระเจ้าให้ทรงส่งพระสงฆ์ผู้ศักดิ์สิทธิ์ตามพระทัยของพระองค์มาให้"[3]

บรรดาพระสังฆราชแห่งสมัชชายังเตือนให้มีการเฉลิมฉลองพระวาจาของพระเจ้าด้วยในโอกาสการแสวงบุญ ในโอกาสฉลองพิเศษ ในการเทศน์มิสซัง ในการฟื้นฟูจิตใจ และในวันเป็นทุกข์ถึงบาป ชดเชยบาปหรืออภัยบาป ส่วนในกิจศรัทธาต่างๆแบบชาวบ้าน ถึงแม้จะไม่ใช่กิจการทางพิธีกรรมและต้องไม่นำไปปนกับพิธีกรรม ถึงกระนั้นก็ยังเป็นการดีที่กิจศรัทธาเหล่านี้จะได้รับพลังบันดาลใจ และโดยเฉพาะที่จะอุทิศช่วงเวลาหนึ่งเพื่อประกาศและฟังพระวาจา จริงแล้ว "จากถ้อยคำของพระคัมภีร์ กิจศรัทธาแบบชาวบ้านอาจพบบ่อเกิดที่ไม่มีวันเหือดแห้งของแรงบันดาลใจ รูปแบบที่โดดเด่นในการภาวนา และข้อคิดที่บังเกิดผลอุดมสมบูรณ์ได้ด้วย"[4]

ข) พระวาจาและความเงียบ

66.      พระสังฆราชหลายท่านในที่ประชุมสมัชชาได้กล่าวย้ำถึงความสำคัญของความเงียบ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระวาจาของพระเจ้าและการรับพระวาจาในชีวิตของผู้มีความเชื่อ[5] จริงแล้วคำพูดกล่าวออกมาและฟังได้เมื่อมีความเงียบทั้งภายนอกและภายใน สมัยของเราไม่เอื้ออำนวยให้มีการคิดรำพึง และบางครั้งดูเหมือนจะมีความกลัวที่จะปลีกตนออกมาให้พ้นจากสื่อสาธารณะ แม้ในช่วงเวลาสั้นๆด้วย เพราะเหตุนี้จึงจำเป็นที่ทุกวันนี้ประชากรของพระเจ้าต้องได้รับการอบรมให้รู้จักคุณค่าของความเงียบ การค้นพบว่าพระวาจาของพระเจ้าเป็นจุดศูนย์กลางของชีวิตพระศาสนจักรยังหมายความอีกด้วย ถึงการค้นพบความหมายของการรำพึงภาวนาและความเงียบทางจิตใจอีกครั้งหนึ่ง ธรรมประเพณียาวนานของบรรดาปิตาจารย์สอนเราว่าพระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้ามีความหมายรวมถึงความเงียบด้วย[6] เราจะพบว่าพระวาจาของพระเจ้าประทับอยู่กับเราได้ก็เมื่อเราอยู่ในความเงียบเท่านั้น เช่นเดียวกับที่พระแม่มารีย์ซึ่งเป็นสตรีที่ฟังพระวาจาและรู้จักเงียบ (หรือตามตัวอักษร "สตรีแห่งพระวาจาและสตรีแห่งความเงียบ") พิธีกรรมของเราจึงต้องช่วยให้มีท่าทีเช่นนี้เพื่อจะฟังพระวาจาได้อย่างแท้จริงด้วย (ตามวาทะของนักบุญออกัสตินที่ว่า) Verbo crescente, verba deficient (= ยิ่งพระวาจาเพิ่มขึ้น คำพูด[ของเรา]ยิ่งน้อยลง)[7]

คุณค่านี้ควรปรากฏชัดให้มากที่สุดในวจนพิธีกรรมซึ่ง "ต้องมีขึ้นเพื่อส่งเสริมการรำพึงภาวนา"[8] ความเงียบที่กำหนดไว้นี้ต้องนับว่าเป็น "ส่วนหนึ่งของการประกอบพิธี" ด้วย[9] ข้าพเจ้าจึงขอเตือนบรรดาผู้อภิบาลได้ส่งเสริมให้มีช่วงเวลาเงียบ ที่ทำให้พระวาจาของพระเจ้าซึมซาบเข้าไปในใจโดยมีพระจิตเจ้าทรงช่วยเหลือ

ค) การประกาศพระวาจาของพระเจ้าอย่างสง่า

67.      สมัชชายังเสนอคำแนะนำอีกข้อหนึ่งคือ ให้พระวาจาของพระเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระวรสาร ได้รับการประกาศอย่างสง่า โดยเฉพาะในการประกอบพิธีกรรมที่สำคัญ ด้วยการใช้ "หนังสือพระวรสาร" อย่างที่ว่าในภาคเริ่มพิธี สังฆานุกรหรือพระสงฆ์จะถือหนังสือพระวรสารนี้เดินแห่นำขบวนเข้ามาวางไว้บนบรรณฐาน โดยพิธีนี้ประชากรของพระเจ้าย่อมรับความช่วยเหลือให้เข้าใจว่า "การอ่านพระวรสารเป็นจุดยอดของวจนพิธีกรรม"[10] จากข้อกำหนดที่เขียนไว้ใน Ordo lectionum Missae (=หนังสือบทอ่านในมิสซา) เป็นการดีที่จะมีการประกาศพระวาจาของพระเจ้า โดยเฉพาะพระวรสาร ด้วยการขับร้องเป็นทำนอง โดยเฉพาะในโอกาสสมโภชบางครั้ง ส่วนที่ควรประกาศโดยขับร้องเป็นทำนองคือ "คำทักทายเบื้องต้น" (พระเจ้าสถิตกับท่าน) ข้อความพระวรสารเอง และวลีลงท้าย "(นี่คือ)พระวาจาของพระเจ้า" (Verbum Domini) ทั้งนี้เพื่อเน้นข้อความที่อ่านนั้นให้ปรากฏเด่นเป็นพิเศษ[11]

ง) พระวาจาของพระเจ้าในวิหารของคริสตชน

68.      เพื่อช่วยส่งเสริมการฟังพระวาจาของพระเจ้า เราต้องเอาใจใส่ใช้อุปกรณ์ต่างๆที่อาจช่วยสัตบุรุษให้มีความตั้งใจฟังมากขึ้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องไม่ลืมคิดถึงระบบการฟังของตัวอาคาร โดยปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ทางพิธีกรรมและสถาปัตยกรรม "บรรดาพระสังฆราชควรได้รับความช่วยเหลือเพื่อดูแล ให้โบสถ์ถูกสร้างขึ้นเป็นสถานที่เหมาะสมสำหรับการประกาศพระวาจา การรำพึงภาวนา การประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณ. พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ แม้เมื่อไม่มีการประกอบพิธีกรรม ต้องแสดงให้เข้าใจถึงพระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้าซึ่งเกี่ยวข้องกับพระวาจาของพระเจ้าได้"[12]

บรรณฐาน (Ambo) ต้องได้รับความเอาใจใส่เป็นพิเศษ ในฐานะสถานที่ทางพิธีกรรมเพื่อประกาศพระวาจาของพระเจ้า บรรณฐานต้องตั้งอยู่ในที่ที่แลเห็นได้ชัดเจนและดึงดูดความสนใจของสัตบุรุษได้เองเมื่อมีวจนพิธีกรรม บรรณฐานต้องติดอยู่กับที่และได้รับการตกแต่งให้งดงามสอดคล้องเข้ากับพระแท่นบูชาเป็นโต๊ะคู่กัน คือโต๊ะพระวาจาและโต๊ะศีลมหาสนิท บรรณฐานสงวนไว้สำหรับอ่านบทอ่าน ขับร้องเพลงสดุดีและสร้อยตอบรับ และขับร้องการประกาศสมโภชปัสกา บรรณฐานยังอาจใช้เป็นที่เทศน์อธิบายพระคัมภีร์และอ่านเจตนาในบทภาวนาของมวลชนได้อีกด้วย[13] จนทำให้เห็นความหมายทางเทววิทยาได้ชัดเจนว่าบรรณฐานและพระแท่นบูชา

นอกจากนั้น บรรดาพระสังฆราชแห่งสมัชชายังเสนอให้ในแต่ละวัดมีที่ที่เด่นชัดไว้ประดิษฐานพระคัมภีร์แม้เมื่อไม่มีวจนพิธีกรรมด้วย[14] หนังสือที่บรรจุพระวาจาของพระเจ้าควรจะประดิษฐานอยู่ในที่ที่มองเห็นได้เด่นชัดภายในวัดคริสตศาสนา โดยไม่ละเลยสถานที่ประดิษฐานตู้ศีลที่เก็บศีลมหาสนิทซึ่งต้องมาเป็นที่หนึ่ง[15]

จ) ในพิธีกรรมต้องใช้ตัวบทพระคัมภีร์เท่านั้น

69.      สมัชชายังประกาศอย่างชัดเจนถึงเรื่องหนึ่ง ที่เคยกำหนดไว้แล้วในกฎระเบียบพิธีกรรม[16] คือต้องไม่เปลี่ยนบทอ่านจากพระคัมภีร์ไปใช้ข้อความอื่นที่ไม่ใช่พระคัมภีร์ ถึงแม้ว่าข้อความดังกล่าวจะมีความหมายมากกว่าด้านอภิบาลและชีวิตจิต "เพราะไม่มีตัวบทใดจากหนังสือเรื่องชีวิตจิตหรือจากวรรณคดีที่มีพลังหรือคุณค่าได้เท่ากับพระคัมภีร์ ซึ่งเป็นพระวาจาของพระเจ้า"[17] นี่คือระเบียบดั้งเดิมของพระศาสนจักรที่จะต้องรักษาไว้[18] เมื่อเกิดมีการปฏิบัติไม่ถูกต้องเกิดขึ้น สมเด็จพระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 ก็ทรงเคยตรัสย้ำเตือนถึงความสำคัญว่าจะต้องไม่นำบทอ่านอื่นมาใช้แทนพระคัมภีร์เลย[19] ยังต้องระลึกอีกด้วยว่าเพลงสดุดีและสร้อยตอบรับก็เป็นพระวาจาของพระเจ้า ซึ่งเราใช้เพื่อตอบพระสุรเสียงขององค์พระผู้เป็นเจ้า และเพราะเหตุนี้ต้องไม่นำตัวบทอื่นมาใช้แทน ยิ่งกว่านั้นยังเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะขับร้องข้อความตอบรับดังกล่าวนี้

ฉ) บทเพลงในพิธีกรรมที่ได้รับพลังบันดาลใจจากพระคัมภีร์

70.      เมื่อกล่าวถึงคุณค่าของพระวาจาของพระเจ้าในการประกอบพิธีกรรม เรายังควรเอาใจใส่เรื่องการใช้บทเพลงให้เหมาะกับเวลาที่กำหนดไว้สำหรับจารีตพิธีเฉพาะ โดยส่งเสริมบทเพลงที่ได้รับพลังบันดาลใจอย่างชัดเจนจากพระคัมภีร์ ความสอดคล้องของถ้อยคำและทำนองดนตรีช่วยให้บทเพลงเหล่านี้สะท้อนความงดงามของพระวาจาของพระเจ้าออกมาได้ ในบริบทนี้จึงควรให้ความสำคัญแก่บทเพลงที่ธรรมประเพณีของพระศาสนจักรส่งต่อมาให้เรา และยังรักษามาตรการนี้ไว้ด้วย ข้าพเจ้ากำลังคิดโดยเฉพาะถึงความสำคัญของบทเพลงเกรโกเรียน[20]

ช) ความสนใจเป็นพิเศษต่อผู้พิการทางการเห็นและการได้ยิน

71.      ที่นี่ข้าพเจ้ายังใคร่จะระลึกถึงข้อเสนอแนะ ที่สมัชชาขอให้เอาใจใส่ต่อผู้มีปัญหาที่จะเข้าร่วมพิธีกรรมได้อย่างแข็งขัน เช่นผู้มีความยากลำบากในการเห็นหรือการได้ยิน ข้าพเจ้าขอแนะนำให้ชุมชนคริสตชนใช้อุปกรณ์และวิธีการที่เหมาะสม ช่วยเหลือพี่น้องที่มีความยากลำบากนี้ เขาก็จะมีโอกาสสัมผัสกับพระวาจาขององค์พระผู้เป็นเจ้าได้อย่างมีชีวิตชีวา[21]



[1] Cfr Propositio 18; Conc.Oecum.Vat.II, Const. de Sacra Liturgia Sacrosanctum Concilium, 35.

[2] Cfr Benedictus XVI, Adhort.ap. postsynodalis Sacramentum caritatis (22 Februarii 2007), 75; AAS 99 (2007), 162-163.

[3] Ibid.

[4] Congregatio de Cultu Divino et Disciplina Sacramentorum, Directorio su pietà popolare e liturgia. Principi e orientamenti (17 Decembris 2001), 87: Ench.Vat. 20, n.2461.

[5] Cfr Propositio 14.

[6] Cfr S.Ignatius Antiochenus, Ad Ephesios,XV,2: Patres Apostolici, ed. F.X.Funk, Tubingae 1901, I,224.

[7] Cfr S.Augustinus, Sermo 288,5: PL 38,1307; Sermo 120,2; PL 38,677.

[8] Institutio Generalis Missalis Romani, 56.

[9] Ibid., 45; cfr Conc.Oecum.Vat.II, Const. de sacra Liturgia Sacrosanctum Concilium, 30.

[10] Ordo lectionum Missae, 13.

[11] Cfr ibid., 17.

[12] Propositio 40.

[13] Cfr Institutio Generalis Missalis Romani, 309.

[14] Cfr Propositio 14.

[15] Cfr Benedictus XVI, Adhort.ap. postsynodalis Sacramentum caritatis (22 Februarii 2007), 69: AAS 99 (2007), 157.

[16] Cfr Institutio Generalis Missalis Romani, 57.

[17] Propositio 14.

[18] Cfr canon 36 Synodi Hipponensis anni 393. DS 186.

[19] Cfr Ioannes Paulus II, Litt.ap. Vicesimus quintus annus (4 Decembris 1988),13:AAS 81 (1989), 910; Congregatio de Cultu Divino et Disciplina Sacramentorum, Redemptionis sacramentum. Instructio de quibusdam observandis et vitandis circa sanctissimam Eucharistiam (25 Martii 2004), 62; Ench.Vat. 22, n. 2248.

[20] Cfr Conc.Oecum.Vat.II, Const. de Sacra Liturgia Sacrosanctum Concilium, 116; Institutio Generalis Missalis Romani, 41.

[21] Cfr Propositio 14.

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก