“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

ธรรมประเพณีและพระคัมภีร์

17.      เมื่อยืนยันถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างพระจิตเจ้ากับพระวาจาของพระเจ้า เราได้วางหลักการเพื่อเข้าใจความหมาย และคุณค่าของธรรมประเพณีที่สืบทอดต่อมาจนถึงปัจจุบันในพระศาสนจักรเรื่องพระคัมภีร์ ทั้งนี้ก็เพราะ "พระเจ้าทรงรักโลกอย่างมาก จึงประทานพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระองค์" (ยน 3:16) พระวาจาที่พระเจ้าตรัสในกาลเวลาประทานพระองค์เองอย่างสมบูรณ์แก่พระศาสนจักร อย่างที่ว่าข่าวดีเรื่องความรอดพ้นจะได้รับการเผยแผ่ประกาศไปทุกเวลาทุกแห่งหนอย่างมีประสิทธิภาพ พระธรรมนูญ Dei Verbum บอกเราว่าพระเยซูคริสตเจ้า "ทรงบัญชาให้บรรดาอัครสาวกไปประกาศพระวรสารหรือข่าวดีที่ทรงสัญญาไว้โดยทางบรรดาประกาศก และพระองค์ทรงทำให้สำเร็จไป ทั้งยังทรงประกาศด้วยพระโอษฐ์เองด้วย บรรดาอัครสาวกจะต้องประกาศว่าข่าวดีนั้นเป็นแหล่งที่มาของความจริงทั้งปวงที่นำความรอดพ้นมาให้ และเป็นระเบียบศีลธรรมสำหรับมนุษย์ทุกคน  พร้อมกันนั้นท่านยังต้องนำพระพรของพระเจ้ามาแบ่งปันให้มวลมนุษย์ด้วย ภารกิจดังกล่าวก็สำเร็จไปอย่างซื่อสัตย์ ผู้ประกอบภารกิจดังกล่าวก็คือบรรดาอัครสาวกที่ประกาศสอนด้วยวาจา ให้แบบฉบับ และวางกฎเกณฑ์ ถ่ายทอดสิ่งที่ท่านได้รับมาจากพระวาจา จากการร่วมชีวิตอย่างใกล้ชิดกับพระคริสตเจ้า และจากกิจการที่ทรงกระทำ หรือจากที่ท่านได้เรียนรู้มาจากการดลใจของพระจิตเจ้าสืบต่อมา นอกจากนั้น บรรดาอัครสาวกและผู้อยู่ใกล้ชิดกับท่าน ซึ่งได้รับการดลใจจากพระจิตเจ้าองค์เดียวกัน ยังได้บันทึกสารเรื่องความรอดพ้นนี้ลงไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ทำให้ภารกิจการประกาศข่าวดีนี้สำเร็จไปด้วย"[1]

สภาสังคายนาวาติกันที่สองยังบอกด้วยว่า ธรรมประเพณีที่มาจากบรรดาอัครสาวกนี้ยังเป็นปัจจุบันและต้องปฏิบัติตาม "ธรรมประเพณีที่สืบจากอัครสาวกนี้ยังคงดำรงอยู่และพัฒนาต่อไปในพระศาสนจักรด้วยความช่วยเหลือของพระจิตเจ้า" ไม่ใช่เพราะเปลี่ยนแปลงในความจริงซึ่งคงอยู่ตลอดไป "แต่ความเข้าใจถึงเรื่องราวและถ้อยคำที่สอนต่อกันมานั้นเพิ่มพูนขึ้นทั้งด้วยการรำพึงพิจารณาและการศึกษา" ทั้งอาศัยความเข้าใจลึกซึ้งเกี่ยวกับความจริงทางจิตใจ "และด้วยการประกาศสอนของบรรดาผู้สืบตำแหน่งพระสังฆราชต่อกันมา โดยมีพรพิเศษที่จะประกันความจริงด้วย"[2]

ธรรมประเพณีที่สืบทอดต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้จำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อช่วยให้พระศาสนจักรค่อยๆเติบโตขึ้นพร้อมกับกาลเวลาเมื่อรับความจริงที่พระเจ้าทรงเปิดเผยในพระคัมภีร์ เพราะ "อาศัยธรรมประเพณีเดียวกันนี้ พระศาสนจักรจึงรู้สารบบทั้งหมดของพระคัมภีร์ เข้าใจพระคัมภีร์อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น และทำให้พระคัมภีร์บังเกิดผลจริงจังอยู่มิได้ขาด"[3] ยิ่งกว่านั้น ธรรมประเพณีที่สืบทอดต่อมาจนถึงปัจจุบันของพระศาสนจักรยังทำให้เราเข้าใจพระคัมภีร์ในฐานะที่เป็นพระวาจาของพระเจ้า แม้ว่าพระวาจาของพระเจ้ามาก่อนและอยู่เหนือพระคัมภีร์ ถึงกระนั้นพระคัมภีร์ซึ่งผู้เขียนได้รับการดลใจจากพระเจ้า ก็บรรจุพระวาจาของพระเจ้า (เทียบ 2 ทธ 3:16) "โดยวิธีพิเศษสุด"[4]

18.      จากที่กล่าวมานี้ เราจึงเห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชากรของพระเจ้าจะต้องได้รับการสั่งสอนและอบรมให้เข้าถึงพระคัมภีร์ ผ่านทางธรรมประเพณีที่สืบทอดต่อมาจนถึงปัจจุบันของพระศาสนจักร และรับรู้ว่าพระวาจาของพระเจ้าอยู่ในพระคัมภีร์ การช่วยให้ความเข้าใจของผู้มีความเชื่อเติบโตขึ้นในด้านนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งจากมุมมองด้านชีวิตจิต ตัวอย่างที่บรรดาปิตาจารย์ของพระศาสนจักรใช้เปรียบเทียบถึงพระวจนาตถ์ของพระเจ้าที่ทรง "รับธรรมชาติมนุษย์" กับพระวาจาซึ่งถูกบันทึกไว้เป็น "หนังสือ"[5] อาจช่วยเราได้ ธรรมนูญ Dei Verbum รับธรรมประเพณีโบราณนี้ที่สอน ตามคำยืนยันของนักบุญอัมโบรสว่า[6] "พระวาจาของพระเจ้าเมื่อแสดงออกเป็นภาษามนุษย์ก็เป็นเหมือนคำพูดของมนุษย์ ดังเช่นครั้งหนึ่งที่พระวจนาตถ์ของพระบิดานิรันดรทรงรับธรรมชาติของมนุษย์ที่อ่อนแอ ทรงเป็นเหมือนมนุษย์นั่นเอง"[7] ถ้าเข้าใจเช่นนี้ แม้พระคัมภีร์จะมีรูปแบบและความหมายหลากหลาย ก็ยังแสดงให้เราเห็นว่ามีเอกภาพเป็นหนึ่งเดียวเพราะ "พระเจ้าตรัสเพียงพระวาจาเดียว คือพระวจนาตถ์องค์เดียวที่ทรงใช้แสดงพระองค์ทั้งหมด (เทียบ ฮบ 1:1-3)"[8] ดังที่นักบุญออกัสตินได้เคยยืนยันไว้อย่างชัดเจนว่า "ท่านที่รักทั้งหลายรู้แล้วว่าพระวาจาที่พระเจ้าทรงเปิดเผยให้ทุกคนได้รู้ในพระคัมภีร์นั้นมีเพียงหนึ่งเดียว แต่พระวาจาหนึ่งเดียวนั้นก็เปล่งเสียงออกมาผ่านปากของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์หลายท่าน"[9]

ดังนี้ อาศัยผลงานของพระจิตเจ้าและอำนาจสอนของพระศาสนจักรคอยแนะนำ พระศาสนจักรก็ถ่ายทอดข้อความที่ได้รับการเปิดเผยในพระคริสตเจ้า พระศาสนจักรตระหนักอยู่เสมอว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าที่เคยตรัสในอดีต ยังคงสื่อพระวาจาของพระองค์ต่อไปโดยไม่หยุดยั้งในปัจจุบันในธรรมประเพณีที่สืบทอดต่อมาจนถึงปัจจุบันของพระศาสนจักร พระเจ้าทรงมอบพระวาจาของพระองค์แก่เราในพระคัมภีร์เป็นการยืนยันถึงการเปิดเผยความจริงที่ได้รับการดลใจ เป็นบรรทัดฐานสูงสุดของความเชื่อ   ร่วมกับธรรมประเพณีที่สืบทอดต่อมาถึงปัจจุบันของพระศาสนจักร[10]



[1] Conc. Oecum. Vat.II, Const.dogm. de divina Revelatione Dei Verbum, 7.

[2] Ibid. 8.

[3] Ibid.

[4] Cfr Propositio 3.

[5] Cfr Nuntius conclusivus, II,5.

[6] Expositio Evangelii secundum Lucam 6, 33: PL 15, 1677.

[7] Conc.Oecum.Vat.II, Const. dogm.de divina Revelatione Dei Verbum, 13.

[8] Catechismus Catholicae Ecclesiae 102. Cfr etiam Rupertus Tuitiensis, De operibus Spiritus Sancti, I,6: SC 131, 72-74.

[9] Enarrationes in Psalmos, 103,IV,1: PL 37, 1378. ความเห็นคล้ายกันนี้ยังพบได้อีกใน Origenes, In Iohannem V, 5-6: SC 120,p.380-384.

[10] Cfr Conc.Oecum.Vat.II, Const.dogm.de divina Revelatione Dei Verbum, 21.

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก